ทารกที่น้ำหนักลดลงมากระหว่างการนอนโรงพยาบาลเพิ่มความเสี่ยงในการหยุดนมแม่

IMG_3655

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ปกติแล้ว ทารกหลังคลอดจะมีน้ำหนักลดลงทุกราย เนื่องจากขณะอยู่ในครรภ์และคลอดใหม่ ทารกจะแช่อยู่ในน้ำคร่ำ แต่เมื่อคลอดออกมาแล้ว น้ำจากผิวหนังจะระเหยออกไป ร่วมกับในช่องปอดจะมีอากาศเข้าไปแทนที่น้ำที่จะมีอยู่ในปอดทารกขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์ และเมื่อแรกคลอดออกมา ทารกต้องปรับตัวรับสารอาหารจากการกินนมแทนที่จะได้รับจากการแลกเปลี่ยนสารอาหารผ่านเลือดจากรกของทารกในครรภ์มารดา กระเพาะของทารกจะเล็ก และค่อย ๆ ขยายตัว ดังนั้น การกินนมในระยะแรกจึงกินนมในปริมาณที่เล็กน้อยที่เหมาะสมกับขนาดของกระเพาะทารก และสอดคล้องกับปริมาณน้ำนมของมารดาที่ผลิตในระยะแรก แต่หากระหว่างหลังคลอดขณะอยู่โรงพยาบาล ทารกมีแนวโน้มจะมีน้ำหนักลดลงมาก สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่บอกถึงความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้ มีการศึกษาพบว่า การเก็บข้อมูลน้ำหนักทารกที่ลดลงขณะอยู่ที่โรงพยาบาลหลังคลอดสามารถทำนายการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้1 เนื่องจากหากทารกน้ำหนักลดลงมากจะสร้างความวิตกกังวลให้กับมารดา และในทารกที่กินนมแม่ได้ไม่เพียงพอในระยะแรกจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตัวเหลืองเพิ่มขึ้น เมื่อมีน้ำหนักลดมากหรือมีภาวะตัวเหลืองสูงขึ้น ทารกอาจได้รับการให้ยาหรืออาหารอื่นเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวลดลง

เอกสารอ้างอิง

  1. Flaherman VJ, Schaefer EW, Kuzniewicz MK, Li S, Walsh E, Paul IM. Newborn Weight Loss During Birth Hospitalization and Breastfeeding Outcomes Through Age 1 Month. J Hum Lact 2017;33:225-30.