คลังเก็บหมวดหมู่: การแพทย์ทางเลือกในสูติศาสตร์

การแพทย์ทางเลือกในสูติศาสตร์

การกินมังสวิรัติช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมได้จริงหรือ

IMG_3175

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การดูแลสุขภาพในปัจจุบัน บางครั้งต้องเผชิญกับความเชื่อ ทั้งที่เป็นความเชื่อจากการแพทย์ดั้งเดิม ความเชื่อจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรือความเชื่อจากขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งมักจะขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน การจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ในบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นยาก และอาจมีความยากมากขึ้น หากบุคคลนั้นเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เช่นเดียวกันกับมีความเชื่อเกี่ยวกับการกินผักหรือการกินมังสวิรัติว่าจะส่งผลช่วยลดหรือป้องกันการเกิดมะเร็งได้ มีข้อมูลการศึกษาในอินเดียในสตรีที่กินมังสวิรัติมาตลอดชีวิตมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมไม่แตกต่างจากสตรีทั่วไป (Odds ratio 1.09 (95% CI 0.93-1.29))1 ดังนั้น การที่เราฟังข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับ จำเป็นต้องมีการกลั่นกรองหาข้อมูลความน่าเชื่อถือแล้ววิเคราะห์ก่อนตัดสินใจในข้อมูลเหล่านั้น นอกจากนี้ ความรู้ที่มีในปัจจุบัน อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากมีหลักฐานใหม่ ๆ เพิ่มเติมมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการหาความรู้เพิ่มเติมใหม่ที่ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะแพทย์ที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับการตัดสินใจของผู้ป่วยที่มารับคำปรึกษา

เอกสารอ้างอิง

  1. Gathani T, Barnes I, Ali R, et al. Lifelong vegetarianism and breast cancer risk: a large multicentre case control study in India. BMC Womens Health 2017;17:6.

 

การแพทย์ทางเลือกในสูติศาสตร์

 

 

การแพทย์ทางเลือกนั้น เป็นทางเลือกของทั้งแพทย์และผู้รับบริการที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบันเนื่องจากความหลากหลายในความต้องการของผู้รับบริการ ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้นและการค้นหาข้อมูลทำได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นจากอินเตอร์เน็ต แพทย์ในฐานะผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีความรอบรู้ในเรื่องทางเลือกของการรักษา การตรวจสอบข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ของการรักษาจึงต้องทำควบคู่กันไป เพื่อให้สามารถจะอธิบาย และแนะนำให้กับผู้รับบริการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม การแพทย์ทางเลือกในสูติศาสตร์ที่รวบรวมมาเพื่อให้ง่ายในการศึกษา จึงจัดกลุ่มตามระยะการตั้งครรภ์และการคลอดได้ดังนี้

 

ในระยะตั้งครรภ์

อาการคลื่นไส้อาเจียน

การฝังเข็ม(Acupuncture) การกระตุ้นที่จุดฝังเข็มจุดที่ P6 บริเวณข้อมือ โดยกำหนดตำแหน่งจากการกำมือให้แน่น จะเห็นเส้นเอ็นสองเส้นอย่างชัดเจนที่บริเวณข้อมือด้านหน้า คือ Palmaris longus และ Flexor carpi radialis โดยจุดที่ฝังเข็มจะอยู่เหนือรอยพับข้อมือ 3 ความกว้างของนิ้วมือ และลึก 1 เซนติเมตร ระหว่างเส้นเอ็นทั้งสอง1 มีการศึกษาพบว่า ช่วยลดอาการคลื่นไส้ แต่ไม่ลดอาการอาเจียน2,3

การกดจุด(Acupressure) การกดจุดต่าง ๆ อาศัยจุดตามแบบเดียวกับการฝังเข็ม เพียงแต่ไม่ใช้เข็ม แต่ใช้นิ้วมือเป็นเครื่องมือในการกดนวดแทน โดยมีเทคนิคการกดจุดหลายแบบ แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกับการฝังเข็ม ในการลดการคลื่นไส้อาเจียน ทำโดยการการกระตุ้นที่จุด P6 เช่นกัน อาจใช้นิ้วมือกดหรือแถบรัดข้อมือ(wrist band) มีผลการศึกษาว่า การกดจุดช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน4-7 โดยอาจใช้แถบรัดข้อมือ(wrist band)ข้างเดียวหรือสองข้างมีผลเท่าเทียมกันในการลดอาการคลื่นไส้อาเจียน6

การฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า (Electro acupuncture) เหมือนการฝังเข็มทุกประการ แต่การกระตุ้นเข็มจะใช้ไฟฟ้ากระตุ้น มีการศึกษาพบว่าช่วยทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนดีขึ้นเช่นกัน8 ข้อมูลการศึกษามีน้อย

