คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การอมหัวนมและลานนมที่ถูกต้อง

หากทารกอมหัวนมและลานนมได้ถููกแลจะสังเกตได้ว่า ทารกจะอมหัวนมและลานนมทางด้านล่างมากกว่าด้านบน ทำให้ยังมองเห็นลานนมทางด้านบนมากกว่าด้านล่าง ลักษณะปากของทารกอ้ากว้าง ริมฝีปากปลิ้นออก และแก้มไม่บุ๋ม

เทคนิคการบีบน้ำนมด้วยมือ

ทำมือเป็นรููปตัว C ตำแหน่งที่กดคือบริเวณขอบของลานนมหรือห่างจากหัวนมราว 2 เซนติเมตร กดน้ำหนักลงที่เต้านมเข้าหาหน้าอก แล้วจึงออกแรงบีบไล่น้ำนมไปยังหัวนม ซึ่งหากทำได้ถูกต้อง จะเห็นน้ำนมไหลพุ่งออกมาได้ดี

การให้นมแม่เวลากลางคืนไม่เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลต่ำในมารดาที่เป็นเบาหวาน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในอดีตที่ผ่านมา จะมีความเชื่อที่ว่า มารดาที่เป็นเบาหวานโดยเฉพาะชนิดที่ 1 เมื่อมีการให้นมแม่ในเวลากลางคืน จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในมารดา ดังนั้น จึงมีการแนะนำการรับประทานอาหารและการปรับยาในมารดาเหล่านี้ แต่ข้อมูลในเรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่ จากการศึกษาวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ช่วยตอบคำถามและข้อสงสัยในเรื่องนี้ได้ โดยมีการเก็บข้อมูลระดับน้ำตาลในเลือดของมารดาในช่วงกลางคืนโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่าเมื่อมารดาที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ให้นมลูกในเวลากลางคืนพบมีภาวะน้ำตาลต่ำน้อยและไม่ได้มีความแตกต่างจากกลุ่มควบคุม1 ดังนั้น ข้อแนะนำที่มีในอดีตว่า มารดาควรได้รับอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในเวลากลางคืนเพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำเมื่อมารดาที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ให้นมแม่ในเวลากลางคืน ควรจะได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมเมื่อมีข้อมูลจากการศึกษาเชิงประจักษ์ที่เพียงพอที่จะได้ข้อสรุป

เอกสารอ้างอิง

  1. Ringholm L, Roskjaer AB, Engberg S, et al. Breastfeeding at night is rarely followed by hypoglycaemia in women with type 1 diabetes using carbohydrate counting and flexible insulin therapy. Diabetologia 2019.

วิธีลดหรือหลีกเลี่ยงการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โรคอ้วนนับเป็นภัยเงียบที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่งผลเสียต่อสมรรถนะในการทำงานของร่างกายและยังเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิตเมื่อทารกเจริญวัยขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันและลดการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็ก แต่ปัจจัยส่งเสริมที่จะทำให้เกิดโรคอ้วนที่สำคัญนั้นยังมีจากปัจจัยทางมารดา โดยหากมารดามีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าเกณฑ์ปกติระหว่างการตั้งครรภ์ ก็เป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วนในทารกเมื่อย่างเข้าสู่วัยเด็กได้1 ดังนั้น ความรู้ในเรื่องนี้ควรมีการให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวให้มีการดูแลในเรื่องของน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติร่วมกับมีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ในระหว่างการฝากครรภ์ จะช่วยป้องกันและลดการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็กลงได้ดียิ่งขึ้นเพิ่มเติมจากการรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Ohlendorf JM, Robinson K, Garnier-Villarreal M. The impact of maternal BMI, gestational weight gain, and breastfeeding on early childhood weight: Analysis of a statewide WIC dataset. Prev Med 2019;118:210-5.