คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

ปัจจัยที่ช่วยและขัดขวางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในประเทศไทยยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่มีการกำหนดไว้คือร้อยละ 50 ซึ่งมีการศึกษาถึงปัจจัยที่มีส่วนช่วยและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในคนไทยในภาคอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น พบว่า ปัจจัยที่มีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว คือ ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา ความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสื่อในสังคม ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว คือ การรับรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การต้องกลับไปทำงานของมารดา และการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมผงดัดแปลงสำหรับทารก สำหรับปัจจัยที่อาจเป็นทั้งปัจจัยที่มีส่วนช่วยหรือปัจจัยที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง ได้แก่ ครอบครัว บุคลากรทางสาธารณสุข และธรรมเนียมปฏิบัติในการเลี้ยงดูทารก1 แม้ว่าการศึกษานี้จะทำในภาคอีสาน แต่ข้อมูลน่าจะนำมาเทียบเคียงและใช้ในการวางแผนในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในภาคอื่น ๆ และอาจเป็นแนวทางในการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดที่อาจเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศไทยได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Thepha T, Marais D, Bell J, Muangpin S. Perceptions of northeast Thai breastfeeding mothers regarding facilitators and barriers to six-month exclusive breastfeeding: focus group discussions. International Breastfeeding Journal 2018;13:14.

 

การรักษาเต้านมอักเสบ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เมื่อสาเหตุหลักของการเกิดเต้านมอักเสบคือ การมีการขังหรือขาดการระบายของน้ำนมออกจากเต้านม ซึ่งอาจเกิดจากการเว้นระยะของการให้ลูกดูดนมนาน โดยเกิดเนื่องจากการต้องมีการแยกกันระหว่างมารดาหรือทารกขณะที่มีอาการเจ็บป่วยหรือในช่วงที่มารดาต้องไปทำงานและไม่ได้ให้นมลูก การรักษาจึงใช้หลักการแก้ไขสาเหตุคือ การช่วยให้มีการระบายของน้ำนมออกจากเต้านม วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การระบายน้ำนมจากเต้านมโดยให้ลูกดูดนมจากเต้าของมารดา รองลงมาอาจใช้การบีบน้ำนมด้วยมือหรือการปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มนม การนวดหรือการประคบร้อนจะช่วยให้ท่อน้ำนมขยายและระบายได้ดีขึ้น1 จึงอาจใช้วิธีเหล่านี้ร่วมกันกับการกินยาลดอาการปวดซึ่งมักพบว่ามารดามีอาการปวดร่วมด้วย สำหรับการใช้ยาปฏิชีวนะ แนะนำให้ใช้ในกรณีที่คิดว่าการอักเสบของเต้านมมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย โดยหากมารดามีหัวนมแตกหรือแผลที่หัวนม หรือมารดามีไข้สูงนานกว่า 24 ชั่วโมง ควรพิจารณาการใช้ยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะที่มักใช้ในการรักษาอาการเต้านมอักเสบจากการติดเชื้อ ได้แก่ cloxacillin โดยให้ยารักษานาน 7-10 วัน หากมารดามีการแพ้ยาเพนนิซิลิน อาจพิจารณาการใช้ยา cephalexin แทน ในระหว่างให้การรักษามารดายังคงให้นมลูกได้ และควรที่จะให้นมลูกอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการลดการขังของน้ำนม ลักษณะของน้ำนมในขณะมีเต้านมอักเสบ รสชาติของน้ำนมอาจเปลี่ยนแปลงไป โดยมีรสอูมามิ ลูกสามารถกินนมนี้ได้โดยปราศจากอันตราย

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.

