การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 9

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

จากการเก็บรวบรวมรายรับจากการให้บริการพบว่า ในปี 2558 คลินิกนมแม่มีรายรับ 106850 บาท ในปี 2559 มีรายรับ 135850 บาท      ซึ่งรายรับส่วนใหญ่ได้อันดับหนึ่งได้จากการให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร้อยละ 43.4-53.4 ส่วนลำดับที่สองและสามได้จากการนวดเต้านมร้อยละ 21.6-31.1 และการให้บริการเครื่องปั๊มนมร้อยละ 21.9-23.3

เมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดของผู้รับบริการที่คลินิกนมแม่ ผู้รับบริการหลักคือมารดาหลังคลอดที่นัดมาติดตามการเลี้ยงลูกที่คลินิกนมแม่ ผู้รับบริการจะแยกเป็นผู้ป่วยประเภทที่ 1 และการโทรศัพท์ติดตามเยี่ยมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาหลังคลอด ซึ่งใช้เวลาในการสอบถามติดตาม ให้ความรู้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มเติมไม่เกิน 10 นาที ผู้รับบริการกลุ่มนี้ ทางคลินิกนมแม่ไม่ได้คิดค่าบริการในการให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากในผู้รับบริการที่คลอดที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี การนัดติดตามการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่คลินิกนมแม่ถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการให้บริการดูแลการคลอดที่เหมารวมในค่าบริการการคลอดแล้ว ค่าบริการที่เรียกเก็บจากการให้คำปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเรียกเก็บจากมารดาที่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ตั้งใจมาขอคำปรึกษาหรือจากมารดาที่มาขอคำปรึกษาที่คลอดจากโรงพยาบาลอื่น ดังนั้น รายรับจากการให้บริการผู้รับบริการที่คลอดที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ต้องคิดต้นทุนของการให้บริการในการโทรศัพท์และนัดติดตามที่คลินิกนมแม่รวมไปในกิจกรรมของการคลอดด้วย สำหรับรายรับจากการให้บริการการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากผู้รับบริการที่ไม่ได้เป็นผู้คลอดที่นัดติดตามการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นเพิ่มขึ้นจาก 43.4 ในปี 2558 เป็น 53.4 ในปี 2559 แสดงถึงการมารับคำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะกระแสการใส่ใจเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพิ่มขึ้น คลินิกนมแม่เริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น หรืออาจเป็นเพราะปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบมาขึ้น ซึ่งจำเป็นมีการศึกษาเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป