คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

การให้นมแม่ที่บริจาคพาสเจอร์ไรส์แก่ทารกมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปัจจุบันเริ่มมีการใช้นมแม่ที่บริจาคเข้าสู่ธนาคารนมแม่มากขึ้น ซึ่งนมแม่ที่บริจาคนี้จะผ่านการตรวจคัดกรองและพาสเจอร์ไรส์ แต่ยังมีคำถามและข้อสงสัยถึงผลของการให้นมบริจาคที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ต่อผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่าจะมีผลลบหรือช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาหาคำตอบในเรื่องนี้ซึ่งพบว่า การให้นมแม่ที่บริจาคพาสเจอร์ไรส์แก่ทารกที่คลอดครบกำหนดที่มีน้ำหนักลดมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 4.5 ในช่วง 36 ชั่วโมงแรก หลังจากที่มีการติดตามผลลัพธ์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 1 สัปดาห์ และที่ 1, 2, 3 เดือน ไม่พบว่าการให้นมแม่พาสเจอร์ไรส์ที่บริจาคมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 จากผลลัพธ์ของการศึกษา อาจแสดงว่า การให้นมบริจาคพาสเจอร์ไรส์แก่ทารกที่คลอดครบกำหนดซึ่งน่าจะกินนมแม่ได้อยู่แล้ว อาจไม่เกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งในอนาคตควรมีการศึกษาในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คำตอบที่ได้อาจเป็นผลในการช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มเสี่ยงก็เป็นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kair LR, Flaherman VJ, Colaizy TT. Effect of Donor Milk Supplementation on Breastfeeding Outcomes in Term Newborns: A Randomized Controlled Trial. Clin Pediatr (Phila) 2019:9922819826105.

 

สถานที่คลอดมีผลต่อลักษณะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการที่จะสนับสนุนให้ลูกได้กินนมแม่และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนนั้น สถานที่ที่มารดาเลือกที่จะคลอดบุตรเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ หากมารดาเลือกที่จะฝากครรภ์และคลอดในสถานพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก กิจกรรมหรือกระบวนการดูแลที่จะเอื้อให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสูง นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างในการดูแลที่สถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน โดยพบว่าการให้อาหารอื่นหรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารกพบได้สูงกว่าในสถานพยาบาลเอกชน1  สำหรับบางประเทศที่มีการคลอดที่บ้านพบว่า การสนับสนุนให้มารดาได้เริ่มให้นมลูกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดในการคลอดที่บ้านจะพบต่ำกว่าในสถานพยาบาล ดังนั้น จะเห็นว่า หากมารดาต้องการให้ลูกมีโอกาสที่จะประสพความสำเร็จในการกินนมแม่ได้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดตามข้อแนะนำที่ตั้งไว้ขององค์การอนามัยโลก การวางแผนเลือกสถานที่ที่ฝากครรภ์และคลอดบุตรควรมีการวางแผนล่วงหน้าโดยเลือกสถานที่คลอดอย่างเหมาะสมที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Bergamaschi N, Oakley L, Benova L. Is childbirth location associated with higher rates of favourable early breastfeeding practices in Sub-Saharan Africa? J Glob Health 2019;9:010417.

 

 

 

การให้บิดาอาสาช่วยสอนการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า ความรู้และทัศนคติของบิดาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อการตัดสินใจและความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของครอบครัว ดังนั้น การสนับสนุนในเรื่องความรู้ ความสำคัญและความจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่บิดาจึงควรมีการจัดให้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการการเรียนรู้ขึ้น โดยควรมีการจัดตั้งแต่ในระยะที่มารดามาฝากครรภ์ สำหรับรูปแบบที่จัดอาจมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ให้ความรู้หรืออาจเป็นทีมอาสาสมัคร มีการศึกษาการใช้บิดาอาสาสมัครในการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า บิดาที่เข้าร่วมกิจกรรมเข้าร่วมสูงและมีความพึงพอใจในการจัดการอบรมให้ความรู้1 ดังนั้น การใช้บิดาอาสาอาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่บิดาทั่วไปในการสื่อสารที่ง่าย เป็นกันเองและมีการยอมรับที่ดีได้ ซึ่งจะช่วยเป็นหนทางหนึ่งในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kuliukas L, Hauck YL, Jorgensen A, et al. Process evaluation of a peer-led antenatal breastfeeding class for fathers: perceptions of facilitators and participants. BMC Pregnancy Childbirth 2019;19:48.

 

กิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกนมแม่อย่างเดียวหกเดือน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในกระบวนการที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนนั้นมีการศึกษาถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะมีผลช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ การจัดระบบโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก การจัดให้ความรู้แก่มารดาในครอบครัวในระยะต่าง ๆ การให้คำปรึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และผลของหลากหลายกิจกรรมที่สนับสนุนให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน มีผลการศึกษาจากการทบทวนอย่างเป็นระบบพบว่า ภาพรวมของกิจกรรมที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมีส่วนช่วยให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพิ่มขึ้น 2.77 เท่า1 ดังนั้น ในการรณรงค์เพื่อเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาในรายละเอียดว่าจากทบทวนอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะเลือกทำกิจกรรมที่เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนได้สูงในกรณีที่มีทรัพยากรจำกัด หรือจะทำการสนับสนุนในหลาย ๆ กิจกรรมเพื่อที่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมีโอกาสสูงขึ้นได้มากกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Kim SK, Park S, Oh J, Kim J, Ahn S. Corrigendum to “Interventions promoting exclusive breastfeeding up to six months after birth: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials” [Int. J. Nurs. Stud. 80 (April) (2018) 94-105]. Int J Nurs Stud 2019;89:132-7.

ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในสตรีสูงวัย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การที่ทารกได้กินนมแม่ประโยชน์นั้นมีทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ซึ่งผลในระยะยาวนั้น จะช่วยในเรื่องการป้องกันโรคอ้วนที่พบในวัยรุ่น ป้องกันเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางเมตาบอลิก และหลอดเลือดหัวใจ สำหรับเรื่องกระดูกและกล้ามเนื้อนั้น การศึกษาที่มียังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน บางรายงานพบว่ามีผลช่วยในเรื่องมวลกระดูก ขณะที่บางรายงานพบว่าเกิดผลเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกบาง อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาเพิ่มเติมขึ้นมาเรื่อย ๆ รวมทั้งผลของระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อภาวะมวลกล้ามเนื้อของทารกที่เมื่อเจริญเติบโต มีอายุเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งหากสตรีนั้นมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (sarcopenia) ก็จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ความเสี่ยงต่อการหกล้ม และมีข้อจำกัดในการปฏิบัติตัวในกิจกรรมที่อาจจะพบความเสี่ยงจากการหกล้มในชีวิตประจำวัน จากการศึกษาที่รายงานออกมาเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในสตรีสูงวัยได้ โดยพบภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยลดลงถึงร้อยละ 731 เมื่อทารกเจริญเข้าสู่วัยสูงอายุ ดังนั้น ผลประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจมีส่วนช่วยในการส่งเสริมให้สตรีสูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในยุคที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เอกสารอ้างอิง

  1. Kim JY, Kim DH, Kim YH, Shin HY. Associations of Breastfeeding Duration and Reproductive Factors with Sarcopenia in Elderly Korean Women: A Cross-Sectional Study from the Korea National Health and Nutrition Examination Survey 2010-2011. Korean J Fam Med 2019.