คลังเก็บป้ายกำกับ: อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในประเทศไทย

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศในทวีปยุโรป

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               มีการสำรวจอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศในแถบทวีปยุโรปพบว่า มีความหลากหลายของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดตั้งแต่ร้อยละ 56-98 อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกเดือนร้อยละ 38-71 ขณะที่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่หกเดือนพบร้อยละ 13-39 ซึ่งภาพรวมก็ยังต่ำกว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนที่มีเป้าหมายร้อยละ 50 ที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าไว้ โดยพบว่ามี 6 ประเทศจาก 11 ประเทศมีแผนการปกป้องและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ในแผนพัฒนาประเทศ1 การติดตามดู วิเคราะห์ และใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อมาเปรียบเทียบในเรื่องแนวทางการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศในทวีปยุโรป อาจนำมาปรับใช้ในประเทศไทยที่ยังมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่ยังต่ำ ซึ่งการนำมาใช้ต้องคำนึงถึงพื้นฐานเชื้อชาติ สังคมและวัฒนธรรมของประชชากรในประเทศไทยที่อยู่ในทวีปเอเซียที่ยังมีความแตกต่างกันด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Theurich MA, Davanzo R, Busck-Rasmussen M, et al. Breastfeeding Rates and Programs in Europe: A Survey of 11 National Breastfeeding Committees and Representatives. J Pediatr Gastroenterol Nutr 2019;68:400-7.

 

 

 

 

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผู้ที่ดูแลการคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? บางครั้ง ก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผู้ที่ดูแลการคลอดว่าจะมีความแตกต่างกันไหม หากผู้คลอดคลอดโดยสูติแพทย์ แพทย์ทั่วไป หรือผดุงครรภ์เป็นผู้ช่วยคลอด คำถามนี้ได้รับการศึกษาหาคำตอบโดยมีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า หากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (จะทำหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยในชุมชนรวมทั้งการคลอดที่ไม่มีความซับซ้อน) หรือผดุงครรภ์เป็นผู้ดูแลการคลอด จะพบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่าราว 2 เท่าเมื่อเทียบกับมารดาที่ได้รับการดูแลการคลอดโดยสูติแพทย์ และหากผดุงครรภ์เป็นผู้ทำคลอดจะพบว่ามารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูงกว่าเมื่อมารดาได้รับการดูแลการคลอดโดยสูติแพทย์1 คำอธิบายในเรื่องนี้อาจมองได้สองด้าน คือ เชื่อว่าแพทย์ทั่วไปหรือผดุงครรภ์อาจให้เวลาหรือใส่ใจในการดูแลส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีหรือมากกว่าสูติแพทย์ที่จะมุ่งเน้นเรื่องการดูแลในเรื่องความซับซ้อนของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบในมารดาที่คลอด หรืออาจมองในอีกแง่หนึ่งคือ มารดาที่คลอดโดยสูติแพทย์มักมีความซับซ้อนของโรคที่มากกว่า ดังนั้นโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในกลุ่มนี้จึงลดลง สิ่งนี้มีความน่าสนใจและน่าศึกษาว่าความสัมพันธ์นี้จะเป็นอย่างไรในประเทศไทย และเหตุผลของการที่มารดาที่คลอดโดยสูติแพทย์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำกว่ามารดาที่ดูแลการคลอดโดยผดุงครรภ์ ซึ่งต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป การทราบคำตอบที่ได้จากการศึกษาจะเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดูแลและการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Masho SW. Association between Breastfeeding Duration and Type of Birth Attendant. J Pregnancy 2018;2018:7198513.

 

