การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยความสำเร็จของการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กระบวนการจัดการสนับสนุนให้มารดามีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญ เนื่องจากมีการทบทวนอย่างเป็นระบบแล้วพบว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อนั้น ทำให้มารดาที่ให้นมลูกเป็นครั้งแรกประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม1 การที่จะสนับสนุนให้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้นจำเป็นจะต้องมีการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่มารดาและครอบครัวตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ เพื่อที่จะเตรียมตัวและมีความกระตือรือล้นที่จะให้ทารกได้มีการโอบกอดอยู่บนอ้อมอกของมารดาทันทีเมื่อพร้อมในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งในระหว่างการเริ่มการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อควรให้เวลาแก่ทารกให้มีการสัมผัสกับอกของมารดา ปรับตัว และเริ่มเข้าหาเต้านมของมารดาเพื่อการเริ่มการดูดนมแม่เป็นครั้งแรก ช่วงเวลาที่มีการปรับตัวที่จะทำให้ทารกมีความพร้อมในการกินนมแม่นั้น โดยทั่วไปจะใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง บุคลากรทางการแพทย์ มารดาและครอบครัวควรปล่อยให้ทารกได้อยู่บนอกของมารดาโดยปราศจากการรบกวน เพื่อจะช่วยในการพัฒนาการของระบบประสาทสัมผัสของทารกจากการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อมีความสมบูรณ์ และช่วยในความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Karimi FZ, Sadeghi R, Maleki-Saghooni N, Khadivzadeh T. The effect of mother-infant skin to skin contact on success and duration of first breastfeeding: A systematic review and meta-analysis. Taiwan J Obstet Gynecol 2019;58:1-9.