คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

เหตุที่เป็นจุดเปลี่ยนในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             มารดาส่วนใหญ่มักเริ่มต้นตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ก็มักจะมีสถานการณ์หรือเหตุผลต่าง ๆ ที่นำไปสู่การหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาที่เหมาะสม มีการศึกษาโดยการสัมภาษณ์มารดาถึงเหตุผลหรือจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่คลอดบุตรคนแรกพบว่า เหตุผลที่นำไปสู่จุดเปลี่ยนในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ ปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความเครียดที่มีอยู่ซ้ำ ๆ การที่มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต บทบาทหรือสถานะทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เหตุการณ์ที่มีความจำเพาะหรือจุดเปลี่ยนที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด1 สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การสร้างให้เกิดความเครียดแก่มารดาที่จะนำไปสู่การหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การช่วยเหลือมารดาให้ปรับตัวกับความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยคงให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Schafer EJ, Buch E, Campo S, Ashida S. From initiation to cessation: turning points and coping resources in the breastfeeding experience of first-time mothers. Women Health 2018.

อาการซึมเศร้าหลังคลอดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาวัยรุ่น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การที่มารดาได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยทั่วไปจะสัมพันธ์กับการลดการเกิดภาวะซึมเศร้าของมารดาหลังคลอดได้ เนื่องจากความรู้สึกของมารดาที่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นจะช่วยสร้างความผูกพันและสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก ซึ่งจะช่วยให้มารดาสามารถฝ่าฟันอุปสรรคหรือความยากลำบากต่าง ๆ ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปได้ มารดาจะรู้สึกถึงความสมบูรณ์ในการทำหน้าที่ของมารดาที่สามารถให้นมลูก และปราศจากแนวคิดที่มีผลลบในการโทษตนเองหากมารดาไม่สามารถให้นมลูกได้ แต่ในกลุ่มมารดาวัยรุ่นนั้นมีสมมติฐานที่เกิดข้อสงสัยว่าอาการซึมเศร้าหลังคลอดจะพบมากในมารดาวัยรุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ มีการศึกษาถึงข้อสมมติฐานนี้พบว่า มารดาวัยรุ่นที่มียากลำบากในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะพบอาการซึมเศร้าหลังคลอดสูงกว่ามารดาที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามปกติ1 อย่างไรก็ตาม มารดาวัยรุ่นมักมีปัญหาในเรื่องความไม่พร้อมหรือการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น จึงมักขาดการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงอาจเกิดความวิตกกังกล ความเครียด และอาการซึมเศร้าในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เมื่อพบปัญหาหรือความยากลำบากต่าง ๆ ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งหากบุคลากรทางการแพทย์มีความเข้าใจ ให้การสนับสนุนและช่วยแก้ปัญหาที่มารดาวัยรุ่นได้พบในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยลดอาการซึมเศร้าที่พบในระยะหลังคลอดได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Sipsma HL, Ruiz E, Jones K, Magriples U, Kershaw T. Effect of breastfeeding on postpartum depressive symptoms among adolescent and young adult mothers. J Matern Fetal Neonatal Med 2018;31:1442-7.

 

 

การตรวจคัดกรอง cytomegalovirus ในทารกแรกเกิด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                   การติดเชื้อ cytomegalovirus เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักเนื่องจากการติดเชื้อ cytomegalovirus ในคนทั่วไปมักไม่มีอาการหรือหากมีอาการ อาการที่มีก็มักไม่รุนแรง แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาก็คือ เชื้อ cytomegalovirus หากมารดามีการติดเชื้อ เชื้อ cytomegalovirus สามารถมีการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกได้ ซึ่งหากมีการติดเชื้อของทารกในระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกอาจมีตัวเหลือง ตับม้ามโต ศีรษะเล็ก น้ำหนักตัวน้อย มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง เกล็ดเลือดต่ำ และจอตาอักเสบ นอกจากนี้ การติดเชื้อยังสามารถมีการติดเชื้อจากการได้รับน้ำนมหรือการได้รับเลือด ดังนั้น การตรวจคัดกรองว่าทารกมีการติดเชื้อ cytomegalovirus ในทารกจึงมีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม สำหรับวิธีการคัดกรองการติดเชื้อ cytomegalovirus ในทารกแรกเกิดนั้น การตรวจ polymerase chain reaction (PCR) จากน้ำลายของทารกเป็นวิธีการทดสอบคัดกรองที่มีความไวสูงและให้ผลบวกลวงต่ำ1 จึงแนะนำให้ใช้คัดกรองการติดเชื้อ cytomegalovirus ในทารกแรกเกิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Ross SA, Michaels MG, Ahmed A, et al. Contribution of Breastfeeding to False-Positive Saliva Polymerase Chain Reaction for Newborn Congenital Cytomegalovirus Screening. J Infect Dis 2018;217:1612-5.

การอมหัวนมของทารกไม่สัมพันธ์กับการสบฟันที่ผิดปกติ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 การให้ลูกอมหัวนมเล่นของทารกขณะที่ดูดนมแม่ (nonnutritive sucking habit) แม้ทารกไม่ได้ดูดนม ในสังคมไทย ก็มีความเชื่อว่าอาจมีความสัมพันธ์กับการสบฟันที่ผิดปกติของทารกหากมีการอมหัวนมเป็นเวลานาน มารดาและครอบครัวที่มีความเชื่อนี้อาจส่งผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สั้นลงได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการให้ลูกอมหัวนมเล่นขณะทารกดูดนมกับการสบฟันที่ผิดปกติของทารก พบว่าการให้ลูกอมหัวนมเล่นขณะทารกดูดนมไม่มีความสัมพันธ์กับการสบฟันที่ผิดปกติของทารก1 อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังมีขนาดตัวอย่างน้อย การศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคตในขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้นและเพียงพอจะทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้น จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับมารดาและครอบครัวและเพิ่มระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Roscoe MG, da Silva Bonifacio SV, da Silva TB, Pingueiro JM, Lemos MM, Feres MF. Association of Breastfeeding Duration, Nonnutritive Sucking Habits, and Malocclusion. Int J Clin Pediatr Dent 2018;11:18-22.

การวิตกกังวลเรื่องรูปร่างและการลดน้ำหนักมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               แม้ว่าการให้ลูกกินนมแม่จะช่วยเรื่องการลดน้ำหนักของมารดา แต่การวิตกกังวลเรื่องรูปร่าง การลดน้ำหนัก และภาวะซึมเศร้าอาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการศึกษาในมารดาที่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างพบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะผิดปกติเกี่ยวกับการกินสูงและมีความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ1 ซึ่งส่งผลเสียต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การให้คำปรึกษาของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสร้างมุมมองเกี่ยวกับรูปร่าง และการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของนมแม่ที่เหมาะสม จะช่วยให้มารดามีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งนี้ประกอบกับการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างใกล้ชิด จะช่วยให้มารดามีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะช่วยส่งเสริมหรือเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Rodgers RF, O’Flynn JL, Bourdeau A, Zimmerman E. A biopsychosocial model of body image, disordered eating, and breastfeeding among postpartum women. Appetite 2018;126:163-8.