สตรีให้นมบุตรกินสารปรุงแต่งอาหารได้หรือไม่

IMG_1722

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? สารปรุงแต่งอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ ผงชูรส สีผสมอาหาร สารกันบูด สารแต่งกลิ่นหรือแต่งรสอาหาร และสารเพิ่มความหวานที่ใช้แทนน้ำตาล การใส่สารปรุงแต่งในอาหารนั้นจำเป็นต้องควบคุมปริมาณให้เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสัดส่วนของสารปรุงแต่งอาหารมีการรายงานในสลากของอาหารตามการควบคุมขององค์การอาหารและยา แม้ว่าสารปรุงแต่งอาหารจะมีการกำหนดปริมาณที่เหมาะสมสำหรับใส่ในอาหาร แต่การควบคุมเพื่อให้มีการใช้ตามปริมาณที่กำหนดยังมีข้อจำกัด ดังนั้น หากมารดามีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน การรับประทานอาหารที่หลากหลาย เลือกอาหารที่สดใหม่ ลดการปรุงแต่งสารอาหารได้จะช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับสารปรุงแต่งอาหารในปริมาณที่มากเกินไป สำหรับในสตรีที่ให้นมบุตรนั้น หากรับประทานสารปรุงแต่งอาหารเข้าไป สารนั้นสามารถจะผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้ เนื่องจากปริมาณสารปรุงแต่งอาหารมักจะจำกัดตามปริมาณของอาหารและน้ำหนักตัวของผู้รับประทาน แต่เนื่องจากทารกมีน้ำหนักตัวน้อย การกำจัดของเสียออกจากร่างกายยังมีข้อจำกัด การรับปริมาณสารปรุงแต่งอาหารในปริมาณที่เท่ากันกับผู้ใหญ่จึงอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลที่พบในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือเครื่องดื่มลดน้ำหนัก ได้แก่ แอสพาร์เทม (Aspartame) ยังมีผลที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกแรกเกิดที่มีภาวะฟีนิลคีโทยูเรีย (phenylketouria) โดยทำให้ระดับฟีนิลอะละนิน (phenylalanine) ในกระแสเลือดสูง ซึ่งจะไปทำลายเซลล์สมองทำให้เกิดปัญญาอ่อนได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.