คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

ปัญหาเรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เมื่อมารดาให้นมบุตรในช่วงหลังคลอด โดยทั่วไปข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ ให้นมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก จะเห็นช่วงเวลาที่ให้นมบุตรตามข้อแนะนำเป็นช่วงเวลาที่นาน ในระหว่างช่วงเวลาที่ให้นมบุตรนั้น หากมารดามีโรคประจำตัวหรือมีความเจ็บป่วยขึ้น การใช้ยาก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้น ปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ คือ มารดาจะสามารถรับประทานยาแล้วยังคงให้นมบุตรได้หรือไม่ ความปลอดภัยของยาในระหว่างการให้นมบุตร และเมื่อไรจึงจะมีความจำเป็นต้องหยุดให้นมลูกหากยาที่ได้รับอาจมีผลเสียรุนแรงต่อทารก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานที่เผยแพร่และให้ความรู้เรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร ซึ่งหากมีการค้นคว้าในอินเตอร์เน็ตจะพบหน่วยงานหรือองค์กรที่ให้ความรู้เรื่องการใช้ยาหลายหน่วยงาน มีทั้งที่ต้องลงทะเบียนเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมหรือค้นหาข้อมูลและแบบที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเผยแพร่ฟรี แต่หน่วยงานที่บุคลากรทางการแพทย์คุ้นเคยได้แก่ LactMed มีการศึกษาในนอร์เวย์พบว่า ยาที่มีคนสอบถามเรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรมากได้แก่ ยาต้านภาวะซึมเศร้า และข้อมูลที่คนส่วนใหญ่ต้องการทราบก็คือ ความปลอดภัยของยาในระหว่างการให้นมบุตร1 แต่สำหรับในประเทศไทย ยาที่ใช้กันมากในระยะหนึ่งเดือนแรกหลังคลอด ได้แก่ ยาขับน้ำคาวปลาและยาสตรีต่าง ๆ ซึ่งขาดความจำเป็นในการใช้และอาจเป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกได้ การให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้จึงเป็นของทั้งบุคลากรทางการแพทย์ องค์กรที่เกี่ยวข้อง สื่อสารมวลชน รวมทั้งเครือข่ายทางสังคมต่าง ๆ ที่ควรร่วมมือกันเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ เพื่อประโยชน์ของมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Jahnsen JA, Widnes SF, Schjott J. Analysis of questions about use of drugs in breastfeeding to Norwegian drug information centres. Int Breastfeed J 2018;13:1.

 

 

การให้รางวัลสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การให้รางวัลแก่มารดาสำหรับมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามกำหนดที่ควรจะเป็น มองดูแล้วก็เป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่งที่พบว่าสามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ แต่จากการวิเคราะห์เจาะลึกลงไปในรายละเอียดพบว่า มุมมองของมารดากับการให้รางวัลหรืออาจเป็นคูปองที่นำไปใช้ประโยชน์ในการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ เมื่อมารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามกำหนดจะมองว่า การให้รางวัลนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดหรือเป็นปัจจัยที่ทำให้มารดาเลือกที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่เมื่อมารดามีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว มารดามองว่าการได้รับรางวัลนี้เสมือนกับเป็นสิ่งที่ตอบสนองหรือทดแทนการที่ต้องผ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ในการที่จะให้นมลูกได้ตามกำหนด1 นโยบายในการให้รางวัลหรือสิ่งตอบแทนในการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามกำหนด ได้มีการศึกษาพบว่าช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่การทำความเข้าใจถึงจิตใจมารดาและเหตุผลที่มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จที่น่าจะเกิดการเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของนมแม่เป็นหลักมากกว่า บุคลากรทางการแพทย์ควรส่งเสริมให้มารดามีความตั้งใจที่จะเริ่มต้นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อน หลังจากนั้นการที่จะให้รางวัลหรือประกาศนียบัตรเพื่อเป็นความภาคภูมิใจของมารดาและครอบครัวที่เป็นเครื่องย้ำเตือนให้มารดาระลึกถึงการฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ที่นำสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้หากมีความเข้าใจและตระหนักในเหตุผลต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้แล้วเป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

  1. Johnson M, Whelan B, Relton C, et al. Valuing breastfeeding: a qualitative study of women’s experiences of a financial incentive scheme for breastfeeding. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:20.

