ทารกสามารถกินนมแม่ได้หลังการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ในทารกมักเป็นอุปสรรคต่อการให้กินนมแม่ เนื่องจากการสร้างแรงดูดในช่องปากอาจทำได้น้อยซึ่งทำให้ทารกต้องออกแรงมากในการดูดนมและยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการสำลัก แต่หากได้รับการให้คำปรึกษาและการจัดท่าทารกให้นมที่เหมาะสม หรือในทารกบางคนอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยปิดเพดานที่โหว่เพื่อช่วยสร้างให้ทารกมีแรงดูดนมที่ดีขึ้น ทารกที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ก็ยังสามารถกินนมแม่จากเต้าได้ เมื่อทารกเติบโตขึ้น มีความพร้อมและได้รับการผ่าตัดแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์มักมีการงดการให้ทารกกินนมแม่หลังผ่าตัด เนื่องจากความวิตกกังวลและกลัวแผลผ่าตัดแยก แต่มีการศึกษาทบทวนอย่างเป็นระบบ (systematic review) พบว่า การให้ทารกกินนมแม่หลังการผ่าตัดทันทีไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลแยก1 ดังนั้น การปรับเปลี่ยนการดูแลทารกหลังผ่าตัดให้ทันสมัยและมีความเหมาะสม จะช่วยให้ทารกมีระยะพักฟื้นหลังผ่าตัดลดลงและกลับบ้านได้เร็วขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Matsunaka E, Ueki S, Makimoto K. Impact of breastfeeding and/or bottle-feeding on surgical wound dehiscence after cleft lip repair in infants: A systematic review. J Craniomaxillofac Surg 2019.