คลังเก็บหมวดหมู่: case study

case study

กรณีตัวอย่าง กลัวลูกจะไม่ได้กินนม และแนวทางในการดูแล

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สมหญิงรอคุณที่เป็นแพทย์ผู้ดูแลมาตรวจอยู่ที่หอมารดาหลังคลอด เธอคลอดบุตรเมื่อ 24 ชั่วโมงก่อน เธอกังวลเกี่ยวกับลูกของเธอที่ง่วงนอนและเธอเชื่อว่าลูกจะไม่ได้กินนม พยาบาลบอกคุณว่าเธอขอนมผงดัดแปลงสำหรับทารกให้ลูกของเธอ เมื่อคุณเข้าไปในห้องของเธอ คุณจะเห็นทารกถูกห่อในผ้าห่มอย่างอบอุ่นและเริ่มที่จะขยับตัว คุณในฐานะแพทย์ผู้รับผิดชอบดูแลมารดาและทารกหลังคลอดจะมีแนวทางในการดูแลมารดาและทารกในรายนี้อย่างไร?

แนวทางที่เหมาะสมในการดูแลมารดาและทารกรายนี้1  มีดังต่อไปนี้

1. หาข้อมูลก่อนว่ามารดาได้ให้นมลูกไปมากน้อยแค่ไหนแล้วโดยการพูดคุยกับมารดาและเจ้าหน้าที่และดูข้อมูลในเวชระเบียน (โดยตรวจดูปริมาณปัสสาวะและอุจจาระ และน้ำหนักของทารก)

2. ตรวจร่างกายทารก ซึ่งขณะนี้น่าจะเกินช่วงเวลาที่ทารกจะมีอาการง่วงนอนที่พบเป็นปกติหลังคลอดแล้ว การทีสังเกตพบว่าทารกขยับตัวอาจบ่งบอกถึงความต้องการหรือความพร้อมที่จะกินนมแล้ว ซึ่งการตรวจร่างกายของคุณจะเป็นกระตุ้นทารกด้วย

3. เมื่อทารกตื่น ขอให้มารดาให้ทารกกินนมแม่ ซึ่งควรทำสังเกตทารกขณะกินนมแม่ ดูการเข้าเต้า และดูว่าทารกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ (โดยฟังเสียงการกลืนนมของทารก) สำหรับการแนะนำการปรับเปลี่ยนท่าที่ให้นมให้มีความเหมาะสมนั้น ควรทำเมื่อมีความจำเป็น

4. ตรวจดูจุดสังเกตต่าง ๆ ที่บ่งชี้ว่าทารกมีการอมหัวนมและลานนมหรือการเข้าเต้าที่ดีไปพร้อมกับมารดา และพยายามมุ่งเน้นในการฟังเสียงการกลืนนมของทารก

5. ตรวจดูลักษณะหรือสัญญาณที่บ่งบอกว่าทารกได้รับนมอย่างเพียงพอไปพร้อมกับมารดา (ทารกจะมีลักษณะอิ่มเอมหรือรู้สึกพึงพอใจหลังการกินนม มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และอาจสังเกตได้จากปริมาณของอุจจาระและปัสสาวะ)

6. ทบทวนพื้นฐานของการสร้างและการคงให้มีน้ำนมอย่างต่อเนื่องไปกับมารดา (การให้ทารกดูดนมแม่บ่อย ๆ และการระบายน้ำนมออกจะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม ควรให้ทารกกินนมจากเต้านมข้างแรกจนกระทั่งเกลี้ยงเต้าแล้วจึงเสนอเต้านมอีกข้าง) การใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกจะรบกวนการสร้างน้ำนมหากไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน

7. หากพบว่ามารดามีปัญหาในการให้นมทารกควรส่งต่อมารดาและทารกไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือทีมงานที่ดูแลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อทำการฝึกทักษะในการให้นมลูกอย่างเป็นระบบ และไม่ควรอนุญาตให้มารดากลับบ้านจนกว่าการให้นมลูกจะทำได้ดี

8. คำแนะนำก่อนที่จะอนุญาตให้มารดากลับบ้าน ควรครอบคลุมถึงสิ่งต่อไปนี้

  • หากอนุญาตให้มารดากลับบ้านเร็วก่อน 48 ชั่วโมงหลังคลอด ควรต้องนัดติดตามมารดาและทารกภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากกลับบ้าน
  • หากอนุญาตให้มารดากลับบ้านหลัง 48 ชั่วโมงหลังคลอด ควรนัดติดตามมารดาและทารก 2-3 วันหลังจากนั้น
  • แนะนำเบอร์โทรศัพท์สายด่วนที่มารดาสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • ให้ข้อมูลแก่มารดาว่า สถานการณ์ใดที่ควรขอความช่วยเหลือจากสถานพยาบาลปฐมภูมิ และสถานการณ์ใดที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • แนะนำการบันทึกแบบบันทึกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประจำวัน เพื่อให้มารดาบันทึกจำนวนครั้งของการให้นมแม่และการเปลี่ยนผ้าอ้อมที่เปียกแฉะหรือเปื้อนอุจจาระ
  • ให้เอกสารหรือพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชุมชนและกระตุ้นให้มารดาเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

Breastfeeding case study 15

Breastfeeding case study 15