ขิง(Zingiber officinale) มีการศึกษาพบว่า การรับประทานขิงสกัดทั้งรูปแบบชนิดยาน้ำเชื่อมและยาเม็ดแคปซูลช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน9,10 โดยผลการการรับประทานขิงไม่แตกต่างจากการให้การรักษาการคลื่นไส้อาเจียนด้วยวิตามินบี 611,12

อาการปวดหลัง

การฝังเข็ม(Acupuncture) การกระตุ้นที่จุดฝังเข็มเฉพาะจุดหรือตามจุดที่สัมพันธ์กับอาการปวดหลัง มีการศึกษาพบว่า การฝังเข็มช่วยลดอาการปวดหลังและทำให้อาการปวดหลังดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ13,14

การปรับเปลี่ยนทางอารมณ์

การนวด การนวดตามร่างกายชนิด full body massage ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลและปรับเปลี่ยนอารมณ์ให้ดีขึ้น15 แต่ข้อมูลการศึกษามีน้อย

การลดการบวมของเท้า

การใช้เทคนิค Foot reflexology ในการลดการบวมของเท้า ไม่พบว่าช่วยลดการบวมของเท้า แต่ช่วยลดความเครียด ความรู้สึกไม่สบาย เหนื่อย ปวด และอาการวิตกกังวลได้16

การหมุนกลับทารกในครรภ์ที่มีส่วนนำเป็นก้น

การฝังเข็ม(Acupuncture) การฝังเข็มที่จุด BL67 มีการศึกษาพบว่ามีการหมุนกลับทารกในครรภ์ที่มีส่วนนำเป็นก้นเพิ่มมากขึ้นเมื่อครบกำหนด 38 สัปดาห์17 ข้อมูลการศึกษามีน้อย

การรมยา (Moxibustion) วิธีนี้ใช้สมุนไพรที่กำหนดไว้คือ Artemesia vulgaris มวนเป็นแท่งคล้ายบุหรี่แต่มีขนาดเล็กกว่าหรือรูปโคน วางไว้ตามจุดต่างๆ เช่นเดียวกับจุดของการฝังเข็ม โดยใช้ขิงหรือมันฝรั่งรองเป็นฐานแล้วจุดไฟที่ปลาย จนลามมาที่ผิวหนัง จะรู้สึกร้อนเป็นแนว จุดประสงค์เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตหรือพลังงานชีวิตที่เรียกว่า ?ฉิ (qi)? อาจใช้ร่วมกับการฝังเข็มเพื่อการรักษา มีการศึกษาพบว่าช่วยเพื่อการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์และพบการหมุนกลับทารกในครรภ์ที่มีส่วนนำเป็นก้นเพิ่มมากขึ้น18,19

การกระตุ้นการคลอดและการช่วยให้ปากมดลูกนุ่มขึ้น(Cervical ripening)

การฝังเข็ม(Acupuncture) การฝังเข็มที่จุด LI4 และ SP6 มีการศึกษาพบว่า จากการฝังเข็มในวันที่ครบกำหนดคลอดเพื่อกระตุ้นการคลอดจะทำให้เกิดการคลอดเร็วขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการฝังเข็ม 2 วัน20 ข้อมูลการศึกษามีน้อย

การป้องกันการฉีกขาดของ Perineum

การทำ Perineal massage ตั้งแต่ 34 สัปดาห์จนกระทั่งคลอด โดยใช้ sweet almond oilมีการศึกษาพบโอกาสสูงขึ้นที่ perineum จะสมบูรณ์ไม่ฉีกขาดขณะคลอดในครรภ์แรก21

 

ในระยะคลอด

อาการเจ็บครรภ์คลอด

การฝังเข็ม(Acupuncture) การฝังเข็มที่จุด LI4 และ BL67 มีการศึกษาพบว่า ช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการคลอดและลดระยะเวลาในการคลอดระยะที่หนึ่ง21 อีกการศึกษาหนึ่งฝังเข็มในตั้งแต่สองถึงสิบเจ็ดจุดที่ลดความเจ็บปวดพบว่า การฝังเข็มช่วยลดอาการเจ็บครรภ์คลอด การใช้ยาแก้ปวดชนิด narcotics และ epidural และมีการใช้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกลดลง22 จะเห็นว่าข้อมูลแนวทางการรักษายังไม่ชัดเจนและยังมีข้อมูลน้อย

การลดเวลาของการคลอดระยะที่สอง

Chanlibao เป็นสมุนไพรจีนรับประทานในช่วงท้ายของการคลอดระยะที่หนึ่ง ใช้สำหรับลดเวลาการคลอดระยะที่สอง โดยได้ผลคล้ายคลึงกับการให้ oxytocin23 แต่มีข้อมูลการศึกษาน้อย

