คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการให้นมแม่เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลาย ๆ ประเทศรวมทั้งในประเทศไทย เช่น อุทกภัย วาตภัย สึนามิ และภัยจากแผ่นดินไหว การให้ทารกได้กินนมแม่ในระหว่างการเกิดภัยพิบัตินั้นจะช่วยลดความเสี่ยงจากอันตรายจากการติดเชื้อและลดการเสียชีวิตของทารกได้ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าอุปสรรคของการให้นมแม่ในระหว่างการเกิดภัยพิบัติที่พบ1 ได้แก่

  • การให้การสนับสนุนที่ไม่เหมาะสมทางสังคม เช่น การให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการชงนมสำหรับทารก
  • การไม่มั่นใจในตนเองว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาเมื่อเกิดภัยพิบัติ
  • ความรู้ที่ถูกต้องของบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องการให้นมทารก
  • การมีพื้นที่ส่วนตัวที่เหมาะสมสำหรับให้นมทารก

              ความเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้บริหารจัดการดูแลเรื่องภัยพิบัติและบุคลากรทางการแพทย์ผู้รับผิดชอบสามารถจัดการดูแลปัญหาอุปสรรคของการให้นมแม่ที่จะเกิดในระหว่างภัยพิบัติได้

เอกสารอ้างอิง

  1. MirMohamadaliIe M, Khani Jazani R, Sohrabizadeh S, Nikbakht Nasrabadi A. Barriers to Breastfeeding in Disasters in the Context of Iran. Prehosp Disaster Med 2019;34:20-4.

การพัฒนาเครื่องมือในการวัดความเชื่อมั่นของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ความตั้งใจและความเชื่อมั่นของมารดาว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลายอย่าง เช่น ประเมินการเข้าเต้าด้วยคะแนนการเข้าเต้า (LATCH SCORE) ประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย Breast feeding assessment tool หรือ Breastfeeding assessment score เป็นต้น แต่ยังขาดการประเมินความเชื่อมั่นของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา เมื่อเร็ว ๆ นี้ สหรัฐอเมริกาได้มีการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ประเมินความเชื่อมั่นของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ The Prenatal Rating of Efficacy in Preparation to Breastfeed Scale ของมารดาที่ตั้งครรภ์ ซึ่งจากการประเมินความตรงและความน่าเชื่อถือของแบบประเมินพบว่ามีแม่นยำสูง1 ดังนั้น การคัดกรองเพื่อประเมินมารดาที่มีความเชื่อมั่นต่ำเพื่อการให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสมและใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม การนำเครื่องมือชนิดนี้มาใช้ควรต้องตรวจสอบข้อจำกัดของการประเมินและอาจจะต้องมีการศึกษาในกลุ่มประชากรของไทยเพื่อทดสอบความตรงและความเชื่อมั่นในกลุ่มประชากรก่อนที่จะนำมาใช้

เอกสารอ้างอิง

  1. McKinley EM, Knol LL, Turner LW, et al. The Prenatal Rating of Efficacy in Preparation to Breastfeed Scale: A New Measurement Instrument for Prenatal Breastfeeding Self-efficacy. J Hum Lact 2019;35:21-31.

มารดาหลังคลอดที่ให้ลูกกินนมแม่มีเซ็กส์เสื่อมจริงไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ภาวะผิดปกติของการมีเพศสัมพันธ์ในสตรี (female sexual dysfunction) หมายถึง สตรีมีความต้องการทางเพศหรือมีความพึงพอใจทางเพศผิดปกติ หรือจะใช้คำแทนที่สั้น ๆ ว่า “เซ็กส์เสื่อม” เพื่อให้เข้าใจง่าย ในมารดาที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรมีรายงานว่าพบภาวะผิดปกติของการมีเพศสัมพันธ์ในสตรีในช่วงที่มารดาตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สามและช่วงระยะหนึ่งปีหลังคลอดเพิ่มขึ้น คำอธิบายสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะเป็นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระยะตั้งครรภ์และหลังคลอด นอกจากนี้ การให้ลูกกินนมแม่ทำให้มารดาคงสภาพของฮอร์โมนในระยะหลังคลอดนานขึ้น จึงอาจมีผลต่อภาวะผิดปกติของการมีเพศสัมพันธ์ในสตรี1 แต่ก็มีบางรายงานพบว่าการให้นมแม่ทำให้ความรู้สึกทางเพศดีขึ้น โดยอธิบายจากการเปลี่ยนแปลงความไวต่อการตอบสนองความรู้สึกที่เต้านมมีความไวมากขึ้นและการที่มีฮอร์โมนออกซิโทซินเพิ่มในขณะให้นมแม่ อาจช่วยเพิ่มการตอบสนองในการถึงจุดสุดยอด แม้ว่ายังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่การให้คำปรึกษาแก่มารดาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของความต้องการทางเพศหรือความพึงพอใจทางเพศได้ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรให้มารดามีความเข้าใจและเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น มารดาก็จะพร้อมที่จะปรับตัวหรือเมื่อเกิดปัญหาในเรื่องเหล่านี้ก็จะมีความพร้อมที่จะขอรับคำปรึกษา เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางเพศของมารดาที่ดีและไม่ไปขัดขวางการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Matthies LM, Wallwiener M, Sohn C, Reck C, Muller M, Wallwiener S. The influence of partnership quality and breastfeeding on postpartum female sexual function. Arch Gynecol Obstet 2019;299:69-77.

