คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การผ่อนคลายร่างกายและจิตใจมีผลดีต่อการให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเครียดส่งผลเสียต่อการให้นมลูกโดยภาวะเครียดจะมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองส่วนไฮโปธาลามัสที่มีผลในการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโทซินหรือฮอร์โมนแห่งความรักที่มีผลต่อการหลั่งไหลของน้ำนม ดังนั้น การฝึกให้มารดาผ่อนคลายร่างกายและจิตใจได้ในระหว่างช่วงระยะเวลาหลังคลอดจึงเป็นประโยชน์ต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเป็นผลดีต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 การผ่อนคลายร่างกายและจิตใจของสตรีหลังคลอดมีการบำบัดได้หลากหลายวิธีในการแพทย์ทางเลือก ซึ่งไม่ว่าวิธีใด หากทำให้มารดารู้สึกผ่อนคลายของทั้งร่างกายหรือจิตใจก็น่าจะมีผลช่วยต่อการมาของน้ำนม การไหลของน้ำนม และเมื่อมารดามีจิตใจที่ผ่อนคลายและสบาย ปัญหาที่พบได้บ่อยที่เป็นปัญหาในการหยุดการให้นมลูกก่อนเวลาอันควรคือ การรู้สึกว่าน้ำนมไม่เพียงพอ ก็จะพบน้อยลง ความคิดและการที่จะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคอื่น ๆ ของมารดาก็จะทำได้ดีขึ้น การบรรลุเป้าหมายของความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาจึงพบสูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Fotiou C, Siahanidou T, Vlastarakos PV, Tavoulari EF, Chrousos G. The effect of body and mind stress-releasing techniques on the breastfeeding of full-term babies; a critical analysis of published interventional studies. J Matern Fetal Neonatal Med 2018;31:98-105.

สตรีที่ไม่มีลูกมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่สูงกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่สตรีไม่มีลูกนั้นมีการศึกษาพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่สูงกว่าสตรีที่มีลูก1 เนื่องจากความเชื่อที่ว่า การที่สตรีมีการตกไข่ เมื่อมีไข่ตกแล้ว จะมีแผลที่รังไข่ ซึ่งจะมีการซ่อมแซมและรักษาตัวเองของรังไข่ แต่การเกิดการตกไข่ที่เกิดบ่อยกว่าในสตรีไม่มีบุตรรวมทั้งกรณีที่สตรีนั้นไม่ได้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ที่สูงกว่า ดังนั้น ประวัติการตั้งครรภ์หรือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นเสมือนสิ่งที่ป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าชนิดของมะเร็งที่พบที่สัมพันธ์กับประวัติการไม่เคยมีบุตร ได้แก่ มะเร็งรังไข่ชนิด clear cell และ endometrioid จากข้อมูลเหล่านี้ ทำให้การดูแลหรือคัดกรองสตรีในแต่ละคนของแพทย์อาจใช้ประวัติเหล่านี้ร่วมในการวางแผนการคัดกรองมะเร็งรังไข่ในสตรีได้อย่างเหมาะสมตามความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้การดูแลมีความจำเพาะและเหมาะสมในการเลือกใช้วิธีคัดกรองมากกว่าการให้คำปรึกษาหรือแนะนำอย่างทั่ว ๆ ไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Gaitskell K, Green J, Pirie K, et al. Histological subtypes of ovarian cancer associated with parity and breastfeeding in the prospective Million Women Study. Int J Cancer 2018;142:281-9.

ความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มีความสำคัญ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในมารดาหลังคลอด มารดาที่มีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้นจะมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานกว่ามารดาที่ขาดความเชื่อมั่นหรือขาดความมั่นใจ ซึ่งมีข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วในมารดาที่คลอดทารกครบกำหนด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการศึกษาถึงความเชื่อมั่นในตนเองของมารดาว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่คลอดทารกก่อนกำหนดในระยะที่ใกล้ครบกำหนด ผลที่พบก็เป็นเช่นเดียวกันกับการคลอดทารกที่ครบกำหนดคือ ส่งผลดีต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ยาวนานกว่า1 ความเชื่อมั่นในตนเองของมารดานั้นจะส่งผลต่อการปฏิบัติของมารดาที่เมื่อเผชิญกับอุปสรรคก็จะมีความพยายามที่จะฟันฝ่าจนผ่านพ้นไป ไม่หยุดหรือเลิกล้มโดยง่าย จึงทำให้โอกาสที่มารดาจะมีระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยาวนานกว่าเพิ่มขึ้น การที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเองของมารดานั้นประกอบไปด้วยการที่มารดามีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องเต้านม การสร้างน้ำนม การเข้าเต้าและการจัดท่าให้นมลูกและการให้มารดาได้ฝึกฝนปฏิบัติการให้นมแม่จนกระทั่งสร้างความมั่นใจให้แก่มารดาว่าให้นมลูกได้ ดังนั้นหากบุคลากรทางการแพทย์ต้องการจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นของมารดา สิ่งที่จำเป็นก็คือ การให้ความรู้พื้นฐานเรื่องเต้านม และฝึกปฏิบัติให้มารดาเข้าเต้าหรือจัดท่าให้นมลูกได้อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างความเชื่อมั่นของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Gerhardsson E, Hildingsson I, Mattsson E, Funkquist EL. Prospective questionnaire study showed that higher self-efficacy predicted longer exclusive breastfeeding by the mothers of late preterm infants. Acta Paediatr 2018.

