คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

การตั้งเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการที่จะบรรลุภารกิจในแต่ละอย่างนั้น การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกับในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บุคลากรทางการแพทย์ควรสอบถามถึงเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ ให้ความรู้1 คำปรึกษา วางแผนร่วมกันกับมารดาและครอบครัว และวางแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาประสบความสำเร็จ เมื่อถึงระยะหลังคลอดการติดตาม ช่วยแก้ปัญหาและให้การสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะใน 1-2 สัปดาห์แรกหลังคลอดที่มารดาต้องปรับตัวกับสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมใหม่ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับมารดาซึ่งเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่จะเสริมพลังให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ ดังนั้น การตั้งเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในแต่ละคนถือเป็นกลยุทธอย่างหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Spatz DL. Helping Mothers Reach Personal Breastfeeding Goals. Nurs Clin North Am 2018;53:253-61.

 

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์ 

                  การที่บุคลากรทางการแพทย์จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ วิธีการคลอด เศรษฐานะ การกลับไปทำงานของมารดา การให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รูปแบบการดูแลโดยใช้ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ระบบพี่เลี้ยงสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการใช้สื่อเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่(1) ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์ส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช่วยปัจจัยที่ส่งเสริมและให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัจจัยที่เป็นอุปสรรค โดยหากสถานพยาบาลมีนโยบายและสนับสนุนบุคลากรให้ปฏิบัติตามแนวทางในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกหลายปัจจัย ซึ่งการทำการทบทวนและศึกษาเพื่อให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ จะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่การรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 

เอกสารอ้างอิง 

1.Sayres S, Visentin L. Breastfeeding: uncovering barriers and offering solutions. Curr Opin Pediatr 2018;30:591-6. 

LATCH score ขณะเกิดสามารถทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกสัปดาห์หลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เครื่องมือที่ใช้ประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ใช้มากในประเทศไทยคือ LATCH score ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาพบว่าการประเมิน LATCH score ที่ 24 ชั่วโมงหลังคลอดสามารถทำนายการเลี้ยงลูกที่หกสัปดาห์หลังคลอดได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า การประเมิน LATCH score ขณะเกิดสามารถทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกสัปดาห์ได้โดยค่า LATCH score มากกว่า 6 จะมีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกสัปดาห์หลังคลอดที่สูงกว่า สำหรับความไวในการทำนายร้อยละ 93.5 ความจำเพาะร้อยละ 65.781 นอกจากนี้ การประเมิน LATCH score ที่ 48 ชั่วโมงหลังคลอดโดยใช้จุดตัดที่มากกว่าหรือเท่ากับ 8 ยังสามารถทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกสัปดาห์หลังคลอดได้โดยมีความไวที่สูงเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นว่า การประเมิน LATCH score ไม่ว่าจะเป็นการประเมินขณะเกิด ที่ 24 ชั่วโมง หรือที่ 48 ชั่วโมงจะเป็นประโยชน์ในการทำนายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และอาจช่วยในการวางแผนติดตามดูแลมารดาอย่างใกล้ชิดในมารดาที่มีการประเมิน LATCH score ต่ำที่อาจเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วกว่ากำหนดที่ควรจะเป็น

เอกสารอ้างอิง

  1. Sowjanya S, Venugopalan L. LATCH Score as a Predictor of Exclusive Breastfeeding at 6 Weeks Postpartum: A Prospective Cohort Study. Breastfeed Med 2018;13:444-9.

 

 

 

มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวพบน้ำหนักเกินในเด็กได้น้อยกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนในทารกเมื่อเจริญเติบโตเข้าสู่วัยเด็ก การที่ลดหรือป้องกันการเกิดการโรคอ้วนในวัยเด็กจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเมตาบอลิกต่าง ๆ ในอนาคต เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาถึงรายละเอียดของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีผลต่อดัชนีมวลกายของทารกเมื่อเจริญเข้าสู่วัยเด็กพบว่า ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหรือทารกที่กินอาหารเสริมหลังอายุห้าเดือนจะสัมพันธ์กับการมีดัชนีมวลกายที่ต่ำกว่า1 ซึ่งเป็นผลต่อการป้องกันภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ดังนั้น จากข้อมูลยิ่งส่งเสริมว่าควรปฏิบัติตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวหกเดือนแล้วหลังจากนั้นควรเสริมอาหารตามวัยร่วมกับการกินนมแม่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับมารดาและทารก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่ามารดายังได้ประโยชน์จากการให้ลูกกินนมแม่ในการป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเมื่ออายุเข้าสู่วัยทองด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Sirkka O, Vrijkotte T, Halberstadt J, et al. Prospective associations of age at complementary feeding and exclusive breastfeeding duration with body mass index at 5-6 years within different risk groups. Pediatr Obes 2018.

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในยุคสื่อมือถือ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ในยุคที่มือถือมีบทบาทอย่างมากจนเหมือนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตของคนในยุคนี้ การใช้สื่อมือถือเพื่อช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจเป็นสิ่งที่ตรงกับจริตในยุคของคนในปัจจุบัน มีการศึกษาถึงการใช้สื่อมือถือช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า สื่อที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีจำนวนมากที่เข้าถึงได้จากโทรศัพท์มือถือ แต่มีสื่อจำนวนน้อยที่จำเพาะเจาะจงที่เหมาะสมสำหรับรายคน นอกจากนี้ การสื่อสารผ่านมือถือผ่านระบบข้อความที่สนับสนุนทั้งการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสนับสนุนระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอด จะเป็นการสื่อสารสองทางที่มีความจำเพาะเจาะจงสำหรับรายคนมากกว่า1 ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์ มารดาและครอบครัวเลือกใช้รูปแบบการเข้าถึงข้อมูลที่เหมาะสม จะได้ประโยชน์จากการใช้สื่อมือถือในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Schindler-Ruwisch JM, Roess A, Robert RC, Napolitano MA, Chiang S. Social Support for Breastfeeding in the Era of mHealth: A Content Analysis. J Hum Lact 2018:890334418773302.