อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผู้ที่ดูแลการคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? บางครั้ง ก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผู้ที่ดูแลการคลอดว่าจะมีความแตกต่างกันไหม หากผู้คลอดคลอดโดยสูติแพทย์ แพทย์ทั่วไป หรือผดุงครรภ์เป็นผู้ช่วยคลอด คำถามนี้ได้รับการศึกษาหาคำตอบโดยมีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า หากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (จะทำหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยในชุมชนรวมทั้งการคลอดที่ไม่มีความซับซ้อน) หรือผดุงครรภ์เป็นผู้ดูแลการคลอด จะพบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่าราว 2 เท่าเมื่อเทียบกับมารดาที่ได้รับการดูแลการคลอดโดยสูติแพทย์ และหากผดุงครรภ์เป็นผู้ทำคลอดจะพบว่ามารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูงกว่าเมื่อมารดาได้รับการดูแลการคลอดโดยสูติแพทย์1 คำอธิบายในเรื่องนี้อาจมองได้สองด้าน คือ เชื่อว่าแพทย์ทั่วไปหรือผดุงครรภ์อาจให้เวลาหรือใส่ใจในการดูแลส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีหรือมากกว่าสูติแพทย์ที่จะมุ่งเน้นเรื่องการดูแลในเรื่องความซับซ้อนของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบในมารดาที่คลอด หรืออาจมองในอีกแง่หนึ่งคือ มารดาที่คลอดโดยสูติแพทย์มักมีความซับซ้อนของโรคที่มากกว่า ดังนั้นโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในกลุ่มนี้จึงลดลง สิ่งนี้มีความน่าสนใจและน่าศึกษาว่าความสัมพันธ์นี้จะเป็นอย่างไรในประเทศไทย และเหตุผลของการที่มารดาที่คลอดโดยสูติแพทย์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำกว่ามารดาที่ดูแลการคลอดโดยผดุงครรภ์ ซึ่งต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป การทราบคำตอบที่ได้จากการศึกษาจะเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดูแลและการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Masho SW. Association between Breastfeeding Duration and Type of Birth Attendant. J Pregnancy 2018;2018:7198513.