คลังเก็บหมวดหมู่: มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม

การใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจมะเร็งเต้านมในสตรีที่ให้นมบุตร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัจจุบันเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงหรือเครื่องอัลตร้าซาวด์ (ultrasound) มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการช่วยการวินิจฉัยโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับเต้านมในระหว่างที่มารดาอยู่ในช่วงให้นมบุตร โดยที่โรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงสามารถจะใช้ช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่ เต้านมอักเสบ ฝีและเต้านม และมะเร็งเต้านม ซึ่งในการให้การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมนั้นพบว่า การใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจมะเร็งเต้านมในสตรีที่ให้นมบุตรมีประสิทธิภาพดีในกรณีที่คลำพบก้อนที่เต้านมมารดาร่วมด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีความจำเป็นในการตรวจเพิ่มเติมโดยใช้การเอ็กซเรย์เต้านม (mammogram) เนื่องจากจะมีการพบผลบวกลวงเพิ่มขึ้น1 ดังนั้น การจัดอบรมให้มีการเรียนรู้ศึกษาถึงการใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจเต้านมสำหรับแพทย์ที่มีหน้าที่ในการดูแลมารดาหลังคลอดหรือมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการดูแลมารดากลุ่มนี้

เอกสารอ้างอิง

1.        Chung M, Hayward JH, Woodard GA, et al. US as the Primary Imaging Modality in the Evaluation of Palpable Breast Masses in Breastfeeding Women, Including Those of Advanced Maternal Age. Radiology 2020:201036.

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่จะช่วยลดความเสี่ยงของมารดาที่จะเป็นมะเร็งเต้านมและในมารดาที่เป็นมะเร็งเต้านม ประวัติของการที่เคยให้ลูกกินนมแม่มีผลที่ดีต่อพยากรณ์ของโรค อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบการเกิดมะเร็งเต้านมสูงขึ้นและยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของมะเร็งในสตรีที่ทำให้สตรีเสียชีวิต ดังนั้น การทราบปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมจึงมีความจำเป็น เพื่อสตรีจะได้ปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมโดยลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันอิ่มตัวสูง การรับประทานกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว (polyunsaturated fatty acid) อาหารที่มีเส้นใย และวิตามินบางชนิดน้อย โดยวิตามินที่มีผลคือ วิตามินดี โฟเลต และคาโรทีนนอยด์ (carotenoid) การออกกำลังกายน้อย และสัดส่วนของไขมันในร่างกาย1 จะเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้นอกจากจะมีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมแล้ว ยังอาจส่งผลทำให้เกิดโรคทางเมตาบอลิกและเบาหวานในระยะยาวได้ ความเข้าใจเรื่องปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ของสตรีจะนำไปสู่การตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่จะมีผลต่อรูปแบบของการใช้ชีวิตที่อาจส่งผลในการลดการเกิดมะเร็งเต้านมและช่วยส่งเสริมสุขภาพของสตรีให้ดีขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Romieu, II, Amadou A, Chajes V. The Role of Diet, Physical Activity, Body Fatness, and Breastfeeding in Breast Cancer in Young Women: Epidemiological Evidence. Rev Invest Clin 2017;69:193-203.

 

 

การกินมังสวิรัติช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมได้จริงหรือ

IMG_3175

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การดูแลสุขภาพในปัจจุบัน บางครั้งต้องเผชิญกับความเชื่อ ทั้งที่เป็นความเชื่อจากการแพทย์ดั้งเดิม ความเชื่อจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรือความเชื่อจากขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งมักจะขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน การจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ในบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นยาก และอาจมีความยากมากขึ้น หากบุคคลนั้นเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เช่นเดียวกันกับมีความเชื่อเกี่ยวกับการกินผักหรือการกินมังสวิรัติว่าจะส่งผลช่วยลดหรือป้องกันการเกิดมะเร็งได้ มีข้อมูลการศึกษาในอินเดียในสตรีที่กินมังสวิรัติมาตลอดชีวิตมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมไม่แตกต่างจากสตรีทั่วไป (Odds ratio 1.09 (95% CI 0.93-1.29))1 ดังนั้น การที่เราฟังข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับ จำเป็นต้องมีการกลั่นกรองหาข้อมูลความน่าเชื่อถือแล้ววิเคราะห์ก่อนตัดสินใจในข้อมูลเหล่านั้น นอกจากนี้ ความรู้ที่มีในปัจจุบัน อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากมีหลักฐานใหม่ ๆ เพิ่มเติมมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการหาความรู้เพิ่มเติมใหม่ที่ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะแพทย์ที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับการตัดสินใจของผู้ป่วยที่มารับคำปรึกษา

เอกสารอ้างอิง

  1. Gathani T, Barnes I, Ali R, et al. Lifelong vegetarianism and breast cancer risk: a large multicentre case control study in India. BMC Womens Health 2017;17:6.

 

การให้นมแม่ในมารดาที่เป็นมะเร็งเต้านมที่รักษาร่วมด้วยฮอร์โมน

ยา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การรักษาร่วมด้วยฮอร์โมน ฮอร์โมนที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ tamoxifen ยานี้ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน ค่าครึ่งชีวิต (half-life) ของยา 7 วัน มีรายงานการเกิดอวัยวะเพศกำกวม (ambiguous genitalia) ในทารกเพศหญิงที่มารดาได้รับยานี้ระหว่างการตั้งครรภ์1 และยานี้ยังออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งน้ำนม2,3 ดังนั้นจึงเป็นข้อห้ามในการใช้ยานี้ระหว่างการให้นม

หนังสืออ้างอิง

  1. Tewari K, Bonebrake RG, Asrat T, Shanberg AM. Ambiguous genitalia in infant exposed to tamoxifen in utero. Lancet 1997;350:183.
  2. Shaaban MM. Suppression of lactation by an antiestrogen, tamoxifen. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol 1975;4:167-9.
  3. Masala A, Delitala G, Lo Dico G, Stoppelli I, Alagna S, Devilla L. Inhibition of lactation and inhibition of prolactin release after mechanical breast stimulation in puerperal women given tamoxifen or placebo. Br J Obstet Gynaecol 1978;85:134-7.

การให้นมแม่ในมารดาที่เป็นมะเร็งเต้านมที่รักษาร่วมด้วยยา monoclonal antibody

ยา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การรักษาร่วมด้วยยา monoclonal antibody ในมารดาที่เป็นมะเร็งเต้านม ยาที่ใช้อยู่ ได้แก่ Trastuzumab โดยยานี้จะออกฤทธิ์เจาะจงในการจับการโปรตีน human epidermal growth factor receptor 2 (HER2) ค่าครึ่งชีวิต (half-life) ของยา 1-32 วัน ยานี้ผ่านน้ำนมได้ มีรายงานการใช้ยานี้ระหว่างการตั้งครรภ์และพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อย1 ยังไม่มีรายงานการใช้ยานี้ระหว่างการให้นมลูก ดังนั้นการให้นมแม่ขณะได้รับยาควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากค่าครึ่งชีวิตของยายาวนาน

หนังสืออ้างอิง

  1. Watson WJ. Herceptin (trastuzumab) therapy during pregnancy: association with reversible anhydramnios. Obstet Gynecol 2005;105:642-3.