การใช้สมุนไพรเพื่อกระตุ้นน้ำนม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การแพทย์สมัยโบราณได้มีการกล่าวถึงการใช้สมุนไพรในการกระตุ้นน้ำนม ซึ่งพบทั้งในการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนจีน โดยพืชสมุนไพรของไทยที่เชื่อว่าสามารถกระตุ้นน้ำนมได้ ได้แก่ ใบกะเพรา กุยช่าย กานพลู ขิง มะรุม ใบแมงลัก พริกไทย หัวปลี ใบตำลึง และน้ำนมราชสีร์ ซึ่งการนำมาใช้สามารถทำเป็นอาหารให้แก่มารดาหลังคลอดตั้งแต่ในระยะแรกเพื่อกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็วและมามาก อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยที่เป็นรูปแบบที่ได้รับการยอมรับของสมุนไพรเหล่านี้ยังขาดข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ จะมีข้อมูลก็เฉพาะขิง ที่มีการใช้ขิงเม็ดที่กระตุ้นน้ำนมและมีการวัดปริมาณน้ำนม พบว่ามีน้ำนมเพิ่มมากขึ้นในสัปดาห์แรก1 หลังจากนั้นไม่มีความแตกต่างกัน ข้อมูลนี้น่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ของไทยและประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจที่อาจต่อยอดนำไปใช้ในการส่งออก โดยระบุข้อบ่งใช้อย่างหนึ่งของขิงเม็ดคือ การกระตุ้นน้ำนม ซึ่งหากมีการเผยแพร่ทางการตลาดที่ดีก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในรายได้ของประเทศได้ เมื่อดูตัวอย่างจากการพัฒนาการใช้สมุนไพรจีนในการกระตุ้นน้ำนม จะมียาเม็ดกระตุ้นน้ำนมที่ชื่อว่า Zengru Gao ซึ่งมีสมุนไพรหลักคือ เมล็ดของ Vaccaria segetalis และ Medulla Tetrapanacis2 และได้มีการศึกษาวิจัยตีพิมพ์โดยมีรายงานว่าสามารถกระตุ้นน้ำนมได้ในช่วงสัปดาห์แรกเช่นเดียวกับขิงเม็ด ซึ่งทางองค์การอาหารและยาของจีนรับรองสรรพคุณในข้อบ่งชี้สำหรับการกระตุ้นน้ำนม และมีการวางขายได้ในร้านของยา ซึ่งหากมองดูขิงเม็ดของไทย การพัฒนาต่อยอดให้สามารถได้รับการยอมรับในสรรพคุณการกระตุ้นน้ำนมก็น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับแล้วและไม่พบผลเสียหรือผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายใด ๆ อนาคตการพัฒนาสมุนไพรจะได้มีการยกระดับขึ้นไม่เพียงแต่การใช้ในประเทศไทย ยังรวมถึงการนำไปใช้ในระดับนานาชาติ ในยุคการเดินทางหรือสื่อสารไร้พรมแดน

เอกสารอ้างอิง

  1. Paritakul P, Ruangrongmorakot K, Laosooksathit W, Suksamarnwong M, Puapornpong P. The Effect of Ginger on Breast Milk Volume in the Early Postpartum Period: A Randomized, Double-Blind Controlled Trial. Breastfeed Med 2016;11:361-5.
  2. Wang S, Zhang C, Li C, et al. Efficacy of Chinese herbal medicine Zengru Gao to promote breastfeeding: a multicenter randomized controlled trial. BMC Complement Altern Med 2018;18:53.