คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

การให้บิดาอาสาช่วยสอนการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า ความรู้และทัศนคติของบิดาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อการตัดสินใจและความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของครอบครัว ดังนั้น การสนับสนุนในเรื่องความรู้ ความสำคัญและความจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่บิดาจึงควรมีการจัดให้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการการเรียนรู้ขึ้น โดยควรมีการจัดตั้งแต่ในระยะที่มารดามาฝากครรภ์ สำหรับรูปแบบที่จัดอาจมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ให้ความรู้หรืออาจเป็นทีมอาสาสมัคร มีการศึกษาการใช้บิดาอาสาสมัครในการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า บิดาที่เข้าร่วมกิจกรรมเข้าร่วมสูงและมีความพึงพอใจในการจัดการอบรมให้ความรู้1 ดังนั้น การใช้บิดาอาสาอาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่บิดาทั่วไปในการสื่อสารที่ง่าย เป็นกันเองและมีการยอมรับที่ดีได้ ซึ่งจะช่วยเป็นหนทางหนึ่งในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kuliukas L, Hauck YL, Jorgensen A, et al. Process evaluation of a peer-led antenatal breastfeeding class for fathers: perceptions of facilitators and participants. BMC Pregnancy Childbirth 2019;19:48.

 

กิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกนมแม่อย่างเดียวหกเดือน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในกระบวนการที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนนั้นมีการศึกษาถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะมีผลช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ การจัดระบบโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก การจัดให้ความรู้แก่มารดาในครอบครัวในระยะต่าง ๆ การให้คำปรึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และผลของหลากหลายกิจกรรมที่สนับสนุนให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน มีผลการศึกษาจากการทบทวนอย่างเป็นระบบพบว่า ภาพรวมของกิจกรรมที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมีส่วนช่วยให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพิ่มขึ้น 2.77 เท่า1 ดังนั้น ในการรณรงค์เพื่อเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาในรายละเอียดว่าจากทบทวนอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะเลือกทำกิจกรรมที่เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนได้สูงในกรณีที่มีทรัพยากรจำกัด หรือจะทำการสนับสนุนในหลาย ๆ กิจกรรมเพื่อที่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมีโอกาสสูงขึ้นได้มากกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Kim SK, Park S, Oh J, Kim J, Ahn S. Corrigendum to “Interventions promoting exclusive breastfeeding up to six months after birth: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials” [Int. J. Nurs. Stud. 80 (April) (2018) 94-105]. Int J Nurs Stud 2019;89:132-7.

ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในสตรีสูงวัย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การที่ทารกได้กินนมแม่ประโยชน์นั้นมีทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ซึ่งผลในระยะยาวนั้น จะช่วยในเรื่องการป้องกันโรคอ้วนที่พบในวัยรุ่น ป้องกันเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางเมตาบอลิก และหลอดเลือดหัวใจ สำหรับเรื่องกระดูกและกล้ามเนื้อนั้น การศึกษาที่มียังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน บางรายงานพบว่ามีผลช่วยในเรื่องมวลกระดูก ขณะที่บางรายงานพบว่าเกิดผลเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกบาง อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาเพิ่มเติมขึ้นมาเรื่อย ๆ รวมทั้งผลของระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อภาวะมวลกล้ามเนื้อของทารกที่เมื่อเจริญเติบโต มีอายุเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งหากสตรีนั้นมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (sarcopenia) ก็จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ความเสี่ยงต่อการหกล้ม และมีข้อจำกัดในการปฏิบัติตัวในกิจกรรมที่อาจจะพบความเสี่ยงจากการหกล้มในชีวิตประจำวัน จากการศึกษาที่รายงานออกมาเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในสตรีสูงวัยได้ โดยพบภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยลดลงถึงร้อยละ 731 เมื่อทารกเจริญเข้าสู่วัยสูงอายุ ดังนั้น ผลประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจมีส่วนช่วยในการส่งเสริมให้สตรีสูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในยุคที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เอกสารอ้างอิง

  1. Kim JY, Kim DH, Kim YH, Shin HY. Associations of Breastfeeding Duration and Reproductive Factors with Sarcopenia in Elderly Korean Women: A Cross-Sectional Study from the Korea National Health and Nutrition Examination Survey 2010-2011. Korean J Fam Med 2019.

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยความสำเร็จของการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กระบวนการจัดการสนับสนุนให้มารดามีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญ เนื่องจากมีการทบทวนอย่างเป็นระบบแล้วพบว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อนั้น ทำให้มารดาที่ให้นมลูกเป็นครั้งแรกประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม1 การที่จะสนับสนุนให้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้นจำเป็นจะต้องมีการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่มารดาและครอบครัวตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ เพื่อที่จะเตรียมตัวและมีความกระตือรือล้นที่จะให้ทารกได้มีการโอบกอดอยู่บนอ้อมอกของมารดาทันทีเมื่อพร้อมในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งในระหว่างการเริ่มการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อควรให้เวลาแก่ทารกให้มีการสัมผัสกับอกของมารดา ปรับตัว และเริ่มเข้าหาเต้านมของมารดาเพื่อการเริ่มการดูดนมแม่เป็นครั้งแรก ช่วงเวลาที่มีการปรับตัวที่จะทำให้ทารกมีความพร้อมในการกินนมแม่นั้น โดยทั่วไปจะใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง บุคลากรทางการแพทย์ มารดาและครอบครัวควรปล่อยให้ทารกได้อยู่บนอกของมารดาโดยปราศจากการรบกวน เพื่อจะช่วยในการพัฒนาการของระบบประสาทสัมผัสของทารกจากการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อมีความสมบูรณ์ และช่วยในความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Karimi FZ, Sadeghi R, Maleki-Saghooni N, Khadivzadeh T. The effect of mother-infant skin to skin contact on success and duration of first breastfeeding: A systematic review and meta-analysis. Taiwan J Obstet Gynecol 2019;58:1-9.

นมแม่อาจมีวิตามินเอต่ำในมารดาที่ผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดความอ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                   ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นโรคที่พบบ่อยขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นจากพฤติกรรมการกินและกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนในชุมชนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป การรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะ (bariatric surgery) เริ่มมีการใช้เพิ่มมากขึ้น วิตามินเอเป็นวิตามินที่มีโอกาสจะขาดได้ในสตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โดยในสตรีที่ได้รับการผ่าตัดเหล่านี้ หากมีการตั้งครรภ์ทำให้มีข้อสงสัยว่าจะพบภาวะการขาดแคลนวิตามินเอหรือไม่ มีการศึกษาเกี่ยวกับปริมาณวิตามินเอในนมแม่ของมารดาที่ได้รับการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะพบว่า ในนมแม่ของมารดาที่ได้รับการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะมีปริมาณวิตามินเอต่ำกว่ามารดากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ1 ดังนั้น การเอาใจใส่ในเรื่องภาวะโภชนาการของมารดาที่ได้รับการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะจึงมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อป้องกันการขาดสารอาหารบางอย่างที่จำเป็นในทารกที่กินนมแม่ทำให้ทารกได้รับประโยชน์จากการกินนมแม่ไม่เต็มที่ ซึ่งความจำเป็นในการเสริมสารอาหารที่ขาดแคลนในมารดาเหล่านี้ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Garretto D, Kim YK, Quadro L, et al. Vitamin A and beta-carotene in pregnant and breastfeeding post-bariatric women in an urban population. J Perinat Med 2019;47:183-9.