ทารกมีสุขภาพดีเมื่อกินนมแม่นาน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                นมแม่เป็นมาตรฐานอาหารทารกแรกเกิด ประโยชน์ของการกินนมแม่มีทั้งต่อมารดาและทารก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การที่จะตอบคำถามว่า ทารกมีสุขภาพดีเมื่อกินนมแม่นานนั้น ดูหรือวัดจากอะไร มีการศึกษาเพื่อตอบคำถามนี้ โดยมีการเก็บข้อมูลการไปตรวจรักษากับกุมารแพทย์ การใช้ยาปฏิชีวนะ การหยุดไป daycare การมีภาวะอักเสบของหูชั้นกลาง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และการร้องกวนของทารกโดยไม่ทราบสาเหตุ พบว่า ทารกที่กินนมแม่นาน จะมีการต้องไปรักษากับกุมารแพทย์ การใช้ยาปฏิชีวนะ การหยุดไป daycare การมีภาวะอักเสบของหูชั้นกลาง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และการร้องกวนของทารกโดยไม่ทราบสาเหตุน้อย1 นั่นก็แสดงว่า ทารกน่าจะมีสุขภาพที่ดีหากกินนมแม่นาน ผลการศึกษานี้ หากให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวให้มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการให้ลูกได้กินนมแม่ น่าจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Mattar L, Hobeika M, Zeidan RK, Salameh P, Issa C, Breastfeed for a Healthier Lebanon” study g. Determinants of exclusive and mixed breastfeeding durations and risk of recurrent illnesses in toddlers attending day care programs across Lebanon. J Pediatr Nurs 2019.

 

ทารกสามารถกินนมแม่ได้หลังการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ในทารกมักเป็นอุปสรรคต่อการให้กินนมแม่ เนื่องจากการสร้างแรงดูดในช่องปากอาจทำได้น้อยซึ่งทำให้ทารกต้องออกแรงมากในการดูดนมและยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการสำลัก แต่หากได้รับการให้คำปรึกษาและการจัดท่าทารกให้นมที่เหมาะสม หรือในทารกบางคนอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยปิดเพดานที่โหว่เพื่อช่วยสร้างให้ทารกมีแรงดูดนมที่ดีขึ้น ทารกที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ก็ยังสามารถกินนมแม่จากเต้าได้ เมื่อทารกเติบโตขึ้น มีความพร้อมและได้รับการผ่าตัดแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์มักมีการงดการให้ทารกกินนมแม่หลังผ่าตัด เนื่องจากความวิตกกังวลและกลัวแผลผ่าตัดแยก แต่มีการศึกษาทบทวนอย่างเป็นระบบ (systematic review) พบว่า การให้ทารกกินนมแม่หลังการผ่าตัดทันทีไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลแยก1 ดังนั้น การปรับเปลี่ยนการดูแลทารกหลังผ่าตัดให้ทันสมัยและมีความเหมาะสม จะช่วยให้ทารกมีระยะพักฟื้นหลังผ่าตัดลดลงและกลับบ้านได้เร็วขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Matsunaka E, Ueki S, Makimoto K. Impact of breastfeeding and/or bottle-feeding on surgical wound dehiscence after cleft lip repair in infants: A systematic review. J Craniomaxillofac Surg 2019.