คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การให้อาหารอื่นก่อนการให้นมแม่เสี่ยงต่อการเกิดเต้านมอักเสบ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เต้านมอักเสบเป็นอาการที่เกิดการอักเสบของเต้านมโดยสิ่งที่เป็นสาเหตุหลักคือการขังและไม่มีการระบายของน้ำนมดังที่ได้เขียนบรรยายไว้ในบทความก่อนหน้านี้แล้ว การให้อาหารอื่นก่อนการให้นมแม่ทำไมจึงมีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดการอักเสบของเต้านมมากขึ้น สิ่งนี้อธิบายจากการที่ให้อาหารอื่นแก่ทารกจะทำให้ทารกอิ่มและดูดนมแม่น้อยลง ซึ่งหากเริ่มต้นให้ตั้งแต่ในระยะแรกจะทำให้ทารกติดการกินอาหารอื่นได้ อาหารอื่นที่พบว่ามีการให้แก่ทารกบ่อยก็คือ นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งจะทำให้ทารกสับสนระหว่างการดูดนมแม่ซึ่งกลไกแตกต่างจากการกินนมจากขวด ทำให้ทารกปฏิเสธการกินนมแม่จากเต้าได้ ทำให้มีความเสี่ยงของการขังของน้ำนมจากการที่ทารกไม่ยอมกินนมจากเต้า สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการขังและการตึงคัดของเต้านม ซึ่งหากมีการดูแลที่ไม่เหมาะสม ก็จะนำไปสู่การเกิดการอักเสบของเต้านม โดยพบว่า หากมารดาให้อาหารอื่นแก่ทารกในระยะแรกหลังคลอดจะมีความเสี่ยงที่มารดาจะเกิดการอักเสบของเต้านมสูงกว่ามารดาที่ให้นมแม่อย่างเดียวถึง 2.8 เท่า1 นี่จึงเป็นเสมือนประโยชน์อย่างหนึ่งของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่อาจจะลดความเสี่ยงในการเกิดเต้านมอักเสบได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.

 

 

การผ่าตัดคลอดเสี่ยงต่อการเกิดเต้านมอักเสบ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เต้านมอักเสบเป็นอาการที่เกิดการอักเสบของเต้านมโดยสิ่งที่เป็นสาเหตุหลักคือการขังและไม่มีการระบายของน้ำนม ซึ่งเมื่ออาการขังของน้ำนมเป็นมากขึ้นก็จะยิ่งไปอุดตันท่อน้ำนม ทำให้เกิดอาการคัด เจ็บและอักเสบของเต้านม การอักเสบของเต้านมอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยก็ได้ ซึ่งหากการอักเสบของเต้านมเป็นมากขึ้นอาจลุกลามไปเป็นฝีที่เต้านมได้ แล้วทีนี้ บางคนอาจเกิดคำถามหรือสงสัยว่า การผ่าตัดคลอดเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเกิดเต้านมอักเสบ การผ่าตัดคลอดแม้เป็นวิวัฒนาการในการช่วยให้การคลอดเกิดขึ้นได้โดยการผ่าตัดนำทางออกมาจากมดลูกผ่านผนังหน้าท้อง แต่กลไกการคลอดของการผ่าตัดคลอดนั้นไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มารดาจำเป็นต้องได้รับยาระงับความรู้สึกในขณะที่ผ่าตัดคลอด ซึ่งเมื่อได้รับยาระงับความรู้สึกจะมีผลต่อสติและการรับรู้ของมารดา การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่โดยธรรมชาติแล้วจะเริ่มต้นเร็วตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดโดยส่วนใหญ่จะเกิดในหนึ่งชั่วโมงแรก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการมาของน้ำนมและฮอร์โมนที่จะช่วยให้น้ำนมไหลได้ดี เมื่อสติหรือการรับรู้ของมารดายังไม่สมบูรณ์การเริ่มต้นการให้ลูกได้ดูดนมหรือการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อก็จะเกิดช้า การมาของน้ำนมก็มักจะช้า ขณะที่ความต้องการน้ำนมของทารกจะเพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป ทารกอาจร้องกวน หรือมารดาอาจวิตกกังวลว่ามีน้ำนมไม่เพียงพอ จึงให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกแก่ลูก ทารกก็จะเกิดการติดขวดนมเนื่องจากน้ำนมที่ไหลจากขวดนมนั้นไหลออกได้ง่ายโดยทารกไม่ต้องออกแรงดูด ดังนั้นเมื่อให้ทารกกลับไปกินนมแม่จากเต้า ทารกจะสับสน ไม่ยอมดูดนมและเกิดอาการหงุดหงิดหรือร้องกวนได้ แต่เมื่อน้ำนมของมารดาเริ่มมาและตึงคัด ทารกกลับไม่ยอมดูดหรือกินนมจากเต้า การขังของน้ำนมส่งผลให้เกิดการอักเสบของเต้านมจึงเกิดขึ้นได้ มีรายงานว่า การผ่าตัดคลอดมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดเต้านมอักเสบมากกว่ามารดาที่คลอดทางช่องคลอดถึง 3.5 เท่า1 ดังนั้น การที่จะป้องกันหรือลดความเสี่ยงนี้ ควรเริ่มจากการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น และถ้าหากจำเป็นต้องผ่าตัดคลอด การเลือกวิธีการระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง การเริ่มการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและให้ลูกได้ดูดนมก็จะเริ่มได้เร็วกว่า อาจทำได้ใกล้เคียงกับการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดเต้านมอักเสบที่พบเพิ่มขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.