การคลื่นไส้อาเจียนจากการผ่าตัดคลอด

การกดจุด(Acupressure) ใช้ในการลดการคลื่นไส้อาเจียน ทำโดยการใช้แถบรัดข้อมือ(wrist band)กระตุ้นที่จุด P6 เช่นกัน มีผลการศึกษาว่า การกดจุดช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในการผ่าตัดคลอดได้อย่างมีนัยสำคัญ24

การป้องกันการฉีกขาดของ perineum

การทำ perineal massage และการยืดขยาย perineum ในการคลอดระยะที่สองด้วยสารหล่อลื่นชนิดละลายน้ำ ไม่พบความแตกต่างของโอกาสที่ perineum จะสมบูรณ์ไม่ฉีกขาดขณะคลอด แต่พบว่าลดอุบัติการณ์ของการฉีกขาดของ perineum ในระดับ third degree25

 

ในระยะหลังคลอด

การลดอาการเต้านมคัด

กะหล่ำปลี ?มีการศึกษาครีมสกัดจากใบกะหล่ำปลีใช้ลดอาการเต้านมคัด ไม่พบว่าแตกต่างจากการใช้ยาหลอก26 สำหรับการใช้ใบกะหล่ำปลีแช่เย็นประคบมีแนวโน้มว่าช่วยลดอาการเต้านมคัดได้27

การใช้ถุงชาประคบร้อน ไม่พบความแตกต่างในการลดความเจ็บปวดจากอาการเต้านมคัดเมื่อเทียบกับการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเต้านมคัดกับมารดา28

การช่วยให้มดลูกเข้าอู่และกระตุ้นน้ำนมแม่

Xiong-gui-tiao-xue-yin (Kyuki-chouketsu-in) เป็นยาแผนโบราณที่สกัดจากสมุนไพรญี่ปุ่น 13 ชนิด พบว่าช่วยลดระดับของยอดมดลูกได้เร็วขึ้น29 และช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ในช่วงหลังคลอด30 แต่มีข้อมูลการศึกษาน้อย

 

สรุป

? ? ? ? ? การแพทย์ทางเลือกทางสูติศาสตร์ที่มีข้อมูลว่าน่าจะได้ประโยชน์ในระยะตั้งครรภ์และการคลอด ได้แก่ การกดจุดและการใช้ขิงลดอาการคลื่นไส้อาเจียน การฝังเข็มลดอาการปวดหลัง การรมยาเพื่อช่วยในการกลับทารกที่มีส่วนนำเป็นก้น การทำ perineal massage เพื่อลดการฉีกขาดของ perineum ส่วนการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ จำเป็นต้องรอข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์เพิ่มเติมเนื่องจากแม้จากการศึกษามีแนวโน้มที่ดีแต่ข้อมูลยังมีน้อย การอธิบายและการนำไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติในประเทศไทย ควรจะต้องมองเรื่องความเหมาะสมในวัฒนธรรม ความเชื่อ ความรู้ความเข้าใจและความต้องการของผู้รับบริการและครอบครัวร่วมกับความพร้อมของแพทย์ผู้ให้บริการและสถานพยาบาล ดังนั้นการแนะนำควรพิจารณาเฉพาะในผู้รับบริการที่มีความสนใจเท่านั้น