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงในทารกที่ส่องไฟ

IMG_1467

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ทารกตัวเหลืองเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของทารกแรกเกิดในระยะหลังเกิด สาเหตุของการเกิดทารกตัวเหลืองมีหลายสาเหตุ ได้แก่ การที่หมู่เลือดมารดาและทารกไม่เข้ากัน ภาวะ G6PD การติดเชื้อ และการกินนมแม่ที่ไม่เพียงพอ วิธีการดูแลรักษาที่นิยมใช้ในการรักษาทารกตัวเหลือง คือ การส่องไฟ ซึ่งความถี่ของแสงที่พอเหมาะจะช่วยในการเปลี่ยนแปลงบิลลิรูบินที่เป็นสารเหลือง ทำให้ร่างกายทารกสามารถกำจัดสารเหลืองออกจากร่างกายได้ดีขึ้น แต่มีการศึกษาพบว่า การที่ทารกส่องไฟในการรักษาภาวะตัวเหลืองมีความสัมพันธ์กับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 4 เดือนแรก1 โดยสาเหตุของการที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ลดลง อาจเป็นจากทารกจำเป็นต้องแยกไปส่องไฟรักษาภาวะตัวเหลืองหรือความวิตกกังวลของมารดาจากการที่ทารกตัวเหลือง ซึ่งหากบุคลากรทางการแพทย์ทราบถึงความเสี่ยงนี้ เอาใจใส่ ให้ความเข้าใจ และย้ำเตือนให้ทราบถึงประโยชน์ของนมแม่ อาจช่วยให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Waite WM, Taylor JA. Phototherapy for the Treatment of Neonatal Jaundice and Breastfeeding Duration and Exclusivity. Breastfeed Med 2016;11:180-5.

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในไทยต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

BF in southeast asia

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในสภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีการแข่งขันสูง ครอบครัวต้องดิ้นรน ทั้งสามีและภรรยาต้องทำงานนอกบ้าน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจจะมองเป็นเรื่องรอง ทั้งๆ ที่ความจริง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้มากกว่า จากทั้งค่านมผงดัดแปลงสำหรับทารกและภูมิคุ้มกันที่ช่วยสร้างสุขภาพที่ดีให้กับทารก ทำให้เจ็บป่วยน้อยและลดภาระค่ารักษาพยาบาลของทารก จากการสำรวจขององค์การยูนิเซฟในปี พ.ศ.2551-2555 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก เนื่องจากการให้ลูกได้กินนมแม่เป็นรากฐานของการพัฒนาประชากรที่มีความคุ้มค่ามากที่สุดในการลงทุน ดังนั้น การช่วยกันรณรงค์สร้างสังคมที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคมไทยจึงต้องเป็นหน้าที่ของทุกๆ คนที่จะช่วยให้เด็กไทยได้กินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. UNICEF, Alive &thrive. Cost of not breastfeeding.

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในประเทศไทย

00025-1-1-l-small

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เป็นที่ทราบกันดีว่า องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาอย่างต่อเนื่อง และได้ตั้งเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนไว้ที่ร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2025 ในปัจจุบันอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนโดยภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 39

? ? ? ? ? ? ? ?สำหรับในประเทศไทยปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ.2547 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบาย แนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน และตั้งเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2544-2549) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) ไว้ว่า ทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนอย่างน้อยร้อยละ 30 ?แต่จากการติดตามผลการดำเนินการเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อยสี่เดือนในปี 2536-2544 พบตั้งแต่ร้อยละ 1.0-16.31 ในปี พ.ศ.2549 องค์กรยูนิเซฟสำรวจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยพบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนร้อยละ 5.4 ในปี พ.ศ.2552 จากการสำรวจอนามัยการเจริญพันธุ์ (National Reproductive Health Survey) ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศพบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนร้อยละ 15.52

? ? ? ? ? ? และในปี พ.ศ. 2555 องค์กรยูนิเซฟได้มีการสำรวจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนในประเทศไทยซ้ำ พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนเท่ากับร้อยละ 12.3 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมในปี พ.ศ.2549 จะเห็นว่าตัวเลขของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและไม่บรรลุเป้าหมาย แต่จากข้อมูลของกรมอนามัยในปี พ.ศ.2555 อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนเท่ากับร้อยละ 47.5 โดยข้อมูลนี้เป็นข้อมูลจากฐานข้อมูลในโรงพยาบาลซึ่งจะมีความแตกต่างจากข้อมูลที่สำรวจในชุมชน ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ได้ตั้งเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนร้อยละ 50 ซึ่งขยับเป้าหมายสูงขึ้น การจะบรรลุเป้าหมายนี้เป็นสิ่งท้าทายที่จำเป็นต้องความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมทั้งความตื่นตัวของกระแสสังคมและการสนับสนุนในด้านนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Manolerdthewan W, Raungrongmorakot K, Ketsuwan S, Wongin S. Factor effecting on breastfeeding success in infants up to 6 month of age in Nakhon Nayok province. J Med Health Sci 2009;16:116-23.
  2. Kongsri S, Limwattananon S, Sirilak S, Prakongsai P, Tangcharoensathien V. Equity of access to and utilization of reproductive health services in Thailand: national Reproductive Health Survey data, 2006 and 2009. Reprod Health Matters 2011;19:86-97.