คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

การใช้สมุดบันทึกของมารดาช่วยในการเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_1734

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ??การบันทึกข้อมูลจะมีความถูกต้องมากกว่าการจดจำเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกันกับการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การใช้สมุดบันทึกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (breastfeeding diaries) จะช่วยให้แพทย์ได้รับรู้และเรียนรู้มากขึ้นโดยเฉพาะการบันทึกข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนหรือมีความซับซ้อน ซึ่งนอกจากจะช่วยในการวางแผนการให้การดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสมแล้ว ยังช่วยในเรื่องการเก็บข้อมูลเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วย1 ดังนั้น การเอาใจใส่ของแพทย์ที่ทำสมุดบันทึกการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้กับมารดา และการที่มารดาเห็นความสำคัญของการบันทึกข้อมูล จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปในอนาคตได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Hinsliff-Smith K, Spencer R. Researcher perspectives from a study of women’s experiences of breastfeeding. Nurse Res 2016;23:13-7.

 

ใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอลระหว่างท้องอาจเสี่ยงต่อพฤติกรรมผิดปกติในทารก

IMG_9372

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???การช่างสังเกตและเอาใจใส่กับความผิดปกติทางพฤติกรรมของทารกเมื่อเจริญเติบโตขึ้น ได้แก่ การอยู่ไม่สุก ไม่ค่อยมีสมาธิ มีอารมณ์ที่รุนแรง ไม่เหมาะสมพบเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับการใช้ยา โดยในระหว่างที่ตั้งครรภ์มารดามีการใช้ยาที่หลากหลาย แต่หนึ่งในยาที่พบว่ามีการใช้บ่อยที่สุดตัวหนึ่งคือ ยาพาราเซตามอล ซึ่งเมื่อมีการศึกษาโดยการเก็บข้อมูลการใช้ยาในระหว่างการตั้งครรภ์ไตรมาสที่สองและที่สาม พบว่าการใช้ยาพาราเซตามอลมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของทารกที่ผิดปกติเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น เช่น การมีลักษณะที่อยู่ไม่สุก และมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ที่พบสูงมากขึ้น โดยการใช้ยาในช่วงไตรมาสที่สามจะมีความเสี่ยงมากกว่าการใช้ยาในช่วงไตรมาสที่สอง และความเสี่ยงนี้ยังคงพบเมื่อตัดตัวแปรกวนที่มีผลต่อพฤติกรรมที่ผิดปกติออกแล้ว1 คำถามที่ตามมา คือ ยาพาราเซตามอลยังสามารถเลือกใช้ในมารดาที่ตั้งครรภ์ได้หรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมให้ได้ข้อมูลที่มากพอที่จะสรุปผล รวมตั้งศึกษาและอธิบายถึงกลไกที่ทำให้เกิดความผิดปกติของพฤติกรรมของทารกเมื่อเจริญเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการใช้ยา หลักของการเลือกใช้คือ หากชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้นแล้ว ข้อดีมีมากกว่าข้อเสีย การใช้ยาตัวนั้นก็อาจได้รับการพิจารณาให้ใช้ได้ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์และการตัดสินใจของมารดาและครอบครัวที่รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน

เอกสารอ้างอิง

  1. Stergiakouli E, Thapar A, Davey Smith G. Association of Acetaminophen Use During Pregnancy With Behavioral Problems in Childhood: Evidence Against Confounding. JAMA Pediatr 2016.

ความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะระหว่างมารดามีเต้านมอักเสบ

S__38208108

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???การใช้ยาปฏิชีวนะในระหว่างการให้นมบุตรในขณะที่มารดามีเต้านมอักเสบนั้นควรเลือกใช้อย่างสมเหตุสมผล การใช้ยาปฏิชีวนะจะมีประโยชน์หากมีการติดเชื้อที่เต้านมและทำให้เต้านมอักเสบ หรือมีการอักเสบของเต้านมอยู่ก่อนและมีภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมเข้าไปด้วย เนื่องจากบางส่วนของการอักเสบของเต้านมเกิดจากการคั่งจากการขังของน้ำนมไปกดเบียดทำลายเยื่อบุผิวแล้วกระตุ้นกลไกที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยยังไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย โดยจะเห็นได้จากผลของการศึกษาการใช้ยาปฏิชีวนะในระหว่างที่มารดาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเต้านมอักเสบที่พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันของผลการรักษาระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะกับไม่ใช้ แต่จะใช้การช่วยระบายน้ำนมที่คั่งหรือขังเป็นหลักแทน1 ดังนั้น การที่แพทย์จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะในมารดาที่มีภาวะเต้านมอักเสบ ควรพิจารณาให้ในมารดาที่มีความเสี่ยงจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย โดยดูจากการมีไข้สูงนานเกิน 24 ชั่วโมง มารดามีแผลอักเสบและติดเชื้อที่หัวนม หรือในกรณีที่ให้การรักษาโดยการช่วยระบายน้ำนมออกจากเต้านมแล้วไม่ดีขึ้น ซึ่งเป็นข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการเลือกใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล

