คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

รูปแบบการกินกำหนดสัดส่วนลักษณะร่างกายทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ความอ้วนหรือความผอมมีผลมาจากสัดส่วนของร่างกายของคนซึ่งมีรากฐานมาจากพันธุกรรมคือมารดา บิดาและลักษณะการกินของบุคคลคนนั้น มีการศึกษาพบว่าในส่วนของลักษณะการกินได้รับการตั้งโปรแกรมรูปแบบการกินตั้งแต่ในช่วงแรกของชีวิต1 โดยทารกที่กินนมแม่ทั้งปริมาณและจำนวนครั้งของการกินนมแม่ต่อวันจะสัมพันธ์กับสัดส่วนลักษณะของทารกในลักษณะที่จะลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะอ้วนเมื่อเทียบกับทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ดังที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงประโยชน์ของนมแม่ที่จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะอ้วนเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น การตั้งโปรแกรมรูปแบบการกินตั้งแต่ในช่วงแรกของชีวิตของทารกนั้นได้ส่งผลในระยะยาวต่อสัดส่วนลักษณะของร่างกาย ปริมาณของชั้นไขมันเมื่อเทียบกับชั้นกล้ามเนื้อเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการเกิดโรคต่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเผาพลาญสารอาหารต่าง ๆ ในร่างกายที่เรียกว่ากลุ่มโรคทางเมตาบอลิกที่ปัจจุบันเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต และมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็ง สาเหตุของโรคเหล่านี้เมื่อเราทราบต้นกำเนิดที่มีผลมาจากรูปแบบการกินที่มีการตั้งโปรแกรมไว้ตั้งแต่ในระยะแรกของชีวิต ดังนั้น การที่จะป้องกันลักษณะรูปแบบการกินที่ไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่มองเห็นว่าเป็นสิ่งพื้นฐานและทำได้โดยง่ายคือ การเริ่มให้ทารกได้กินนมแม่อย่างน้อยตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Gridneva Z, Rea A, Hepworth AR, et al. Relationships between Breastfeeding Patterns and Maternal and Infant Body Composition over the First 12 Months of Lactation. Nutrients 2018;10.

 

นโยบายที่ชัดเจนส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? นโยบายในการปฏิบัติงานต่าง ๆ มีความสำคัญ เนื่องจากจะทำให้เกิดแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนแล้ว การเผยแพร่ให้ทราบถึงนโยบายยังส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ มารดาและครอบครัวให้มีความตื่นตัวและมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามนโยบายเพื่อผลสำเร็จ มีการศึกษาถึงความสำคัญของการกำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายมีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า หากต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่เป็นสถานที่ที่จะให้การดูแลการคลอดและการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนให้แก่หน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และองค์กรภาคเอกชนที่จะมีบทบาทในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อมารดาจำเป็นต้องกลับไปทำงาน การกำหนดนโยบายต่อภาคสังคมให้มีความเข้าใจ ตระหนักและทราบถึงประโยชน์และความจำเป็นในการที่จะให้ลูกได้กันนมแม่ โดยการมีนโยบายต่อภาคสังคมนั้นรวมถึงกระบวนการที่จะสื่อสารต่อสังคมโดยผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ คือ สื่อทีวี วิทยุ และอินเตอร์เน็ต จะช่วยให้การเข้าถึงของคนที่เป็นเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดการรับทราบทำได้ดีขึ้น ดังนั้น การเลือกสรรสื่อสาธารณะที่ตรงกับจริตของผู้รับสารจะทำให้เกิดการเข้าถึงและนำสู่เป้าหมายของการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งมารดา ทารก และสังคมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Gurley-Calvez T, Bullinger L, Kapinos KA. Effect of the Affordable Care Act on Breastfeeding Outcomes. Am J Public Health 2018;108:277-83.

