คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผู้ที่ดูแลการคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? บางครั้ง ก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผู้ที่ดูแลการคลอดว่าจะมีความแตกต่างกันไหม หากผู้คลอดคลอดโดยสูติแพทย์ แพทย์ทั่วไป หรือผดุงครรภ์เป็นผู้ช่วยคลอด คำถามนี้ได้รับการศึกษาหาคำตอบโดยมีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า หากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (จะทำหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยในชุมชนรวมทั้งการคลอดที่ไม่มีความซับซ้อน) หรือผดุงครรภ์เป็นผู้ดูแลการคลอด จะพบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่าราว 2 เท่าเมื่อเทียบกับมารดาที่ได้รับการดูแลการคลอดโดยสูติแพทย์ และหากผดุงครรภ์เป็นผู้ทำคลอดจะพบว่ามารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูงกว่าเมื่อมารดาได้รับการดูแลการคลอดโดยสูติแพทย์1 คำอธิบายในเรื่องนี้อาจมองได้สองด้าน คือ เชื่อว่าแพทย์ทั่วไปหรือผดุงครรภ์อาจให้เวลาหรือใส่ใจในการดูแลส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีหรือมากกว่าสูติแพทย์ที่จะมุ่งเน้นเรื่องการดูแลในเรื่องความซับซ้อนของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบในมารดาที่คลอด หรืออาจมองในอีกแง่หนึ่งคือ มารดาที่คลอดโดยสูติแพทย์มักมีความซับซ้อนของโรคที่มากกว่า ดังนั้นโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในกลุ่มนี้จึงลดลง สิ่งนี้มีความน่าสนใจและน่าศึกษาว่าความสัมพันธ์นี้จะเป็นอย่างไรในประเทศไทย และเหตุผลของการที่มารดาที่คลอดโดยสูติแพทย์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำกว่ามารดาที่ดูแลการคลอดโดยผดุงครรภ์ ซึ่งต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป การทราบคำตอบที่ได้จากการศึกษาจะเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดูแลและการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Masho SW. Association between Breastfeeding Duration and Type of Birth Attendant. J Pregnancy 2018;2018:7198513.

 

การใช้สมุนไพรเพื่อกระตุ้นน้ำนม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การแพทย์สมัยโบราณได้มีการกล่าวถึงการใช้สมุนไพรในการกระตุ้นน้ำนม ซึ่งพบทั้งในการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนจีน โดยพืชสมุนไพรของไทยที่เชื่อว่าสามารถกระตุ้นน้ำนมได้ ได้แก่ ใบกะเพรา กุยช่าย กานพลู ขิง มะรุม ใบแมงลัก พริกไทย หัวปลี ใบตำลึง และน้ำนมราชสีร์ ซึ่งการนำมาใช้สามารถทำเป็นอาหารให้แก่มารดาหลังคลอดตั้งแต่ในระยะแรกเพื่อกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็วและมามาก อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยที่เป็นรูปแบบที่ได้รับการยอมรับของสมุนไพรเหล่านี้ยังขาดข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ จะมีข้อมูลก็เฉพาะขิง ที่มีการใช้ขิงเม็ดที่กระตุ้นน้ำนมและมีการวัดปริมาณน้ำนม พบว่ามีน้ำนมเพิ่มมากขึ้นในสัปดาห์แรก1 หลังจากนั้นไม่มีความแตกต่างกัน ข้อมูลนี้น่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ของไทยและประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจที่อาจต่อยอดนำไปใช้ในการส่งออก โดยระบุข้อบ่งใช้อย่างหนึ่งของขิงเม็ดคือ การกระตุ้นน้ำนม ซึ่งหากมีการเผยแพร่ทางการตลาดที่ดีก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในรายได้ของประเทศได้ เมื่อดูตัวอย่างจากการพัฒนาการใช้สมุนไพรจีนในการกระตุ้นน้ำนม จะมียาเม็ดกระตุ้นน้ำนมที่ชื่อว่า Zengru Gao ซึ่งมีสมุนไพรหลักคือ เมล็ดของ Vaccaria segetalis และ Medulla Tetrapanacis2 และได้มีการศึกษาวิจัยตีพิมพ์โดยมีรายงานว่าสามารถกระตุ้นน้ำนมได้ในช่วงสัปดาห์แรกเช่นเดียวกับขิงเม็ด ซึ่งทางองค์การอาหารและยาของจีนรับรองสรรพคุณในข้อบ่งชี้สำหรับการกระตุ้นน้ำนม และมีการวางขายได้ในร้านของยา ซึ่งหากมองดูขิงเม็ดของไทย การพัฒนาต่อยอดให้สามารถได้รับการยอมรับในสรรพคุณการกระตุ้นน้ำนมก็น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับแล้วและไม่พบผลเสียหรือผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายใด ๆ อนาคตการพัฒนาสมุนไพรจะได้มีการยกระดับขึ้นไม่เพียงแต่การใช้ในประเทศไทย ยังรวมถึงการนำไปใช้ในระดับนานาชาติ ในยุคการเดินทางหรือสื่อสารไร้พรมแดน

เอกสารอ้างอิง

  1. Paritakul P, Ruangrongmorakot K, Laosooksathit W, Suksamarnwong M, Puapornpong P. The Effect of Ginger on Breast Milk Volume in the Early Postpartum Period: A Randomized, Double-Blind Controlled Trial. Breastfeed Med 2016;11:361-5.
  2. Wang S, Zhang C, Li C, et al. Efficacy of Chinese herbal medicine Zengru Gao to promote breastfeeding: a multicenter randomized controlled trial. BMC Complement Altern Med 2018;18:53.

