คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

การส่งเสริมการรับรู้และการผ่อนคลายของมารดาช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3653

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?มีการรายงานจากการศึกษาพบว่า การส่งเสริมการรับรู้ของมารดาถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สามารถช่วยเพิ่มการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมตั้งแต่ในระยะแรกและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่นเดียวกันกับการฝึกให้มารดาผ่อนคลายก็ช่วยในการส่งเสริมการให้นมแม่ตั้งแต่ในระยะแรก1 ซึ่งจากการศึกษานี้ แสดงถึง การรับรู้และสภาพจิตใจของมารดามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การดูแลมารดาของบุคลากรทางการแพทย์ต้องดูแลทั้งทางร่างกาย จิตใจ นอกจากนี้ยังอาจต้องรวมถึงครอบครัว และสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมด้วย โดยต้องมองภาพเป็นองค์รวม เพื่อให้การสนับสนุนและการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับมารดาสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพในการที่มารดาสามารถจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยความเต็มใจ สบายใจ เข้าใจ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างถูกต้องและถูกวิธีโดยไม่มีความวิตกกังวล

เอกสารอ้างอิง

  1. Fotiou C, Siahanidou T, Vlastarakos PV, Tavoulari EF, Chrousos G. The effect of body and mind stress-releasing techniques on the breastfeeding of full-term babies; a critical analysis of published interventional studies. J Matern Fetal Neonatal Med 2017:1-26.

การให้ยาต้านไวรัสเอดส์แก่ทารกที่กินนมแม่ช่วยลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก

IMG_3656

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี เมื่อฝากครรภ์มารดาจะได้รับการให้ยาต้านไวรัสซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก การดูแลระหว่างการคลอดได้แก่ การให้การผ่าตัดคลอดก็ช่วยลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้เช่นกัน สำหรับหลังคลอดในประเทศที่มีการให้การสนับสนุนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่เพียงพอ มักแนะนำให้มารดางดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ในประเทศที่ยังขาดสนับสนุนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่เพียงพอ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นทางเลือกหนึ่งของการให้อาหารสำหรับทารกแรกเกิด โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกต่ำกว่าการให้กินนมแม่ร่วมกับนมผงดัดแปลงสำหรับทารกหรืออาหารอื่น นอกจากนี้ การให้ยาต้านไวรัสแก่ทารกที่กินนมแม่จะช่วยลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้1 สำหรับในประเทศไทย ยังแนะนำให้มารดางดการให้นมแม่ในกรณีที่มารดามีการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเพียงพอทั้งปริมาณและระยะที่จำเป็น

เอกสารอ้างอิง

  1. Foissac F, Blume J, Treluyer JM, et al. Are Prophylactic and Therapeutic Target Concentrations Different?: the Case of Lopinavir-Ritonavir or Lamivudine Administered to Infants for Prevention of Mother-to-Child HIV-1 Transmission during Breastfeeding. Antimicrob Agents Chemother 2017;61.

การให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยกลุ่มการสื่อสารทางโทรศัพท์

IMG_9339

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ช่องทางการสื่อสารในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า โทรศัพท์เป็นช่องทางหนึ่งและดูเสมือนเป็นปัจจัยที่ห้าที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ไปเสียแล้ว ดังนั้น การใช้การสื่อสารเพื่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านการสื่อสารทางโทรศัพท์ถือเป็นช่องทางหนึ่งซึ่งหากจัดรูปแบบที่เหมาะสมกับจริตของกลุ่มมารดาแต่ละกลุ่ม ก็น่าจะได้รับผลที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารทางกลุ่มโทรศัพท์อาจทำได้ตั้งแต่ การส่งข้อความ และหากเป็นโทรศัพท์ที่รองรับสื่ออินเตอร์เน็ต การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้ผลดี มีรายงานการศึกษาการใช้กลุ่มการสื่อสารทางโทรศัพท์สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่า กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนด้วยการสื่อสารทางโทรศัพท์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนมากกว่ากลุ่มควบคุมถึง 5.6 เท่า1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสนใจกับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านการพัฒนาการสื่อสารในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับมารดาในแต่ละกลุ่มที่มีความชอบที่แตกต่างกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Flax VL, Ibrahim AU, Negerie M, Yakubu D, Leatherman S, Bentley ME. Group cell phones are feasible and acceptable for promoting optimal breastfeeding practices in a women’s microcredit program in Nigeria. Matern Child Nutr 2017;13.

ทารกที่น้ำหนักลดลงมากระหว่างการนอนโรงพยาบาลเพิ่มความเสี่ยงในการหยุดนมแม่

IMG_3655

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ปกติแล้ว ทารกหลังคลอดจะมีน้ำหนักลดลงทุกราย เนื่องจากขณะอยู่ในครรภ์และคลอดใหม่ ทารกจะแช่อยู่ในน้ำคร่ำ แต่เมื่อคลอดออกมาแล้ว น้ำจากผิวหนังจะระเหยออกไป ร่วมกับในช่องปอดจะมีอากาศเข้าไปแทนที่น้ำที่จะมีอยู่ในปอดทารกขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์ และเมื่อแรกคลอดออกมา ทารกต้องปรับตัวรับสารอาหารจากการกินนมแทนที่จะได้รับจากการแลกเปลี่ยนสารอาหารผ่านเลือดจากรกของทารกในครรภ์มารดา กระเพาะของทารกจะเล็ก และค่อย ๆ ขยายตัว ดังนั้น การกินนมในระยะแรกจึงกินนมในปริมาณที่เล็กน้อยที่เหมาะสมกับขนาดของกระเพาะทารก และสอดคล้องกับปริมาณน้ำนมของมารดาที่ผลิตในระยะแรก แต่หากระหว่างหลังคลอดขณะอยู่โรงพยาบาล ทารกมีแนวโน้มจะมีน้ำหนักลดลงมาก สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่บอกถึงความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้ มีการศึกษาพบว่า การเก็บข้อมูลน้ำหนักทารกที่ลดลงขณะอยู่ที่โรงพยาบาลหลังคลอดสามารถทำนายการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้1 เนื่องจากหากทารกน้ำหนักลดลงมากจะสร้างความวิตกกังวลให้กับมารดา และในทารกที่กินนมแม่ได้ไม่เพียงพอในระยะแรกจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตัวเหลืองเพิ่มขึ้น เมื่อมีน้ำหนักลดมากหรือมีภาวะตัวเหลืองสูงขึ้น ทารกอาจได้รับการให้ยาหรืออาหารอื่นเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวลดลง

เอกสารอ้างอิง

  1. Flaherman VJ, Schaefer EW, Kuzniewicz MK, Li S, Walsh E, Paul IM. Newborn Weight Loss During Birth Hospitalization and Breastfeeding Outcomes Through Age 1 Month. J Hum Lact 2017;33:225-30.

การให้ลูกกินนมแม่ กินจากเต้าโดยตรงน่าจะดีที่สุด

IMG_3494

??????????????? รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ปัจจุบัน ค่านิยมในการปั๊มนมแล้วป้อนให้กับทารกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกสังคมรวมทั้งในประเทศไทย แม้ว่าการที่ลูกยังคงได้กินนมแม่ยังคงได้รับประโยชน์ส่วนหนึ่ง แต่ในกระบวนการกินนมแม่จากเต้านมนั้นยังช่วยในการพัฒนาการของทารกในหลาย ๆ ด้าน เพราะระหว่างที่ทารกดูดนมแม่ หากมารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยในการพัฒนาความเชื่อมโยงของระบบประสาท การสบตากันระหว่างมารดาและทารก การหยอกล้อ พูดคุย กระตุ้นพัฒนาการของทารกในด้านภาษา ความอบอุ่นในอ้อมอกมารดาเพิ่มความมั่นคงในอารมณ์ และการที่ทารกสามารถควบคุมการกินนมได้ตามที่ต้องการนั้น สามารถป้องกันภาวะอ้วนที่พบเพิ่มขึ้นเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นได้ การปั๊มนมนั้น มารดามักต้องใช้ขวดนมในการป้อนทารก1 หากผู้ป้อนไม่ใช่มารดา ขาดการเอาใจใส่ ป้อนนมทุกครั้งที่ทารกร้อง ประโยชน์ที่ได้จากกระบวนการกินนมแม่จากเต้านมจะลดลง นอกจากนี้ การให้ทารกดูดนมจากเต้าจะทำให้น้ำนมเกลี้ยงเต้าได้ดีที่สุด ลดการเกิดการขังของน้ำนม เต้านมอักเสบ ที่จะลุกลามไปเป็นฝีที่เต้านมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Felice JP, Geraghty SR, Quaglieri CW, Yamada R, Wong AJ, Rasmussen KM. “Breastfeeding” but not at the breast: Mothers’ descriptions of providing pumped human milk to their infants via other containers and caregivers. Matern Child Nutr 2017.