คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

การจัดหลักสูตรสอนพ่อเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

S__38207875

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ความเร่งรีบของชีวิตในเมือง สามีและภรรยาต้องทำงานด้วยกันทั้งคู่ บางครั้งอาจส่งผลต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรได้ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาโดยให้พ่อมาเข้าอบรมหลักสูตรเพื่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สัปดาห์ละหนึ่งครั้งต่อเนื่องกันสามสัปดาห์ พบว่า การที่พ่อของลูกมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญ ประโยชน์ และกระบวนการที่จะช่วยมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลดีต่อความตั้งใจในการที่จะสนับสนุนมารดาให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์ต่อไป1 โดยพ่อที่อบรมในสัปดาห์ที่หนึ่งถึงสามตั้งใจจะให้ลูกคนต่อไปกินนมแม่ร้อยละ 80-89 ดังนั้น จะเห็นว่า แม้ในสังคมเมืองที่มีชีวิตที่ยุ่งยาก ประโยชน์ของความรู้ความเข้าใจเรื่องนมแม่ของพ่อซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำครอบครัวอาจช่วยสร้างความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่มารดาได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Furman L, Killpack S, Matthews L, Davis V, O’Riordan MA. Engaging Inner-City Fathers in Breastfeeding Support. Breastfeed Med 2016;11:15-20.

 

 

มารดาเป็นความดันโลหิตสูง ให้ลูกกินนมแม่ได้ไหม

S__45850772

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ปัจจุบัน การแต่งงานของสตรีช้าลง สตรีตั้งครรภ์ในอายุที่มากขึ้น หนึ่งในโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่มักพบเมื่ออายุมากขึ้นคือ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งผลของโรคหรือการรักษาต่อการให้นมลูกไม่ได้มีผลเสียใดๆ แต่ควรมีการเลือกใช้ยาในระยะให้นมลูกอย่างเหมาะสม ยาที่ควรเลือกใช้ก่อน ได้แก่ ยา methydopa ยา labetalol และยา hydralazine ในกรณีที่มารดามีความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์หรือมีอาการครรภ์เป็นพิษ หากจำเป็นต้องกินยาลดความดันในระยะที่ตั้งครรภ์หรือในระยะคลอด หลังคลอดราวหกสัปดาห์ส่วนใหญ่ความดันโลหิตของมารดาจะกลับคืนสู่ค่าปกติ ซึ่งจะหยุดยาลดความดันโลหิตสูงได้ อย่างไรก็ตามในมารดาเหล่านี้จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคของหลอดเลือดและหัวใจได้ในอนาคต ดังนั้น การแจ้งให้มารดาทราบและติดตามมารดาในระยะยาวถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น จะทำให้การวินิจฉัยและรักษาทำได้อย่างเหมาะและตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.

 

มารดาเป็นไมเกรน ให้ลูกกินนมแม่ได้ไหม

IMG_0700

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?อาการไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะที่เกิดจากเส้นเลือดขยายตัว ตัวโรคไม่ได้มีผลต่อการให้นมลูก แต่สำหรับการรักษา ยาแก้ปวดอะเซตามิโนเฟนหรือชื่อที่มีความคุ้นเคยคือพาราเซตามอลและยา ibuprofen สามารถให้ได้ ยาที่ช่วยลดการกำเริบของอาการในกลุ่มยาต้านภาวะซึมเศร้าสามารถให้ได้ แต่สำหรับในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือจำเป็นต้องยา ergotamine หรือชื่อการค้าที่คุ้นเคยคือ cafergot?ซึ่งเป็นยาที่ใช้บ่อยในการรักษาไมเกรนอาจทำให้น้ำนมลดลงได้ อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ใช้ยาบ่อย และมีการสนับสนุนช่วยมารดาในการดูแลทารก ลดความเครียด ให้มารดาได้พักผ่อนที่เพียงพอ น่าจะป้องกันอาการของไมเกรนและลดความจำเป็นในการใช้ยา ทำให้มารดาสามารถให้นมลูกได้โดยสบายใจไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องผลของการใช้ยาต่อทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.

 

 

มารดาเป็นหอบหืด ลูกกินนมแม่ดีไหม

S__45850764

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?มารดาที่เป็นหอบหืด อาจมีคำถามหรือข้อสงสัยว่า จะให้ลูกกินนมแม่ดีหรือไม่ ลูกจะติดหอบหืดจากการกินนมแม่หรือไม่ และหากมารดาต้องกินยาหรือรักษาหอบหืด ลูกที่กินนมแม่จะมีอันตรายไหม

? ? ? ? ? ? ?โรคหอบหืด เป็นโรคที่ส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากพันธุกรรมกับอีกส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนที่สามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ส่งเสริมและช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้และหอบหืดในทารก ดังนั้น การสนับสนุนให้ลูกกินนมแม่จะเป็นผลดีในการป้องกันหรือลดการเกิดหอบหืด และแน่นอนการกินนมแม่ไม่ได้ทำให้ลูกติดหอบหืด สำหรับการที่มารดาต้องกินยาหรือรักษาอาการหอบหืด? ยาที่มารดาได้รับมักจะเป็นยาชนิดพ่นเข้าทางเดินหายใจและยาชนิดรับประทาน ซึ่งใช้ได้อย่างปลอดภัยในการให้นมลูก บุคลากรทางการแพทย์จึงควรส่งเสริมให้ลูกกินนมแม่โดยเฉพาะในมารดาที่เป็นหอบหืด

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd ?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.

 

มารดาเป็นไข้หวัดใหญ่ จะให้นมลูกได้ไหม

S__38207880

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ?ในช่วงหน้าหนาว หรืออากาศเย็น การระบาดของไข้หวัดใหญ่จะพบได้ อาการของไข้หวัดใหญ่ มารดาจะมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว มีน้ำมูก ไอ หรือจาม ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยทั่วไปจะให้การรักษาด้วยยาตามอาการและอาการต่างๆ จะค่อยๆ หายไปเอง การติดต่อของไข้หวัดใหญ่เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสจากการไอหรือจามของผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ผ่านละอองน้ำขนาดเล็ก ซึ่งหากร่างกายอ่อนแอ เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายอาจป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ ดังนั้น มารดาควรใช้ผ้าปิดปากป้องกันการไอหรือจามใส่ทารก ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนการให้นมทารก การให้นมแม่ยังสามารถทำได้ การใช้ยาลดหรือบรรเทาอาการ ควรหลีกเลี่ยงยาที่ลดอาการคัดจมูกและยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูกที่อาจทำให้มีผลลดการสร้างน้ำนม และอาจทำให้ทารกง่วงซึมได้ ยาต้านไวรัสหากมีความจำเป็น สามารถรับประทานได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะของสารพันธุกรรมของไวรัส ได้แก่ เชื้อไข้หวัดใหญ่ H1N1 ซึ่งการดูแลรักษาและการให้นมบุตรสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.