การให้นมทารกเพียงพอป้องกันทารกตัวเหลือง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สาเหตุของภาวะตัวเหลืองที่พบบ่อยในทารกคือ การกินนมไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากการกำจัดสารเหลืองที่มากับการขับถ่ายทำได้น้อยลง จึงมีโอกาสเกิดภาวะตัวเหลืองเพิ่มขึ้น การให้ทารกกินนมบ่อยครั้งขึ้นสัมพันธ์กับการที่ทารกกินนมได้มากขึ้น ขับถ่ายสารเหลืองได้เพิ่มขึ้น จึงป้องกันและลดอาการตัวเหลืองได้ มีการศึกษาพบว่าหากให้ทารกกินนมแม่ตั้งแต่ 8 ครั้งต่อวันขึ้นไปจะมีความเสี่ยงที่เกิดภาวะตัวเหลืองน้อยกว่าทารกที่กินนมแม่น้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน1,2 ดังนั้น การสื่อสารให้มารดามีความเข้าใจถึงความสำคัญของการให้นมแม่อย่างเพียงพอว่าช่วยป้องกันทารกตัวเหลืองได้ และกระตุ้นให้มารดาให้นมทารกอย่างน้อย 8 ครั้งต่อวัน จะช่วยป้องกันและลดภาวะตัวเหลืองในทารกที่นอกเหนือจากการลดความวิตกกังวลของมารดาที่พบว่าทารกมีภาวะตัวเหลืองแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขจำนวนมากที่ต้องใช้ในการให้การดูแลรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลืองด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Hassan B, Zakerihamidi M. The correlation between frequency and duration of breastfeeding and the severity of neonatal hyperbilirubinemia. J Matern Fetal Neonatal Med 2018;31:457-63.
  2. Ketsuwan S, Baiya N, Maelhacharoenporn K, Puapornpong P. The association of breastfeeding practices with neonatal jaundice J Med Assoc Thai 2016;99(suppl.8):s36-42.

ความสำคัญของเชื้อชาติต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เชื้อชาติมีผลต่อความตั้งใจและระยะเวลาของการให้ลูกได้กินนมแม่ ในมารดาและครอบครัวที่มีเชื้อชาติที่แตกต่างกันก็จะมีความเชื่อหรือธรรมเนียมในการปฏิบัติตนเองและการเลี้ยงดูทารกที่แตกต่างกัน ดังนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย จึงทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชนชาติที่แตกต่างกันมีแนวโน้มที่จะมีความแตกต่างกันไปด้วย นอกจากนี้ ประวัติหรือสิ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในชนชาติหนึ่งอาจมีผลที่แตกต่างกันเมื่อมารดาเป็นคนอีกชนชาติหนึ่ง เช่น ประวัติอดีตของมารดาที่เคยได้รับการใช้ความรุนแรงในคนผิวขาวจะส่งผลทำให้มารดาเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วกว่าที่ควร ขณะที่ประวัติอดีตของมารดาที่เคยได้รับการใช้ความรุนแรงในคนผิวดำจะเพิ่มการวางแผนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก1 เมื่อเป็นเช่นนี้ หากบุคลากรทางการแพทย์ได้ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรม ธรรมเนียม ประเพณี และการตอบสนองต่ออุปสรรคต่าง ๆ ของคนในแต่ละเชื้อชาติที่ให้การดูแล ก็จะทำให้มีโอกาสที่จะบรรลุสู่ความสำเร็จในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Holland ML, Thevenent-Morrison K, Mittal M, Nelson A, Dozier AM. Breastfeeding and Exposure to Past, Current, and Neighborhood Violence. Matern Child Health J 2018;22:82-91.

การกินนมแม่ป้องกันเบาหวานได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีทั้งผลในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งล้วนแล้วแต่ป้องกันการเสียชีวิตของทารกที่ได้กินนมแม่แล้วทั้งสิ้น ในระยะสั้นช่วยป้องกันอาการท้องเสียจากการติดเชื้อที่ทำให้ทารกเสียชีวิตได้ในช่วงแรกของชีวิต ในระยะยาวช่วยป้องกันการเป็นเบาหวานที่เป็นโรคเรื้อรังที่จะนำไปสู่โรคอื่น ๆ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคไต ที่มักเป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุเสียชีวิต ดังนั้น หากมารดาได้ลงทุนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันอันตรายจากการเสียชีวิตของทารกตั้งแต่ในระยะแรกและเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่และสูงมากขึ้นด้วยการเริ่มต้นให้ลูกได้กินนมแม่ โดยมีการศึกษาว่า หากทารกได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 3 เดือนจะสามารถลดการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินเมื่อทารกเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะวัยรุ่น ซึ่งการลดการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินจะช่วยป้องกันการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้1 การเผยแพร่ความรู้ในเรื่องนี้ควรมีการส่งเสริมให้มารดาและครอบครัวเข้าใจถึงความสำคัญของการให้ลูกได้กินนมแม่มากขึ้น ดังคำว่า ?ให้ลูกได้กินนมแม่เสมือนกับให้ลูกได้กินยาอายุวัฒนะ? นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

  1. Hui LL, Kwok MK, Nelson EAS, Lee SL, Leung GM, Schooling CM. The association of breastfeeding with insulin resistance at 17 years: Prospective observations from Hong Kong’s “Children of 1997” birth cohort. Matern Child Nutr 2018;14.