คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ปัจจัยของบิดาที่จะมีผลช่วยในการให้ลูกได้กินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                บิดาเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนในการตัดสินใจในการที่มารดาจะให้ลูกกินนมแม่ แต่บางคนอาจมีคำถามว่า แล้วปัจจัยอะไรที่จะช่วยให้บิดาเลือกที่จะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมิ่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาวิจัยที่ตอบคำถามนี้แล้ว โดยศึกษาถึงความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติที่จะเลือกที่จะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเก็บปัจจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า การให้ความรู้แก่บิดาให้เห็นความสำคัญและความเข้าใจถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้บิดามีความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการกินนมแม่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการให้ลูกได้กินนมแม่1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงควรเอาใจใส่กับการจัดกระบวนการให้บิดาได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสที่จะเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากปัจจัยของบิดา                                                                                                                                                                                                   เอกสารอ้างอิง

  1. Ng RWL, Shorey S, He HG. Integrative Review of the Factors That Influence Fathers’ Involvement in the Breastfeeding of Their Infants. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2019;48:16-26.

 

มารดาที่อ้วนควรได้รับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โรคอ้วนส่วนใหญ่เป็นจากพฤติกรรมการกิน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิด สามารถป้องกันหรือลดโรคอ้วนได้จากการให้ลูกได้กินนมแม่ อย่างไรก็ตาม หากมารดามีภาวะอ้วนหรือโดยทั่วไปเมื่อคำนวณค่าดัชนีมวลกายของมารดาก่อนการตั้งครรภ์เกิน30 kg/m2 แล้วจะพบว่ามีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมารดามักจะมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้มีโอกาสจะผ่าตัดคลอดสูง ซึ่งการผ่าตัดคลอดจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ การทำงานของฮอร์โมนอินซูลินจะมีผลต่อการผลิตและสร้างน้ำนม ทำให้พบมารดาที่อ้วนมีภาวะน้ำนมมาช้าได้ (delayed lactogenesis) ซึ่งมารดาเหล่านี้จะมีน้ำนมมาช้าเกินกว่า 72 ชั่วโมงหลังคลอด มีการศึกษาในมารดาที่มีโรคอ้วนถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยมีการควบคุมปัจจัยที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และให้การสนับสนุนและช่วยมารดาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และมีการประเมินความคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่มารดาตั้งไว้คือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหรือสามารถให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยต่อเนื่องจนกระทั่งครบ 2 ปี พบว่าการประเมิน เอาใจใส่ ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องและการมีเป้าหมายในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีโรคอ้วนเป็นสิ่งที่สำคัญและควรมีการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเหล่านี้เพื่อช่วยให้มารดามีความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น1

เอกสารอ้างอิง

  1. Lyons S, Currie S, Smith DM. Learning from Women with a Body Mass Index (Bmi) >/= 30 kg/m(2) who have Breastfed and/or are Breastfeeding: a Qualitative Interview Study. Matern Child Health J 2019.

 

การให้ลูกได้กินนมแม่ช่วยทารกให้มีเนื้อสมองเพิ่มขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ผลของการให้ลูกได้กินนมแม่พบว่าทารกมีความเฉลียวฉลาดและพัฒนาที่ดีกว่าทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก การอธิบายเหตุผลนี้มีการศึกษาพื้นฐานที่พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทารกที่ได้กินนมแม่จะมีส่วนของเนื้อสมองสีขาว (white matter) และส่วนของเนื้อสมองสีเทาที่อยู่ข้างใต้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากการศึกษาในลิง การที่ทารกมีเนื้อสมองสีขาว ซึ่งจะเป็นส่วนที่มีรอยหยักของสมองจะมีความสัมพันธ์กับความฉลาด สำหรับปริมาณเนื้อสมองที่พบว่ามีเพิ่มขึ้น ได้แก่ สมองส่วนกลาง (cerebral cortex) และสมองส่วนที่มีหน้าที่สำคัญสำหรับการเชื่อมโยงการทำงานของระบบประสาท (corpus callosum)1 ดังนั้น การศึกษาข้อมูลจากการวิจัยที่เป็นระบบควบคู่กับมีคำอธิบายที่ชัดเจนเพื่ออธิบายกลไกการเกิดผล จะช่วยสร้างความเข้าใจและทำให้การเรียนรู้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Liu Z, Neuringer M, Erdman JW, Jr., et al. The effects of breastfeeding versus formula-feeding on cerebral cortex maturation in infant rhesus macaques. Neuroimage 2019;184:372-85.

จำนวนไวรัสเอชไอวีสะสมในมารดามีผลเสียต่อการพัฒนาการของระบบประสาทของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                มารดาที่มีการติดเชื้อเอชไอวีจะมีไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือดของมารดาตลอดชีวิต จำนวนไวรัสเอชไอวีที่อยู่ในกระแสเลือดของมารดามีผลต่อการเลือกการใช้ยา ระยะเวลาในการรักษา วิธีการคลอด และการให้ยาต้านไวรัสหลังคลอดแก่ทารก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า จำนวนไวรัสเอชไอวีสะสมในมารดามีผลเสียต่อการพัฒนาการของระบบประสาทของทารกในเรื่องการเรียนรู้ ภาษาและการทำงานของกล้ามเนื้อ 2.2-3.7 เท่า1 ดังนั้น นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่แสดงความจำเป็นที่จะต้องดูแลให้มารดาในระยะตั้งครรภ์และระหว่างการคลอดมีจำนวนไวรัสเอชไอวีสะสมในกระแสเลือดต่ำ ซึ่งจะช่วยลดผลเสียที่จะเกิดกับการพัฒนาของระบบประสาทในทารกได้

เอกสารอ้างอิง

  1. le Roux SM, Donald KA, Kroon M, et al. HIV Viremia During Pregnancy and Neurodevelopment of HIV-Exposed Uninfected Children in the Context of Universal Antiretroviral Therapy and Breastfeeding: A Prospective Study. Pediatr Infect Dis J 2019;38:70-5.

 

ประโยชน์ของการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                บางคนอาจจะยังมีคำถามว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหรือไม่ ปัจจุบันมีคำตอบจากข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์จากการทบทวนการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ (systematic review) จากงานวิจัยที่ได้มาตรฐานจำนวน 26 งานวิจัยจากปี ค.ศ. 2000-2017 พบว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (breastfeeding promotion intervention) เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนถึง 2.27 เท่าเมื่อเทียบกับการปฏิบัติตามมาตรฐานปกติ (standard care)1 ดังนั้น การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมโดยเฉพาะเมื่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนของโรงพยาบาลยังต่ำกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือร้อยละ 50 โดยเป็นการเพิ่มเติมและสอดแทรกเข้าไปในการดูแลมารดาและทารก เพื่อจะช่วยให้โรงพยาบาลบรรลุเป้าหมายและช่วยให้เด็กไทยได้กินนมแม่เพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Kim SK, Park S, Oh J, Kim J, Ahn S. Corrigendum to “Interventions promoting exclusive breastfeeding up to six months after birth: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials” [Int. J. Nurs. Stud. 80 (April) (2018) 94-105]. Int J Nurs Stud 2019;89:132-7.