การคุมกำเนิดด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดในมารดาที่ให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในมารดาที่มีความตั้งแต่ที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหกเดือนแรก หากมารดาสามารถให้นมแม่ได้อย่างเดียวและให้นมแม่ได้บ่อยและสม่ำเสมอ 8 ครั้งต่อวัน การปฏิบัติได้ดังนี้ถือเป็นการคุมกำเนิดวิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับให้สามารถใช้ได้ หากมารดาปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดข้างต้น อย่างไรก็ตาม มารดาส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องนี้และขาดความมั่นใจว่าจะสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดที่จะส่งผลทำให้เกิดภาวะการคุมกำเนิดที่เรียกว่า การคุมกำเนิดด้วยการให้นมแม่ในระยะหลังคลอดที่มารดายังไม่มีประจำเดือน (Lactation amenorrhea method) เมื่อมารดาขาดความมั่นใจ การให้การคุมกำเนิดเสริมด้วยวิธีอื่น ๆ จึงมีบทบาทเพิ่มขึ้น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดกินเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ง่ายและมารดามักมีความคุ้นเคยกับการกินยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่แล้ว แต่หากมารดามีน้ำนมน้อยหรือไม่เพียงพอ การกินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอาจส่งผลเสียต่อการลดปริมาณน้ำนมได้ หากเริ่มการกินยาเร็วตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ดังนั้น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดกินที่แนะนำสำหรับมารดาที่ให้นมบุตรที่มีขายอยู่ในประเทศไทยจะมีสองชนิดที่มีชื่อการค้า ได้แก่ Exluton และ Cerazette ทั้งสองชนิดนี้จะมีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ใม่ส่งผลเสียต่อการลดปริมาณน้ำนมจึงแนะนำให้ใช้ได้ในระยะหลังคลอด และมักพบว่ามีการใช้ในระยะหลังคลอดในระยะแรกมากกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม1

เอกสารอ้างอิง

  1. Goulding AN, Wouk K, Stuebe AM. Contraception and Breastfeeding at 4 Months Postpartum Among Women Intending to Breastfeed. Breastfeed Med 2018;13:75-80.

ระบบพี่เลี้ยงนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ระบบพี่เลี้ยงนมแม่ (breastfeeding peer support) เป็นระบบที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีประโยชน์ต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และได้รับคำแนะนำให้มีการจัดการให้บริการโดยองค์การอนามัยโลก1 อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศ จำนวนและการกระจายของการให้บริการระบบพี่เลี้ยงนมแม่นั้น มารดายังไม่สามารถเข้าถึงหรือได้รับการให้บริการได้แม้ในประเทศทางยุโรปเช่น ประเทศอังกฤษ สำหรับในประเทศไทยมีความขาดแคลนทั้งบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และระบบที่จะจัดการให้บริการในลักษณะพี่เลี้ยงนมแม่ ดังนั้นเมื่อมีทั้งความขาดแคลนของตัวบุคลากรและขาดระบบ การที่จะสร้างให้เกิดกระบวนการการสนับสนุนในระบบพี่เลี้ยงนมแม่ได้จึงจำเป็นต้องทำทั้งสองด้าน คือ ต้องมีการพัฒนาและเพิ่มจำนวนบุคลากรที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงที่มีมาตรฐาน และต้องมีนโยบายสนับสนุนการสร้างให้เกิดระบบพี่เลี้ยงนมแม่ที่ชัดเจนและมีความต่อเนื่องจนกระทั่งสามารถที่จะให้บริการโดยมีความเพียงพอและมารดาสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย สิ่งเหล่านี้ต้องการการเริ่มต้นหรือผลักดันโดยหน่วยงานของภาครัฐที่รับผิดชอบหรือมีความเกี่ยวข้อง และต้องการการสนับสนุนของหน่วยงานภาคการศึกษาที่จะช่วยในการพัฒนาคน และการสร้างบันไดอาชีพให้บุคลากรเหล่านี้สามารถทำงานได้โดยมีความเจริญก้าวหน้าและดำรงการทำงานอยู่ได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการระบบการให้บริการ ซึ่งหากสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยังมีอัตราที่ต่ำอยู่ให้สูงขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Grant A, McEwan K, Tedstone S, et al. Availability of breastfeeding peer support in the United Kingdom: A cross-sectional study. Matern Child Nutr 2018;14.