คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยความสำเร็จของการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กระบวนการจัดการสนับสนุนให้มารดามีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญ เนื่องจากมีการทบทวนอย่างเป็นระบบแล้วพบว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อนั้น ทำให้มารดาที่ให้นมลูกเป็นครั้งแรกประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม1 การที่จะสนับสนุนให้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้นจำเป็นจะต้องมีการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่มารดาและครอบครัวตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ เพื่อที่จะเตรียมตัวและมีความกระตือรือล้นที่จะให้ทารกได้มีการโอบกอดอยู่บนอ้อมอกของมารดาทันทีเมื่อพร้อมในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งในระหว่างการเริ่มการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อควรให้เวลาแก่ทารกให้มีการสัมผัสกับอกของมารดา ปรับตัว และเริ่มเข้าหาเต้านมของมารดาเพื่อการเริ่มการดูดนมแม่เป็นครั้งแรก ช่วงเวลาที่มีการปรับตัวที่จะทำให้ทารกมีความพร้อมในการกินนมแม่นั้น โดยทั่วไปจะใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง บุคลากรทางการแพทย์ มารดาและครอบครัวควรปล่อยให้ทารกได้อยู่บนอกของมารดาโดยปราศจากการรบกวน เพื่อจะช่วยในการพัฒนาการของระบบประสาทสัมผัสของทารกจากการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อมีความสมบูรณ์ และช่วยในความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Karimi FZ, Sadeghi R, Maleki-Saghooni N, Khadivzadeh T. The effect of mother-infant skin to skin contact on success and duration of first breastfeeding: A systematic review and meta-analysis. Taiwan J Obstet Gynecol 2019;58:1-9.

นมแม่อาจมีวิตามินเอต่ำในมารดาที่ผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดความอ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                   ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นโรคที่พบบ่อยขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นจากพฤติกรรมการกินและกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนในชุมชนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป การรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะ (bariatric surgery) เริ่มมีการใช้เพิ่มมากขึ้น วิตามินเอเป็นวิตามินที่มีโอกาสจะขาดได้ในสตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โดยในสตรีที่ได้รับการผ่าตัดเหล่านี้ หากมีการตั้งครรภ์ทำให้มีข้อสงสัยว่าจะพบภาวะการขาดแคลนวิตามินเอหรือไม่ มีการศึกษาเกี่ยวกับปริมาณวิตามินเอในนมแม่ของมารดาที่ได้รับการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะพบว่า ในนมแม่ของมารดาที่ได้รับการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะมีปริมาณวิตามินเอต่ำกว่ามารดากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ1 ดังนั้น การเอาใจใส่ในเรื่องภาวะโภชนาการของมารดาที่ได้รับการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะจึงมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อป้องกันการขาดสารอาหารบางอย่างที่จำเป็นในทารกที่กินนมแม่ทำให้ทารกได้รับประโยชน์จากการกินนมแม่ไม่เต็มที่ ซึ่งความจำเป็นในการเสริมสารอาหารที่ขาดแคลนในมารดาเหล่านี้ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Garretto D, Kim YK, Quadro L, et al. Vitamin A and beta-carotene in pregnant and breastfeeding post-bariatric women in an urban population. J Perinat Med 2019;47:183-9.

 

 

 

 

การให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดาต้องระวังในมารดาที่มีความเสี่ยง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การที่ให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดาในระยะหลังคลอดมีรายงานการศึกษาว่าช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น เนื่องจากมารดาสามารถจะสังเกตอาการหิวของทารกได้ดีกว่า และทำการให้นมแม่ได้ตามที่ทารกต้องการ อย่างไรก็ตามในระยะหลังมีการศึกษาพบว่าในมารดาที่มีความเสี่ยง ได้แก่ มารดาวัยรุ่น มารดาที่มีการใช้ยาเสพติดหรือติดบุหรี่ มารดาที่มีความเจ็บป่วยหรือใช้ยานอนหลับ และหากเตียงที่ให้ทารกมีความไม่ปลอดภัยเสี่ยงต่อการพลัดตกหรือมีพื้นที่คับแคบเกินไปเสี่ยงต่อการที่มารดาจะเบียดทับทารก1 ในกรณีเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่บุคลาการทางการแพทย์ควรให้ความสนใจและหากไม่สามารถให้การดูแลได้อย่างใกล้ชิด ควรหลีกเลี่ยงที่จะให้มารดาและทารกนอนเตียงเดียว เพื่อลดความเสี่ยงที่ทารกจะตกเตียง ตกร่องข้างเตียง หรือถูกมารดาทับจนเกิดอันตรายได้ ซึ่งการพิจารณาควรชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยทางการแพทย์มักดูแลตามหลักความปลอดภัยไว้ก่อนอันเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรคำนึงถึงเสมอ

เอกสารอ้างอิง

  1. Hughes Driscoll CA, Pereira N, Lichenstein R. In-hospital Neonatal Falls: An Unintended Consequence of Efforts to Improve Breastfeeding. Pediatrics 2019;143.

นมแม่ป้องกันเบาหวานได้มากหรือน้อยเท่าไหร่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                มีการศึกษาที่มีการทบทวนอย่างเป็นระบบถึงประโยชน์ของนมแม่ในการป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าทารกที่กินนมแม่จะลดการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ร้อยละ 35 ซึ่งกลุ่มที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น แต่หากแยกวิเคราะห์ในกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่พบว่าลดการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ร้อยละ 231 ซึ่งจะป้องกันได้น้อยกว่าในกลุ่มวัยรุ่น ที่เป็นเช่นนี้เพราะปัจจัยเสี่ยงในผู้ใหญ่มีหลากหลายขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นผลลัพธ์จากปัจจัยนมแม่ในระยะทารกแรกเกิดจึงส่งผลน้อยลง สรุปแล้วหากจะป้องกันเบาหวานให้มีประสิทธิผลสูงควรป้องกันตั้งแต่การให้ทารกได้กินนมแม่จนกระทั่งการป้องกันปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นร่วมด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Horta BL, de Lima NP. Breastfeeding and Type 2 Diabetes: Systematic Review and Meta-Analysis. Curr Diab Rep 2019;19:1.

ทารกที่กินนมผงเสี่ยงต่อเบาหวาน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ทารกที่กินนมแม่จะลดการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ขณะที่ทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเสี่ยงต่อเบาหวาน สาเหตุเนื่องจากการกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจะทำให้ในทารกเติบโตรวดเร็วกว่าปกติตั้งแต่ในระยะหลังคลอด ซึ่งจะกำหนดการตั้งโปรแกรมการเผาพลาญอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ความผิดปกติของการเผาพลาญอาหารรวมทั้งเบาหวาน โดยทำให้ความเข้มข้นของ insulin ในเลือดทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกสูง ตับอ่อนต้องทำงานหนัก สุดท้ายการทำงานของเบต้าเซลล์ของตับอ่อนที่สร้าง insulin ล้มเหลวทำให้เกิดโรคเบาหวาน1

เอกสารอ้างอิง

  1. Horta BL, de Lima NP. Breastfeeding and Type 2 Diabetes: Systematic Review and Meta-Analysis. Curr Diab Rep 2019;19:1.