คลังเก็บป้ายกำกับ: การเสริมวิตามินระหว่างการให้นมบุตร

สตรีให้นมบุตรควรเสริมวิตามินอีหรือไม่

IMG_1663

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันภาวะเม็ดเลือดแดงแตกง่ายในทารกได้ ในหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการวิตามินอีวันละ 19 มิลลิกรัมต่อวัน1 วิตามินอีพบในอาหารจำพวกไข่ จมูกข้าวสาลี ขนมปังโฮลวีต ซีเรียลชนิดโฮลเกรน ถั่วเหลือง น้ำมันพืช น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพดถั่ว เมล็ดทานตะวัน เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว ผักโขม และผักใบเขียว โดยทั่วไปไม่พบการขาดวิตามินอีในคนปกติที่มีการดูดซึมไขมันปกติ อย่างไรก็ตาม ค่านิยมการกินอาหารในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในบางคนหากหลีกเลี่ยงการกินไขมันมากเกินไป อาจทำให้ขาดวิตามินที่ละลายในไขมันรวมถึงวิตามินอีด้วย ดังนั้น ในหญิงให้นมบุตร แนะนำให้รับประทานอาหารให้หลากหลาย ครบหมู่ และไม่มีความจำเป็นต้องเสริมวิตามินอีเพิ่มเติมจากที่ได้รับจากอาหาร

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.

สตรีให้นมบุตรควรเสริมวิตามินดีหรือไม่

IMG_1662

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? วิตามินดีเป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมน ซึ่งนอกจากได้รับผ่านการรับประทานอาหารแล้ว ร่างกายยังสามารถสร้างได้เมื่อได้รับอุลตร้าไวโอเลตบีจากแสงแดด อาหารที่มีวิตามินดี ได้แก่ ไขมันปลา เครื่องในสัตว์ ตับ และเห็ด วิตามินดีมีประโยชน์ในเรื่องความแข็งแรงของกระดูก เมตาบอริซึมของแคลเซียม และยังช่วยในเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน1-3 ในหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการวิตามินดีต้องการวันละ 5 ไมโครกรัมต่อวันหรือ 200 ยูนิตต่อวัน หญิงไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มจะขาดวิตามินดี เนื่องจากค่านิยมที่หลีกเลี่ยงการออกตากแดด โดยจากการสำรวจพบภาวะวิตามินดีต่ำร้อยละ 50-754 ปริมาณวิตามินดีในมารดามีความสัมพันธ์กับปริมาณวิตามินดีในน้ำนม โดยสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ทารกทุกคนหลังคลอดได้รับการเสริมวิตามินดีขนาด 400 IU ต่อวัน5 สำหรับมารดามีข้อแนะนำให้เสริมวิตามิน D ขนาด 400-600 IU ต่อวันในระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตร6 จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นว่า ควรแนะนำให้มีการเสริมวิตามินดีในหญิงไทยที่ให้นมบุตร และแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง ร่วมกับการออกรับแสงแดดราววันละ 6-8 นาที

เอกสารอ้างอิง

  1. Walker VP, Zhang X, Rastegar I, et al. Cord blood vitamin D status impacts innate immune responses. J Clin Endocrinol Metab 2011;96:1835-43.
  2. Liu PT, Stenger S, Li H, et al. Toll-like receptor triggering of a vitamin D-mediated human antimicrobial response. Science 2006;311:1770-3.
  3. Hewison M. Vitamin D and the immune system: new perspectives on an old theme. Endocrinol Metab Clin North Am 2010;39:365-79, table of contents.
  4. Chailurkit LO, Aekplakorn W, Ongphiphadhanakul B. Regional variation and determinants of vitamin D status in sunshine-abundant Thailand. BMC Public Health 2011;11:853.
  5. Wagner CL, Greer FR. Prevention of rickets and vitamin D deficiency in infants, children, and adolescents. Pediatrics 2008;122:1142-52.
  6. Ross AC, Manson JE, Abrams SA, et al. The 2011 report on dietary reference intakes for calcium and vitamin D from the Institute of Medicine: what clinicians need to know. J Clin Endocrinol Metab 2011;96:53-8.

