คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

มารดารู้สึกอย่างไรที่ต้องป้อนนมแม่จากขวด

IMG_3497

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?อุปกรณ์ในการปั๊มนมรวมทั้งขวดนมถือเป็นค่านิยมที่จำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมนมแม่ในปัจจุบัน อาจเป็นด้วยหลายเหตุผล ได้แก่ การเข้าเต้าที่ยากลำบาก การกลับไปทำงานของมารดาหรือการต้องแยกห่างจากทารก ซึ่งมีการศึกษาถึงความรู้สึกของมารดาที่ต้องปั๊มนมป้อนเก็บไว้ป้อนลูก พบว่า แม้ว่ามารดาจะยินดีที่จะปั๊มนมเก็บให้ลูก เนื่องจากอยากให้ลูกได้กินนมแม่ แต่ก็รู้สึกว่าการปั๊มนมเป็นเรื่องที่กินเวลามาก น่าเบื่อ และต้องเสียค่าใช้จ่ายกับเครื่องปั๊ม ทำให้ชนิดของเครื่องปั๊มและขวดนมกลับมามีความสำคัญ ซึ่งเทียบไม่ได้กับการกินนมแม่จากเต้าที่มีความสะดวกและให้ความรู้สึกพึงพอใจมากกว่า1,2 อย่างไรก็ตาม หากยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความลดการพึ่งพาเครื่องปั๊มนมและขวดนม โดยหันมาหาวิธีการดั้งเดิมคือ การบีบน้ำนมด้วยมือ และการป้อนนมทารกด้วยถ้วย ซึ่งทำให้ลูกไม่สับสนในการกินนมจากเต้าและป้อนนมจากถ้วย นอกจากนี้ ลูกยังสามารถคุมการกินนมได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันและลดโรคอ้วนในอนาคตเมื่อทารกเติบโตขึ้น และแม้ว่าการป้อนนมจากขวดนมจะยังได้ประโยชน์จากสารอาหารในนมแม่ แต่อาจจะขาดประโยชน์ในเรื่องการช่วยการพัฒนาการและความเฉลียวฉลาดของทารก ซึ่งได้กินนมจากเต้า มีการกระตุ้นการสัมผัส ในอ้อมกอดที่อบอุ่น มั่นคงและรู้สึกปลอดภัย ร่วมกับการพูดคุยหลอกล้อ สร้างพื้นฐานอารมณ์ที่ดี มีความสัมพันธ์และความรัก การวิจัยในรายละเอียดของผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ควรศึกษาในอนาคตต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Felice JP, Geraghty SR, Quaglieri CW, Yamada R, Wong AJ, Rasmussen KM. “Breastfeeding” without baby: A longitudinal, qualitative investigation of how mothers perceive, feel about, and practice human milk expression. Matern Child Nutr 2017.
  2. Felice JP, Geraghty SR, Quaglieri CW, Yamada R, Wong AJ, Rasmussen KM. “Breastfeeding” but not at the breast: Mothers’ descriptions of providing pumped human milk to their infants via other containers and caregivers. Matern Child Nutr 2017.

 

มารดาที่เป็นทหารอาจจะมีอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3472

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? อาชีพของมารดามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยอาชีพอิสระ หรือทำงานส่วนตัวมักมีโอกาสที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกได้นานกว่า จึงมักจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่ามารดาที่รับจ้างต้องออกไปทำงานนอกบ้านและต้องอยู่ห่างทารก โดยเฉพาะอาชีพทหารที่มีระเบียบวินัยสูง มารดาต้องรับผิดชอบในหน้าที่ มีความเครียดสูง ร่วมกับบางครั้งต้องเข้าเวรและแยกจากทารกเป็นเวลานาน การจัดสรรเวลาที่จะบีบหรือปั๊มนมเก็บ ทำได้ลำบาก ทำให้เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และทำให้ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมักสั้นกว่า1 ดังนั้น ความเข้าใจและเปิดโอกาสให้มีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของผู้บังคับบัญชาจึงมีความสำคัญ การให้ความรู้และแสดงให้เห็นความสำคัญในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่บุคลากรในสายอาชีพทหารจึงควรได้รับการเอาใจใส่และให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดโดยบุคลากรทางการแพทย์

เอกสารอ้างอิง

  1. Farwell AL. An Integrative Review of Breastfeeding Duration and Influencing Factors Among Women Serving Active Duty in the U.S. Military. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2017.