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่นับถือศาสนาอิสลาม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ธรรมเนียมปฏิบัติรวมทั้งการนับศาสนาเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากความเข้าใจในแก่นแท้ของศาสนาและการยึดติดกับธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่าง หากไม่มีการชี้แจงให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์หรือความต้องการหลักของข้อปฏิบัติต่าง ๆ อาจทำให้การปฏิบัติบางอย่างอาจมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากบุคลากรทางการแพทย์ต้องดูแลมารดาที่นับถือศาสนาที่แตกต่างกันในชุมชน การทำความเข้าใจกับข้อปฏิบัติของศาสนาต่าง ๆ เพื่อการให้คำปรึกษาและแนะนำการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่มารดาและครอบครัวปฏิบัติได้โดยไม่ขัดกับข้อปฏิบัติทางศาสนา ในประเทศไทยมีมารดาที่นับถือศาสนาพุทธมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ เมื่อมีมารดาที่นับถืออิสลามฝากครรภ์และคลอด ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แม้เป็นสิ่งจำเป็น แต่ควรให้ความสำคัญกับโต๊ะอิหม่ามหรือผู้นำทางศาสนาในชุมชน1 เพราะหากผู้นำทางศาสนาในชุมชนมีความเข้าใจถึงความจำเป็นและความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การอธิบายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยสอดคล้องกับข้อปฏิบัติทางศาสนาจะทำได้ดี เข้าใจง่าย และสื่อได้ถึงใจมารดาและครอบครัวมากเสียยิ่งกว่าการอธิบายหรือแนะนำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น การขอความช่วยเหลือจากโต๊ะอิหม่ามในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่จะแก้ไขหรือลดข้อแนะนำที่อาจมีความขัดแย้งกับข้อปฏิบัติในทางศาสนา ซึ่งจะเป็นทั้งผลดีต่อมารดาและทารกรวมทั้งช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ในกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องดูแลมารดาที่นับถือศาสนาคริสต์ ก็อาจใช้หลักในการที่จะช่วยสื่อความเข้าใจในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทำนองเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Kamoun C, Spatz D. Influence of Islamic Traditions on Breastfeeding Beliefs and Practices Among African American Muslims in West Philadelphia: A Mixed-Methods Study. J Hum Lact 2018;34:164-75.

 

Breastfeeding case study 7

Breastfeeding case study 7-1

home environment-1

home environment-2

Breastfeeding case study 7-2

 

 

การเลือกกินอาหารของมารดาในช่วง 1000 วันแรกของชีวิตทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันเราทราบถึงความสำคัญของช่วงชีวิต 1000 วันแรกนับแต่การกำเนิดทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งทารกเจริญเติบโตขึ้นจนอายุ 2 ปี ในช่วงเวลาเหล่านี้ การได้รับสารอาหารที่เหมาะสมจะเป็นผลดีแก่การเจริญเติบโต พัฒนาการของทารก และป้องกันการเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนในมารดา มีการศึกษาพบว่ามารดาในระยะตั้งครรภ์เลือกกินอาหารตามที่จะจัดหาได้ ตามความอยากรสชาติอาหาร และบางส่วนก็เลือกที่จะปรับเปลี่ยนอาหารให้มีความเหมาะสมในการบำรุงครรภ์หรือบำรุงทารก แต่ส่วนใหญ่อาหารที่มารดารับประทานมักมีปริมาณเกินความจำเป็น ขณะที่มีคุณค่าทางอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ครบถ้วน ทำให้มารดามีความเสี่ยงต่อการที่จะมีน้ำหนักระหว่างการตั้งครรภ์เกินกว่าที่ควรจะเป็น และมารดาก็ยังขาดความรู้เรื่องน้ำหนักที่เหมาะสมที่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงที่พอเหมาะในระหว่างการตั้งครรภ์1 นอกจากนี้ มารดายังคงกินอาหารที่บำรุงเพิ่มขึ้นในระหว่างการให้นมบุตร ซึ่งอาจจะเหมาะสมหากมารดาได้รับสารอาหารและพลังงานที่พอเหมาะกับการผลิตและสร้างน้ำนม แต่หากมารดารับประทานอาหารที่เพิ่มขึ้นโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจก็จะเป็นความเสี่ยงต่อทั้งตัวของทารกที่อาจจะขาดสารอาหารที่จำเป็นและมารดาที่จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรเป็นพี่เลี้ยงที่จะให้คำปรึกษาให้มารดามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ให้ดี เพื่อช่วยให้การเริ่มต้นของช่วงชีวิตของทารกใน 1000 วันแรกเป็นช่วงชีวิตที่มีความสมบูรณ์แลเอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกสูงสุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Kavle JA, Mehanna S, Khan G, Hassan M, Saleh G, Engmann C. Program considerations for integration of nutrition and family planning: Beliefs around maternal diet and breastfeeding within the context of the nutrition transition in Egypt. Matern Child Nutr 2018;14.