 

ความรู้สึกของมารดาครรภ์แรกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความรู้สึกของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้มีการศึกษาถึงความรู้สึกของมารดาครรภ์แรกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านการลงข้อมูลในแอปพริเคชั่นของโทรศัพท์มือถือ โดยที่มารดาจะบันทึกความรู้สึกประจำวันคล้ายการบันทึกไดอารี่ ซึ่งพบว่า มารดาจะมีความวิตกกังวล วุ่นวาย และไม่สบายใจระหว่างความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่ยังไม่อาจคาดเดาได้ และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันของบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแล สิ่งนี้สะท้อนว่า ความรู้ความเข้าใจและความมั่นใจว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เป็นสิ่งที่ควรสร้างให้เกิดขึ้นแก่มารดาเพื่อลดความวิตกกังวลหรือความไม่สบายใจของมารดาที่จะทำให้มารดาเครียดและมีผลต่อการให้นมลูกได้ กับอีกส่วนหนึ่งคือ ความรู้ความเข้าใจในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากรควรมีการพัฒนาให้มีมาตรฐาน และจัดระบบให้มีการให้คำปรึกษาไปในแนวทางเดียวกันเพื่อลดความสับสนและความเข้าใจผิดของมารดาในการดูแลให้ลูกได้กินนมแม่1

เอกสารอ้างอิง

  1. Demirci J, Caplan E, Murray N, Cohen S. “I Just Want to Do Everything Right:” Primiparous Women’s Accounts of Early Breastfeeding via an App-Based Diary. J Pediatr Health Care 2018;32:163-72.

การปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? บันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นเป็นแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม การนำแนวทางบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาใช้ในโรงพยาบาลมักพบปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงานหลายอย่าง ตัวอย่างจากการสัมภาษณ์พยาบาลในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาพบว่า อุปสรรคในการนำแนวทางบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ ความขาดแคลนอัตรากำลังของบุคลากร การปฏิบัติที่มีความหลากหลายของพยาบาล ความแตกต่างของการศึกษาและความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของพยาบาล และปัญหาอื่น ๆ ในช่วงระยะหลังคลอด เช่น ความเหนื่อยล้าของมารดา การมาเยี่ยมของญาติผู้ป่วย และงานประจำที่ต้องปฏิบัติในระยะหลังคลอดที่จะรบกวนการให้การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อของมารดาและทารก และการจัดท่าที่เหมาะสมในการให้นมลูกของมารดา1 ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ส่วนใหญ่น่าจะคล้ายคลึงกันกับปัญหาอุปสรรคที่จะนำบันไดสิบขั้นนี้มาใช้ในประเทศไทย ดังนั้น การสนับสนุนเชิงนโยบาย อัตรากำลังบุคลากร ระบบการจัดการพัฒนาความรู้แก่บุคลากร รวมทั้งการธำรงรักษาให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องได้โดยมีความก้าวหน้าในอาชีพการทำงานเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้เด็กไทยได้กินนมแม่และเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีความยั่งยืนของการดำเนินงาน

เอกสารอ้างอิง

  1. Cunningham EM, Doyle EI, Bowden RG. Maternity Nurses’ Perceptions of Implementation of the Ten Steps to Successful Breastfeeding. MCN Am J Matern Child Nurs 2018;43:38-43.

การให้ลูกกินนมแม่ในมารดาที่อ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่มารดาอ้วนมีผลเสียต่อการตั้งครรภ์และการให้นมบุตร โดยมีโอกาสที่จะมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะผ่าตัดคลอดสูงขึ้น การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้า และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักจะสั้นกว่ามารดาที่มีน้ำหนักปกติ มีการศึกษามุมมองของมารดาที่อ้วนต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า มีความท้าทายสามเรื่องที่มารดาต้องเผชิญ เรื่องแรกคือ มารดายังคงมีการตั้งความหวังว่าจะให้ลูกได้กินนมแม่ การที่มารดามีน้ำนมจะทำให้มารดาปลาบปลื้ม เนื่องจากให้นมลูกแสดงถึงบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างมารดาและบุตร เรื่องที่สอง แม้ว่าการให้นมลูกจะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องทราบเทคนิคในการที่จะนำลูกเข้าเต้าเพื่อการดูดนมได้อย่างเหมาะสม เรื่องที่สามคือ การที่มารดาจะต้องนมแม่ในที่สาธารณะ ความวิตกกังวลในการที่ต้องเปิดเผยส่วนของร่างกายที่อ้วนอาจส่งผลต่อจิตใจและความมั่นใจของมารดาในการที่จะให้นมแม่ในที่สาธารณะ1 จะเห็นว่า เรื่องที่มารดาที่อ้วนมีความวิตกกังวลมีความคล้ายคลึงกับมารดาโดยทั่วไป แม้ว่ามารดาที่อ้วนจะมีความเสี่ยงในการที่จะหยุดนมแม่ก่อนระยะเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น การติดตามหรือให้คำปรึกษาและดูแลมารดาและทารกอย่างใกล้ชิดจะลดปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Claesson IM, Larsson L, Steen L, Alehagen S. “You just need to leave the room when you breastfeed” Breastfeeding experiences among obese women in Sweden – A qualitative study. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:39.