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Dundee JW, Ghaly RG, Fitzpatrick KT, Abram WP, Lynch GA. Acupuncture prophylaxis of cancer chemotherapy-induced sickness. J R Soc Med 1989;82:268-71.
  2. Knight B, Mudge C, Openshaw S, White A, Hart A. Effect of acupuncture on nausea of pregnancy: a randomized, controlled trial. Obstet Gynecol 2001;97:184-8.
  3. Smith C, Crowther C, Beiby J. Acupuncture to treat nausea and vomiting in early pregnancy: a randomized controlled trial. Birth 2002;29:1-9.
  4. Belluomini J, Litt RC, Lee KA, Katz M. Acupressure for nausea and vomiting of pregnancy: a randomized, blinded study. Obstet Gynecol 1994;84:245-8.
  5. O?Brien B, Relyea MJ, Taerum T. Efficacy of P6 acupressure in the treatment of nausea and vomiting during pregnancy. Am J Obstet Gynecol 1996;174:708-15.
  6. de Aloysio D, Penacchioni P. Morning sickness control in early pregnancy by Neiguan point acupressure. Obstet Gynecol 1992;80:852-4.
  7. Dundee JW, Sourial FB, Ghaly RJ,BellPF. P6 acupressure reduces morning sickness. J R Soc Med 1988;81(8):835-9.
  8. Rosen T, de Veciana M, Miller HS, Stewart L, Rebarber A, Slotnick RN. A randomized controlled trial of nerve stimulation for relief of nausea and vomiting in pregnancy. Obstet Gynecol 2003;102:129-35.
  9. Keating A, Chez RA. Ginger syrup as an antiemetic in early pregnancy. Altern Ther Health Med 2002;8:89-91.
  10. Vutyavanich T, Kraisarin T, Ruangsri R. Ginger for nausea and vomiting in pregnancy: randomized, double-masked, placebo-controlled trial. Obstet Gynecol 2001;97:577-82.
  11. Smith C, Crowther C, Willson K, Hotham N, McMillian V. A randomized controlled trial of ginger to treat nausea and vomiting in pregnancy. Obstet Gynecol 2004;103:639-45.
  12. Sripramote M, Lekhyananda N. A randomized comparison of ginger and vitamin B6 in the treatment of nausea and vomiting of pregnancy. J Med Assoc Thai 2003;86:846-53.
  13. Wedenberg K, Moen B, Norling A. A prospective randomized study comparing acupuncture with physiotherapy for low-back and pelvic pain in pregnancy. Acta Obstet Gynecol Scand 2000;79:331-5.
  14. Kvorning N, Holmberg C, Grennert L, Aberg A, Akeson J. Acupuncture relieves pelvic and low-back pain in late pregnancy. Acta Obstet Gynecol Scand 2004;83:246-50.
  15. Field T, Hernandez-Reif M, Hart S, Theakston H, Schanberg S, Kuhn C. Pregnancy benefit from massage therapy, J Psychosom Obstet Gynecol 1999;20:31-8.
  16. Mollart L. Single-blind trial addressing in the differential effects of two reflexology techniques versus rest, on ankle and foot oedema in late pregnancy. Complement Ther Nurs Midwifery 2003;9:203-8.
  17. Habek D, Cerkez Habek J, Jagust M. Acupuncture conversion of fetal breech presentation. Fetal Diagn Ther 2003;18:418-21.
  18. Cardini F, Weixin H. Moxibustion for correction of breech presentation: a randomized controlled trial. JAMA 1998;280:1580-4.
  19. Neri I, Airola G, Contu G, Allais G, Facchinetti F, Benedetto C. Acupuncture plus moxibustion to resolve breech presentation: a randomized controlled study. J Matern Fetal Neonatal Med 2004;15:247-52.
  20. Rabl M, Ahner R, Bitschnau M, Zeisler H, Husslein P. Acupuncture for cervical ripening and induction of labor at term-a randomized controlled trial. Wien Klin Wochenschr 2001;113:942-6.
  21. Beckmann MM, Garrett AJ. Antenatal perineal massage for reducing perineal trauma. Cochrane Database Syst Rev 2006;1:CD005123.
  22. Ramero A, Hanson U, Kihlgren M. Acupuncture treatment during labour-a randomized controlled trial. BJOG 2002;109:637-44.
  23. Qiu H, Zhu H, Ouyang W, Wang Z, Sun H. Clinical effects and mechanism of chanlibao in accelerating second stage of labor. J Tongji Med Univ 1999;19:141-4.
  24. Ho CM, Hseu SS,TsaiSK, Lee TY. Effect of P-6 acupressure on prevention of nausea and vomiting after epidural morphine for post-cesarean section pain relief. Acta Anaesthesiol Scand 1996;40:372-5.
  25. Stamp G, Kruzins G, Crowther C. Perineal massage in labour and prevention of perineal trauma: randomized controlled trial. BMJ 2001;322:1277-80.
  26. Roberts KL, Reiter M, Schuster D. Effects of cabbage leaf extract on breast engorgement. J Hum Lact 1998;14:231-6.
  27. Nikodem VC, Danziger D, Gebka N, Gulmezoglu AM, Hofmeyr GJ. Do cabbage leaves prevent breast engorgement? A randomized controlled study. Birth 1993;20:61-4.
  28. Buchko BL, Pugh LC, Bishop BA, Cochran JF, Smith LR, Lerew DJ. Comfort measures in breastfeeding, primiparous women. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 1994;23:46-52.
  29. Ushiroyama T, Sakuma K, Souen H, Nakai G, Morishima S, Yasuda K, et al. Therapeutic effects of Kyuki-chouketsu-in in restoring postpartum physical condition. Am J Chin Med 2003;31:437-44.
  30. Ushiroyama T, Sakuma K, Souen H, Nakai G, Morishima S, Yamashita Y, et al. Xiong-gui-tiao-xue-yin (Kyuki-chouketsu-in), a traditional herbal medicine, stimulates lactation with increase in secretion of prolactin but not oxytocin in the postpartum period.
    Am J Chin Med?2007;35:195-202.

 

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์