การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 9

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

ในส่วนของค่าบริการที่เรียกเก็บได้ในอันดับที่สองและที่สาม ได้แก่ ค่าบริการจากการนวดเต้านมนั้น ให้บริการในกรณีมีเต้านมคัดตึง และค่าบริการจากการใช้เครื่องปั๊มนมนั้น ให้บริการในกรณีที่มารดาวางแผนจะเก็บน้ำนม มีเต้านมคัดตึง หรือมารดามีความวิตกกังวลเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ อาจแสดงถึงปัญหาที่นำผู้รับบริการมาปรึกษาที่คลินิกนมแม่ ซึ่งมักพบว่า ผู้รับบริการมาปรึกษาเรื่องการตึงคัดเต้านม ความวิตกกังวลเชื่อว่าตนเองมีน้ำนมน้อยหรือน้ำนมไม่เพียงพอ และในกรณีที่มารดาวางแผนจะกลับไปทำงาน ต้องเตรียมตัวบีบเก็บน้ำนมหรือปั๊มนม ซึ่งหลังจากการให้คำปรึกษา การสอนการบีบน้ำนมด้วยมือหรือการปั๊มนม การนวดเต้านมเพื่อลดอาการตึงคัด และการประเมินน้ำหนักทารกเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารก ส่วนใหญ่ยังมีความจำเป็นต้องมีการนัดติดตามเพื่อให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัญหาของมารดาที่มีได้รับการแก้ไข ทำให้ลักษณะของการดูแลรักษาผู้รับบริการที่คลินิกนมแม่จะเป็นทั้งการให้คำปรึกษาและติดตามสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะทำให้โอกาสที่จำนวนผู้รับบริการจะสะสมและเพิ่มขึ้นมีมาก  

สำหรับภาระงานที่คลินิกนมแม่จากการวิเคราะห์ข้อมูลต้องการบุคลากร 4-5 คน โดยความต้องการพยาบาล 2-3 คน และผู้ช่วยพยาบาล 2 คน ขณะที่ในปัจจุบันที่คลินิกนมแม่มีพยาบาล 1 คนและผู้ช่วยพยาบาล 2 คน เนื่องจากภาวะขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ ดังนั้น จะเห็นว่าในการบริหารจัดการงานที่ดำเนินอยู่จำเป็นต้องจัดสรรภาระงานบางอย่างที่สามารถมอบหมายให้ผู้ช่วยพยาบาลดำเนินการแทนเพื่อให้การทำงานสามารถดำเนินการต่อได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการเพิ่มจำนวนบุคลากรให้เหมาะสมกับภาระงานที่มีนั้นจำเป็น เพื่อรักษามาตรฐานในการทำงาน ลดและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้รับบริการ รวมทั้งรองรับการพัฒนาคุณภาพงานที่เพิ่มขึ้น5 และรักษาสวัสดิภาพของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในหน่วยงาน6 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ควรได้รับการพิจารณาในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของโรงพยาบาล