คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

สูติแพทย์ควรสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 หากมีคำถามว่า “สูติแพทย์ควรสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร” สูติแพทย์มักจะตอบคำถามนี้สั้น ๆ ว่า “ก็แนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ซิ” คำตอบนี้ แสดงว่า สูติแพทย์อาจมีมุมมองที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องความสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจเป็นด้วยความไม่ชัดเจนของนโยบายขององค์กรที่มีหน้าที่ในการดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรืออาจเป็นเพราะขาดความรู้ ความเข้าใจที่จะตระหนักถึงความสำคัญของนมแม่ หรืออาจเป็นเพราะการขาดระบบกระบวนการความคิดที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จตามเป้าหมายของประเทศและองค์การอนามัยโลก ดังนั้น จึงอยากฝากแนวทางที่มีการแนะนำให้สูติแพทย์สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามประกาศของสมาคมสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อให้สูติแพทย์มองเห็น ตระหนัก และมีความหยั่งรู้ในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น 1

  • สูติแพทย์ควรมีความตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ที่ต้องมีในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามนโยบายของประเทศและองค์การอนามัยโลก
  • สูติแพทย์ควรมีส่วนร่วมของแกนนำในการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในสถานพยาบาล เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ ระยะคลอดและหลังคลอด
  • สูติแพทย์ควรให้การช่วยเหลือมารดาให้มีความสามารถจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยตนเองได้ เนื่องจากการขาดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีความเสี่ยงของมารดาในการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ และมีความเสี่ยงในทารกที่จะเกิดการติดเชื้อ การเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ และกลุ่มโรคเมตาบอลิก ดังนั้น หากช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้จะช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของทั้งมารดาและทารก
  • สูติแพทย์ควรอธิบายแก่มารดาและครอบครัวให้ทราบว่า ข้อห้ามในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีน้อย การใช้ยาและการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่ในระหว่างการให้นมแม่สามารถทำได้โดยปลอดภัย นอกจากนี้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการแพทย์ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย
  • สูติแพทย์มีบทบาทในการอธิบายประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มารดาและครอบครัวมีความเข้าใจดี เมื่อมารดาและครอบครัวเข้าใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอย่างดีแล้ว เปิดโอกาสให้มารดาและครอบครัวเลือกที่จะเลือกอาหารสำหรับทารกแรกเกิดโดยอิสระ
  • สูติแพทย์มีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาทักษะและเพิ่มศักยภาพในการให้คำปรึกษา การให้การดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกมารดาที่ปกติและมารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยได้อย่างเหมาะสมด้วยความมั่นใจ
  • สูติแพทย์มีบทบาทที่จะต้องช่วยให้มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถปรับตัวที่จะทำให้การให้นมลูกแม่กลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้รวมทั้งเมื่อมารดามีความจำเป็นต้องกลับไปทำงานด้วย

จะเห็นว่า หน้าที่และบทบาทของสูติแพทย์ไม่ใช่เพียงแต่การตอบสั้น ๆ ว่า “แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เท่านั้น”

เอกสารอ้างอิง

  1. ACOG Committee Opinion No. 756: Optimizing Support for Breastfeeding as Part of Obstetric Practice. Obstet Gynecol 2018;132:e187-e96.

 

โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในน้ำนมแม่ของมนุษย์มีสัดส่วนของโอลิโกแซคคาไรด์ที่แตกต่างกันกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ชนิดอื่น ซึ่งสัดส่วนของโอลิโกแซคาไรด์ที่แตกต่างกันมีผลต่อการป้องกันการติดเชื้อที่แตกต่างกัน ในน้ำนมของมนุษย์มีโอลิโกแซคคาไรด์ 5-15 กรัมต่อลิตร ขณะที่น้ำนมวัวมีโอลิโกแซคคาไรด์ต่ำ 0.05 กรัมต่อลิตร และมีการศึกษาพบว่า โอลิโกแซคคาไรด์ในน้ำนมมนุษย์ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อ Streptococcus group B ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าโอลิโกแซคคาไรด์อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อของลำไส้ที่เรียกว่า necrotizing enterocolitis โดยการติดเชื้อนี้มักพบในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งการติดเชื้อของลำไส้ชนิดนี้ พบได้มาก 6-10 เท่าในทารกที่กินผงดัดแปลงสำหรับทารกเมื่อเทียบกับทารกที่กินนมแม่1 อย่างไรก็ตาม นอกจากสัดส่วนของปริมาณโอลิโกแซคคาไรด์ในน้ำนมแม่ที่มีผลต่อสุขภาพทารก แต่ส่วนประกอบของโอลิโกแซคคาไรด์ยังมีความสำคัญด้วย ดังนั้น ขณะที่ยังขาดข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเสริมโอลิโกแซคคาไรด์ในนมผงดัดแปลงสำหรับทารกว่ามีผลดีต่อสุขภาพทารกแต่ก็มีการนำไปใช้เป็นประเด็นในโฆษณา มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์จึงควรพิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้เพื่อใช้เลือกอาหารสำหรับทารกที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Bode L. Human Milk Oligosaccharides at the Interface of Maternal-Infant Health. Breastfeed Med 2018;13:S7-S8.

 

ความเชื่อมั่นและตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยให้มารดาให้นมแม่ได้แม้ต้องกลับไปทำงาน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การกลับไปทำงานเป็นปัญหาและอุปสรรคอย่างหนึ่งที่สำคัญในการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง เพราะการทำมารดาต้องกลับไปทำงานอาจมีความจำเป็นต้องแยกจากทารก ทำให้มารดาต้องมีการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องได้ในขณะที่ต้องกลับไปทำงาน มารดาที่ลาพักหลังคลอดได้นานกว่าก็จะมีแนวโน้มที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า ความเชื่อมั่นและความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องมากกว่าแม้ว่ามารดาต้องกลับไปทำงาน1 ดังนั้น การสร้างให้มารดามีความเชื่อมั่นและมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความสำคัญและบุคลากรทางการแพทย์ควรเสริมพลังโดยสร้างความมั่นใจและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่มารดาเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นของมารดาว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องได้แม้ว่าต้องกลับไปทำงาน

เอกสารอ้างอิง

  1. Sulaiman Z, Liamputtong P, Amir LH. Timing of return to work and women’s breastfeeding practices in urban Malaysia: A qualitative study. Health Soc Care Community 2018;26:48-55.