รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ?โรคไวรัสตับอักเสบเอ โดยทั่วไปจะติดต่อจากการรับประทานเชื้อเข้าไปทางปาก ซึ่งมักไม่พบการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก ร่วมกับยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงการมีเชื้อไวรัสในน้ำนมที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในอดีตมีรายงานการที่สงสัยการติดเชื้อผ่านน้ำนม 1 ราย1 ดังนั้น แม้การให้นมบุตรจะไม่ได้เป็นข้อห้าม แต่หากมีการยืนยันว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอในมารดา แนะนำให้ให้ภูมิคุ้มกันพร้อมกับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอด้วย ?
เอกสารอ้างอิง
Watson JC, Fleming DW, Borella AJ, Olcott ES, Conrad RE, Baron RC. Vertical transmission of hepatitis A resulting in an outbreak in a neonatal intensive care unit. J Infect Dis 1993;167:567-71.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ?โรคไวรัสตับอักเสบบี ในกรณีที่มารดาเป็นพาหะ การติดต่อจากมารดาไปทารกสามารถเกิดในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์โดยการติดต่อผ่านรก หรือที่พบมากกว่าคือการติดต่อในช่วงระหว่างการคลอด ซึ่งแนะนำให้มีการให้ภูมิคุ้มกันต้านไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B immunoglobulin หรือ HBIG) หลังทารกเกิดทันที ร่วมกับการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแก่ทารกหลังคลอด และฉีดตามระยะอีกสองครั้ง จะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกได้มากกว่าร้อยละ 95 สำหรับการให้นมแม่ แม้ทางทฤษฎีจะมีไวรัสผ่านและตรวจพบในน้ำนมได้ แต่จากการศึกษารวบรวมสรุปผลจากหลายๆ การศึกษา (meta-analysis) พบว่าความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในทารกที่กินนมแม่ไม่แตกต่างจากทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกในทารกที่ได้รับการให้ภูมิคุ้มกันและฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี 1 ,2 ดังจะเห็นว่า สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อแนะนำว่า หากทารกได้ฉีดภูมิคุ้มกันและวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแล้ว การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและสามารถให้นมแม่ได้ ตั้งแต่ในปี พ.ศ.2552
เอกสารอ้างอิง
Tran TT. Breastfeeding by mothers infected with hepatitis B carries no increased risk of transmission to infants who receive proper immunoprophylaxis: a meta-analysis. Evid Based Med 2012;17:125-6.
Shi Z, Yang Y, Wang H, et al. Breastfeeding of newborns by mothers carrying hepatitis B virus: a meta-analysis and systematic review. Arch Pediatr Adolesc Med 2011;165:837-46.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ปกตินมแม่ในระยะที่เริ่มต้นที่เป็นหัวน้ำนมจะมีสีเหลือง ต่อจากนั้นเมื่อเปลี่ยนเป็นนมแม่ที่สมบูรณ์เต็มที่จะมีสีขาว โดยนมแม่ส่วนหน้าจะมีสีขาวออกอมฟ้าเล็กน้อย ขณะที่นมแม่ในส่วนหลังจะมีสีขาวครีมจากการที่มีส่วนประกอบของไขมันมากกว่า น้ำนมแม่อาจจะมีสีที่เปลี่ยนแปลงไปได้จากอาหารหรือยาที่มารดารับประทานเข้าไป มีรายงานว่า หากมารดารับประทานเครื่องดื่มประเภทโซดาหรือน้ำผลไม้ที่มีสีส้มจากสีที่ใช้ผสมอาหาร จะทำให้น้ำนมแม่มีสีชมพูหรือสีส้มได้ รวมทั้งทำให้สีของปัสสาวะทารกเปลี่ยนแปลงได้ การกินสาหร่ายที่สกัดเป็นเม็ดอาจทำให้น้ำนมแม่เปลี่ยนเป็นสีเขียวได้ และพบว่าการใช้ยาบางชนิดได้แก่ยา monocycline hydrochloride จะทำให้นมแม่เปลี่ยนเป็นสีดำได้ ดังนั้น มารดาจำเป็นต้องสังเกตว่า การรับประทานอาหารชนิดใดที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนสีของน้ำนม เนื่องจากการที่สีของน้ำนมเปลี่ยนแปลงแสดงถึงมีการผ่านของสารจากอาหารของมารดามาสู่ทารก ซึ่งหากสารนั้นมีความเสี่ยงในการที่ทารกได้รับในปริมาณที่สูงและร่างกายทารกยากที่จะกำจัด มารดาควรหลีกเลี่ยง 1