สาเหตุของการเกิดเต้านมอักเสบ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? โดยทั่วไปสาเหตุของเต้านมอักเสบจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากเป็นสตรีที่ไม่ได้ให้นมบุตรส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากการได้รับการบาดเจ็บหรือเป็นภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเต้านมหรือเสริมเต้านม แต่หากเป็นสตรีที่ให้นมบุตรสาเหตุของการเกิดเต้านมอักเสบจะเกิดจากการมีการระบายน้ำนมออกไม่เพียงพอ ทำให้มีน้ำนมขัง เกิดการตึงคัดและอักเสบของเต้านม1 เมื่อสาเหตุของการเกิดภาวะเต้านมอักเสบเป็นจากการระบายน้ำนมออกที่ไม่เหมาะสม การป้องกันหรือหลักในการดูแลรักษาก็คือ การให้มีการระบายน้ำนมออกให้เพียงพอและวิธีที่ดีที่สุดที่จะระบายน้ำนมได้อย่างดีก็คือ การที่ให้ลูกได้ดูดและกินนมแม่ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันภาวะเต้านมอักเสบการแนะนำให้มารดาให้นมลูกบ่อย ๆ วันละ 8-12 ครั้งก็จะลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้ได้ อย่างไรก็ตาม มีภาวะเต้านมอักเสบบางส่วนที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งหากสงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย การรักษาก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการดูแลให้มารดายังคงมีการให้นมลูกบ่อย ๆ และสม่ำเสมอเพื่อระบายน้ำนม การดูแลที่เหมาะสมจะเป็นผลดีในการป้องกันการอักเสบที่ลุกลามไปเป็นฝีที่เต้านมและช่วยปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.

จะให้การวินิจฉัยเต้านมอักเสบได้อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เต้านมอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการให้นมบุตรที่พบได้บ่อยในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด การให้การวินิจฉัยภาวะเต้านมอักเสบนั้นส่วนใหญ่ใช้อาการและอาการแสดงทางคลินิกที่ได้จากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย สำหรับเกณฑ์การวินิจฉัยที่ใช้กันโดยทั่วไปได้แก่ การมีอาการเจ็บเต้านม เต้านมแดง หรือคลำได้ก้อน ซึ่งต้องมีอาการสองอย่างร่วมกับอาการครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ?(ลักษณะอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ อาการมีไข้ หนาวสั่น หรือปวดศีรษะ)1 การให้คำอธิบายและสร้างความเข้าใจกับมารดาและแนะนำอาการที่บ่งบอกถึงการเกิดภาวะเต้านมอักเสบจะช่วยให้มารดามีความรู้และตระหนักถึงอันตรายในการเกิดภาวะเต้านมอักเสบ เพราะหากไม่ได้รับการดูแลหรือรักษาอย่างถูกวิธี ภาวะเต้านมอักเสบอาจลุกลามไปจนเกิดฝีที่เต้านมได้ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ต้องได้รับการรักษาเป็นเวลานาน และอาจส่งผลเสียทำให้เกิดการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.

 

หากมีอาการเต้านมอักเสบจะมีอาการอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เต้านมอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งพบได้ตั้งแต่ร้อยละ 9.5-23.7 ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การวินิจฉัย ระยะเวลาหลังคลอดที่เก็บข้อมูล และความแตกต่างในการให้การดูแลการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอด มีข้อมูลของการศึกษาอาการของมารดาที่มีเต้านมอักเสบพบว่า อาการเจ็บเต้านมพบได้ร้อยละ 28 อาการปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยเนื้อตัวพบได้ร้อยละ 27 อาการไข้พบร้อยละ 17 อาการหนาวสั่นพบได้ร้อยละ 14 เต้านมแดงพบร้อยละ 9 และมีก้อนที่เต้านมพบร้อยละ 51 จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นว่า มารดาที่มีเต้านมอักเสบมีส่วนน้อยที่พบว่ามีก้อนที่เต้านม แต่มารดาที่มีก้อนที่เต้านมจากการขังของน้ำนมจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดเต้านมอักเสบได้ โดยส่วนใหญ่ของเต้านมอักเสบจะมีอาการเจ็บที่เต้านม ดังนั้น หากมารดามีอาการเจ็บเต้านม บุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรละเลย ควรทำการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด หากสามารถวินิจฉัยภาวะเต้านมอักเสบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผลการรักษาจะดีและป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนระยะเวลาที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.