เอกสารอ้างอิง

  1. Jahanfar S, Ng CJ, Teng CL. Antibiotics for mastitis in breastfeeding women. Sao Paulo Med J 2016;134:273.

มารดาที่อ้วนจะมีโอกาสที่จะหยุดการให้นมแม่เร็วมากกว่า

S__38208114

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???การที่มารดาอ้วน ในระหว่างการตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงหลายอย่าง ได้แก่ การเกิดเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ และการมีความดันโลหิตสูง ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสที่จะได้รับการผ่าตัดคลอดสูงขึ้น การที่มารดาได้รับการผ่าตัดคลอดมักเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า และจากการที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานมากขึ้น ระดับอินสุลินที่สูงขึ้นจะมีผลทำให้เกิดการล่าช้าของการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมมาช้า อันนี้ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มารดากังวล และนำมาซึ่งการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า หากเริ่มใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก จะทำให้ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นลง ดังนั้น การที่มารดามีภาวะอ้วนจึงเป็นความเสี่ยงสำหรับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาที่เหมาะสม1,2 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและเอาใจใส่ในการติดตามมารดากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำปรึกษาที่เหมาะสมที่จะช่วยลดปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ในการจะสนับสนุนให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนครบหกเดือนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kair LR, Colaizy TT. When Breast Milk Alone Is Not Enough: Barriers to Breastfeeding Continuation among Overweight and Obese Mothers. J Hum Lact 2016;32:250-7.
  2. Kair LR, Colaizy TT. Obese Mothers have Lower Odds of Experiencing Pro-breastfeeding Hospital Practices than Mothers of Normal Weight: CDC Pregnancy Risk Assessment Monitoring System (PRAMS), 2004-2008. Matern Child Health J 2016;20:593-601.

การใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกจะทำให้ระยะของเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้น

IMG_1691

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???นมผงดัดแปลงสำหรับทารกเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสังคมตั้งแต่ยุคที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเทียบได้กับในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นของไทย เมื่อประเทศไทยได้มีการค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงค่านิยมการให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ที่เป็นค่านิยมที่บ่งถึงฐานะของผู้ที่สามารถจะให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกได้ว่า ??เป็นผู้ที่มีอันจะกินหรือมีฐานะที่ร่ำรวย? ทั้งๆ ที่รากฐานของการผลิตนมผงดัดแปลงสำหรับทารกคือการพยายามเลียนแบบนมแม่ และโฆษณาว่ามีการใส่สารต่างๆ ที่มีอยู่ในนมแม่อยู่แล้วให้ผู้รับฟังข้อมูลรู้สึกว่ามีความแตกต่างกันในนมแต่ละยี่ห้อ ค่านิยมที่ผิดนี้ ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงทั่วโลก อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดสูงขึ้นจากการไม่ได้กินนมแม่ที่มีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ ท้องเสีย และการติดเชื้อทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่า เมื่อมีการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกแล้ว มารดาจะหยุดให้ลูกกินนมแม่ก่อนระยะเวลาที่เหมาะสม นั่นคือให้นมแม่ในระยะเวลาที่สั้นลง1 ดังนั้น องค์การอนามัยโลกร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วนจึงร่วมมือกันรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ร่วมกันการปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพยายามให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการร่วมแบ่งปันข้อมูลให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวาง และสร้างวัฒนธรรมค่านิยมที่ดีในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แทน

เอกสารอ้างอิง

  1. Kearns AD, Castro MC, Lourenco BH, Augusto RA, Cardoso MA, Team AS. Factors Associated with Age at Breastfeeding Cessation in Amazonian Infants: Applying a Proximal-Distal Framework. Matern Child Health J 2016;20:1539-48.