การสร้างเกมให้ความรู้เรื่องนมแม่ออนไลน์

IMG_9334

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?รูปแบบของการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีตั้งแต่การให้ความรู้รายบุคคล การให้ความรู้รายกลุ่ม การให้ความรู้ผ่านสื่อแผ่นพับ หนังสือ สื่อทางโทรศัพท์โดยเป็นข้อความสั้น ๆ สื่อออนไลน์ ผ่านการเขียนบทความ กลุ่มสังคมออนไลน์ สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งการจัดรูปแบบสื่อที่มีอย่างหลากหลายให้มารดาเลือกตามความพึงพอใจ น่าจะได้ประโยชน์ มารดาในยุคปัจจุบันเป็นมารดาที่เกิดในยุค generation Y ที่มีความสามารถทางด้านการใช้สื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ดี จึงมีผู้ที่คิดสร้างเกมให้ความรู้เรื่องนมแม่ออนไลน์ เพื่อช่วยให้มารดามีความตั้งใจและมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ผลจากการศึกษาไม่พบความแตกต่างของความตั้งใจและความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในกลุ่มที่ศึกษา1 อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นความพยายามที่จะสร้างสื่อรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องการให้ความรู้แก่มารดา ซึ่งการปรับปรุงคุณภาพสื่อให้น่าสนใจ และมีการตอบสนองระหว่างการใช้งานได้ น่าจะทำให้ผลการตั้งใจจะสื่อสารความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Grassley JS, Connor KC, Bond L. Game-based online antenatal breastfeeding education: A pilot. Appl Nurs Res 2017;33:93-5.

นมแม่ช่วยพัฒนาการการสั่งงานของกล้ามเนื้อ

IMG_3649

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีรายงานถึงประโยชน์ที่มากมายและหลายด้าน ด้านภูมิคุ้มกันที่ส่งจากมารดาสู่ทารก ด้านการป้องกันโรคภูมิแพ้ เบาหวาน ภาวะอ้วน รวมทั้งด้านความเฉลียวฉลาด พัฒนาการทางด้านการพูดและภาษา นอกเหนือจากนี้ มีรายงานว่าในทารกที่กินนมแม่นานหกเดือนเมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่กินนมแม่น้อยกว่าหกเดือนพบว่า พัฒนาการในการสั่งงานของกล้ามเนื้อเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นอายุ 10 ปี 14 ปี และ 17 ปีในกลุ่มทารกที่กินนมแม่นานหกเดือนมีพัฒนาการที่ดีกว่า ซึ่งจากการศึกษานี้ บ่งชี้ว่า นมแม่มีผลดีต่อพัฒนาการของการสั่งงานของกล้ามเนื้อในระยะยาว ทำให้การควบคุมกล้ามเนื้อได้ดีกว่า1 อาจส่งผลต่อการทำงาน ทักษะการวาดเขียน การเล่นดนตรี หรือการเล่นกีฬา ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าเมื่อเจริญเติบโตขึ้น ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่มารดาสามารถมอบให้แก่ทารกได้ก็คือ การให้โอกาสที่ดีแก่ลูกที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต ด้วยการเลือกให้ลูกกินนมแม่ตามระยะเวลาที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Grace T, Oddy W, Bulsara M, Hands B. Breastfeeding and motor development: A longitudinal cohort study. Hum Mov Sci 2017;51:9-16.

การเปลี่ยนถิ่นที่อยู่อาจเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3657

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในชนชาวเอเชียมักมีความเชื่อดังเดิมในเรื่องการให้ลูกกินแม่ ทำให้มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชนชาวเอเซียสูง แต่ในปัจจุบัน สภาพสังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนไป เมื่อมีการย้ายถิ่นที่อยู่ไปอยู่ในยุโรป กลับพบว่า มารดาต้องกลับไปทำงานเร็ว ซึ่งการกลับไปทำงานของมารดาเป็นอุปสรรคของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงพบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่ย้ายถิ่นที่อยู่ไปอยู่อีกในสังคมหนึ่งแตกต่างจากมารดาที่อยู่ในถิ่นเดิม1 อย่างไรก็ตาม ค่านิยมและลักษณะของสังคมใหม่ที่มารดาย้ายถิ่นที่อยู่ไปอยู่นั้น น่าจะมีผลการพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาด้วย จึงควรมีการสังเกตและให้ความเอาใจใส่ในกลุ่มมารดาต่างเชื้อชาติ หรือมีการย้ายถิ่นที่อยู่ เนื่องจากในมารดากลุ่มนี้ อาจมีความเสี่ยงที่แตกต่างจากชนชาติพื้นเมือง ซึ่งต้องมีการนัดติดตามและให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Gonzalez-Pascual JL, Ruiz-Lopez M, Saiz-Navarro EM, Moreno-Preciado M. Exploring Barriers to Breastfeeding Among Chinese Mothers Living in Madrid, Spain. J Immigr Minor Health 2017;19:74-9.