 

สตรีให้นมบุตรควรเสริมวิตามินซีหรือไม่

IMG_1666

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?วิตามินซีช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันโรค โดยหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการวิตามินซีต้องการวันละ 110 มิลลิกรัมต่อวัน วิตามินซีมักพบในผลไม้รสเปรี้ยว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ แคนตาลูป มันฝรั่ง มะเขือเทศ ดอกกะหล่ำ พริกไทย?และผักใบเขียว การที่มารดามีภาวะขาดวิตามินซีจะทำให้ระดับของวิตามินซีในกระแสเลือดต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อระดับของวิตามินซีในน้ำนมต่ำ และอาจทำให้เกิดการขาดวิตามินซีในทารกด้วย การเสริมวิตามินซีในมารดาจะช่วยให้ระดับวิตามินซีในน้ำนมสูงขึ้นได้1 อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป หากมารดาที่ไม่ได้มีภาวะเสี่ยงในการขาดวิตามินซี แนะนำให้มารดารับประทานอาหารให้ครบหมู่ร่วมกับการกินผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง น่าจะช่วยป้องกันการขาดวิตามินซีในทารกได้ สำหรับในประเทศไทยมีการศึกษาถึงปริมาณวิตามินซีในน้ำนมมารดา พบว่ามีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของทารก ซึ่งน่าจะเกิดจากการรับประทานผลไม้ที่มีตลอดทั้งปีของมารดา2

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
  2. Chatranon W, Siddhikol C, Chavalittamrong B. Ascorbic acid and dehydroascorbic acid in breast milk of Thai mothers. J Med Assoc Thai 1979;62:315-8.

สตรีให้นมบุตรควรเสริมวิตามินบีสิบสองหรือไม่

IMG_1669

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ?ในสตรีไทยที่ให้นมบุตร ความต้องการวิตามินบีสิบสองต้องการวันละ 2.8 ไมโครกรัมต่อวัน การขาดวิตามินบีสิบสองจะทำให้เกิดอาการซีดจากเม็ดเลือดแดงแตกง่ายและมีขนาดใหญ่กว่าปกติ (Megaloblastic anemia) ความผิดปกติของระบบประสาท ชาปลายมือปลายเท้า หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้าและความจำเสื่อม การขาดวิตามินบีสิบสองมักพบในผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติและกินอาหารจำพวกธัญพืชน้อย เนื่องจากอาหารที่มีวิตามินบีสิบสองมีอยู่ในเนื้อสัตว์ ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนมและถั่ว และผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางเพอร์นิเชียส (Pernicious anemia) หรือผู้ที่ได้รับการผ่าตัดตัดส่วนของกระเพาะอาหารออกไป ที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถจะมีการดูดซึมวิตามินบีสิบสองที่กระเพาะอาหารได้ ?การขาดวิตามินบีสิบสองของมารดาจะส่งผลต่อระดับของวิตามินบีสิบสองในน้ำนมลดลงและจะทำให้เกิดการขาดวิตามินบีสิบสองในทารกด้วย โดยทารกที่ขาดวิตามินบีสิบสองจะมีความผิดปกติของระบบเลือด ระบบประสาท และการเผาพลาญอาหารของร่างกาย การเสริมวิตามินบีสิบสองในระหว่างการให้นมบุตรในมารดาที่ขาดจะเพิ่มระดับของวิตามินบีหกในน้ำนมแม่ได้อย่างรวดเร็ว1 โดยทั่วไป แนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีวิตามินบีสิบสองสูงในสัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างการให้นมบุตรจะช่วยป้องกันการขาดวิตามินบีสิบสองในทารกได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.

สตรีให้นมบุตรควรเสริมวิตามินบีหกหรือไม่

IMG_1670

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในสตรีไทยที่ให้นมบุตร ความต้องการวิตามินบีหกต้องการวันละ 2 มิลลิกรัมต่อวัน การขาดวิตามินบีหกจะทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท มือเท้าชา หงุดหงิด และมีผื่นขึ้นตามผิวหนังได้ การขาดวิตามินบีหกอาจพบควบคู่กันกับการขาดวิตามินบีหนึ่งและบีสาม เนื่องจากอาหารที่มีวิตามินบีหกมีอยู่ในเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผักใบเขียว ผลิตภัณฑ์จากนมและถั่ว ซึ่งจะเป็นอาหารที่มีวิตามินบีหนึ่งและบีสามสูง ขณะเดียวกันการขาดวิตามินบีหกของมารดาจะส่งผลต่อระดับของวิตามินบีหกในน้ำนมลดลงและจะทำให้เกิดการขาดวิตามินบีหกในทารกด้วย โดยทารกที่ขาดวิตามินบีหกจะแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติ หงุดหงิดและอารมณ์แปรปรวนง่าย การเสริมวิตามินบีหกในระหว่างการให้นมบุตรในมารดาที่ขาดจะเพิ่มระดับของวิตามินบีหกในน้ำนมแม่ได้1 โดยทั่วไป แนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีวิตามินบีหกสูงในสัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างการให้นมบุตรจะช่วยป้องกันการขาดวิตามินบีหกในทารกได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.