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? สารปรุงแต่งอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ ผงชูรส สีผสมอาหาร สารกันบูด สารแต่งกลิ่นหรือแต่งรสอาหาร และสารเพิ่มความหวานที่ใช้แทนน้ำตาล การใส่สารปรุงแต่งในอาหารนั้นจำเป็นต้องควบคุมปริมาณให้เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสัดส่วนของสารปรุงแต่งอาหารมีการรายงานในสลากของอาหารตามการควบคุมขององค์การอาหารและยา แม้ว่าสารปรุงแต่งอาหารจะมีการกำหนดปริมาณที่เหมาะสมสำหรับใส่ในอาหาร แต่การควบคุมเพื่อให้มีการใช้ตามปริมาณที่กำหนดยังมีข้อจำกัด ดังนั้น หากมารดามีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน การรับประทานอาหารที่หลากหลาย เลือกอาหารที่สดใหม่ ลดการปรุงแต่งสารอาหารได้จะช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับสารปรุงแต่งอาหารในปริมาณที่มากเกินไป สำหรับในสตรีที่ให้นมบุตรนั้น หากรับประทานสารปรุงแต่งอาหารเข้าไป สารนั้นสามารถจะผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้ เนื่องจากปริมาณสารปรุงแต่งอาหารมักจะจำกัดตามปริมาณของอาหารและน้ำหนักตัวของผู้รับประทาน แต่เนื่องจากทารกมีน้ำหนักตัวน้อย การกำจัดของเสียออกจากร่างกายยังมีข้อจำกัด การรับปริมาณสารปรุงแต่งอาหารในปริมาณที่เท่ากันกับผู้ใหญ่จึงอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลที่พบในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือเครื่องดื่มลดน้ำหนัก ได้แก่ แอสพาร์เทม (Aspartame) ยังมีผลที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกแรกเกิดที่มีภาวะฟีนิลคีโทยูเรีย (phenylketouria) โดยทำให้ระดับฟีนิลอะละนิน (phenylalanine) ในกระแสเลือดสูง ซึ่งจะไปทำลายเซลล์สมองทำให้เกิดปัญญาอ่อนได้1
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ?โดยทั่วไป ในสตรีที่ให้นมบุตรสามารถรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีความหลากหลายได้ทุกชนิด โดยชนิดของอาหารที่มารดารับประทาน จะส่งผลต่อรสชาติของน้ำนมได้ และทำให้ทารกคุ้นเคยกับรสชาติที่หลากหลายของสารอาหาร โดยจะทำให้ทารกสามารถเริ่มอาหารตามวัยได้หลากหลาย และในมารดาที่รับประทานผักจะส่งผลให้ทารกมีการรับประทานผักได้มากขึ้นกว่ามารดาที่ไม่รับประทานผัก อย่างไรก็ตาม1 มีข้อมูลรายงานถึงชนิดของอาหารบางอย่างที่อาจส่งผลต่อทารกในบางคน ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมได้จากการสังเกต ได้แก่
การที่มารดารับประทานกระเทียม อาจพบทารกมีอาการร้องกวนได้ในบางคน ซึ่งพบใน 24 ชั่วโมงหลังการรับประทาน
การที่มารดารับประทานกะหล่ำปลี บรอกโคลี ผักกาด แอปริคอต ลุกพรุน และถั่ว อาจทำให้ทารกบางคนมีอาการปวดท้องได้
การที่มารดารับประทานแตงโม และลูกพีช อาจทำให้ทารกบางคนมีอาการร้องกวนและท้องเสียได้
การที่มารดารับประทานพริกไทยแดง และกิมจิ (ผักดองใส่พริก) อาจทำให้ทารกบางคนมีผื่นแดงได้
??????????? จะเห็นว่า อาการที่ผิดปกติอาจเกิดขึ้นในทารกเพียงบางคนที่อาจมีความไวต่อการได้รับสารบางอย่างเท่านั้น ดังนั้น ข้อแนะนำจึงยังคงไม่มีอาหารใดที่มีประโยชน์ที่มารดาต้องหลีกเลี่ยง แต่ควรสังเกตอาการผิดปกติ ได้แก่ การร้องกวน อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือการมีผื่นแดง ที่อาจเกิดหลังมารดารับประทานอาหารเฉพาะบางอย่าง ซึ่งอาการมักไม่มีอันตรายรุนแรง แต่อาจทำให้มารดาเกิดความวิตกกังวลได้
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)