 

ความเข้าใจเรื่องทารกเสียชีวิตจากการขาดอาหารที่เหมาะสม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ทารกที่คลอดออกมามักจะเสียชีวิตตั้งแต่ในระยะแรกจากอาการท้องเสีย ซึ่งในยุคนั้นความนิยมในการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกและค่านิยมในการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกยังมีอยู่สูงและยังแสดงถึงฐานะที่ดีของครอบครัวนั้น ๆ เมื่อปัญหาการเสียชีวิตของทารกเกิดจากอาการท้องเสีย แนวทางในการแก้ไขปัญหาขณะนั้นก็คือ การพยาบาลสร้างสาธารณูปโภคที่จะทำให้มีน้ำที่สะอาดที่จะนำมาใช้ในการชงนมให้ทารก ดังนั้น ความคิดจึงมุ่งไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิตเนื่องจากการขาดอาหารที่เหมาะสมโดยยังขาดความคำนึงถึงการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นอาหารที่เหมาะสม สะอาด และดีที่สุดสำหรับทารก สิ่งนี้สะท้อนถึงการมองปัญหาเพียงด้านเดียว คือ เมื่อทารกกินนมผง ขาดน้ำสะอาดในการชงนม การแก้ไขจึงต้องพยายามที่จะสร้างหรือสรรหาน้ำสะอาดมาชงนม1 จนผ่านมาในช่วง 50 ปีหลัง มุมมองทางด้านความคิดและอาหารทารกจึงเริ่มจะปรับทัศนคติหรือมุมมองใหม่ คือ เมื่อทารกเสียชีวิตจากท้องเสีย ควรเลือกอาหารที่ดีและเหมาะสมกับทารกที่สุดคือนมแม่ก่อนการคิดแก้ปัญหาเรื่องน้ำสะอาดที่ใช้ชงนมผง ดังนั้น การสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเริ่มมาเฟื่องฟูมากกว่าในยุคหลัง อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์นี้ได้สอนให้เราควรมีมุมมองของการแก้ปัญหาที่รอบคอบ เลือกตั้งคำถามหรือปัญหาที่เผชิญอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้การแก้ปัญหาหรือบรรลุอุปสรรคต่าง ๆ ทำได้โดยตรง ไม่วกวนและอ้อมค้อมอย่างบทเรียนปัญหาอาการท้องเสียที่ทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่ในระยะแรก

เอกสารอ้างอิง

  1. Wolf JH. “They Lacked the Right Food”: A Brief History of Breastfeeding and the Quest for Social Justice. J Hum Lact 2018;34:226-31.

ประสบการณ์ส่วนตัวของพยาบาลช่วยการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? อาชีพพยาบาลนั้น เมื่อมีครอบครัวและมีบุตร ส่วนใหญ่แม้มีความรู้จากการร่ำเรียนมากในอดีตและประสบการณ์ในการทำงาน แต่เมื่อต้องมีปฏิบัติหน้าที่แม่เต็มตัว รับผิดชอบดูแลบุตรของตนเอง รวมทั้งการให้นมลูก จะทำให้มีความเข้าใจและความซาบซึ้งใจในการปฏิบัติงานในบทบาทของมารดา เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคในการที่จะบรรลุเป้าหมายในการให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนมากขึ้น ดังนั้น เมื่อต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประสบการณ์ส่วนตัวนี้จะช่วยในการที่มารดาจะมีความเข้าใจในจิตใจของมารดาที่ให้นมลูก การอธิบาย การพูดจา รวมทั้งการสร้างให้มารดามีความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ก็จะทำได้ดีจากต้นทุนประสบการณ์ตรงเหล่านี้1 นี่ก็อาจเป็นประโยชน์ข้อหนึ่งจากการที่เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์จากชีวิตจริง และนำความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์นั้น ๆ มีถ่ายทอดและสร้างประโยชน์แก่มารดาหรือผู้ป่วยอื่น ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เสริมจากความรู้หรือประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Wright AI, Hurst NM. Personal Infant Feeding Experiences of Postpartum Nurses Affect How They Provide Breastfeeding Support. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2018.

ลดการผ่าตัดคลอดช่วยให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีขึ้นไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดสูงขึ้นทั้งในโรงพยาบาลของภาครัฐและเอกชน จากในอดีตอัตราการผ่าตัดคลอดจะอยู่ราวร้อยละ 30-40 ขณะที่ในปัจจุบันพบราวร้อยละ 60-90 การผ่าตัดคลอดนั้น มารดาต้องใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือ และวัสดุทางการแพทย์ที่มากกว่า จึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า รวมทั้งมารดาต้องได้รับการให้ยาระงับความรู้สึก ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมารดาและทารก และภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้นหลังคลอดและในการให้นมบุตร ซึ่งเมื่อมาดูถึงผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาที่ผ่าตัดคลอดจะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกไม่สำเร็จสูงขึ้นเกือบถึง 2 เท่า และมีความเสี่ยงในการที่จะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า 1.5 เท่า สำหรับผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็มีผลเช่นกัน มารดาที่ผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึงหกเดือนเพิ่มขึ้น 1.5-1.7 เท่า1 หากกล่าวโดยสรุปการผ่าตัดคลอดมีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นเมื่ออัตราการผ่าตัดคลอดสูงจึงเป็นเสมือนอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันรณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนในสังคมให้เกิดค่านิยมการผ่าตัดคลอดเฉพาะที่มีข้อบ่งชี้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศและช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Wu Y, Wang Y, Huang J, et al. The association between caesarean delivery and the initiation and duration of breastfeeding: a prospective cohort study in China. Eur J Clin Nutr 2018.