คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

ลูกที่กินนมแม่เสี่ยงต่อการเจริญเติบโตช้าจริงหรือ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? แม่บางคนอาจมีความวิตกกังวลว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตช้าของทารก สิ่งนี้ยังเป็นความเชื่อหรือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและก่อให้เกิดความเข้าใจที่สับสนได้ ในเมื่อเราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นมแม่มีประโยชน์และเหมาะสมที่สุดสำหรับทารก แล้วทำไมยังเกิดความเข้าใจหรือความเชื่อในเรื่องนี้ได้ อาจเป็นเพราะทารกที่กินนมแม่มักไม่อ้วน มีน้ำหนักตามเกณฑ์ ในขณะที่ทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกมักมีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรืออ้วน ประกอบกับค่านิยมที่เห็นทารกอ้วนน่ารักเลยอาจเหมาไปว่าทารกที่น้ำหนักปกติ ดูเหมือนว่าทารกจะมีน้ำหนักขึ้นหรืออ้วนได้ไม่ทันใจ ถูกมองว่าเจริญเติบโตช้า แต่ความเป็นจริงแล้วในการเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของทารก ควรเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตปกติของทารก จะถูกต้องมากกว่า มีบางกรณีที่พบทารกมีน้ำหนักขึ้นน้อยกว่าเกณฑ์ ซึ่งพบทั้งในทารกที่กินนมแม่และทารกที่กินนมผง คือ เมื่อเริ่มให้อาหารเสริมตามวัยแก่ทารกไม่เหมาะสม ทำให้ทารกเจริญเติบโตโดยมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ในกรณีเช่นนี้ จะเห็นได้เร็วกว่าในทารกที่กินนมแม่ เนื่องจากพื้นฐานเดิมน้ำหนักตัวปกติ ขณะที่ทารกที่กินนมผงจะมีพื้นฐานน้ำหนักที่มากกว่าหรืออ้วน ทำให้กระทบต่อความรู้สึกของมารดาช้ากว่า ดังนั้น ประเด็นคือควรให้ความสำคัญกับการให้อาหารเสริมตามวัยแก่ทารกอย่างครบถ้วนและพอเพียง ก็จะป้องกันความเสี่ยงในการเกิดการเจริญเติบโตช้าในทารกได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. Zaragoza Cortes J, Trejo Osti LE, Ocampo Torres M, Maldonado Vargas L, Ortiz Gress AA. Poor breastfeeding, complementary feeding and dietary diversity in children and their relationship with stunting in rural communities. Nutr Hosp 2018;0:271-8.

ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อนร่วมงานสำคัญไฉน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? อุปสรรคที่มารดาต้องเผชิญและรู้สึกเป็นปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ การที่มารดาต้องกลับไปทำงาน ซึ่งขณะที่มารดาต้องกลับไปทำงานนั้นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ยังสามารถคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ในกรณีที่ที่ทำงานใกล้บ้าน มารดาอาจแวะกลับบ้านเพื่อมาให้นมลูก หรือหากบ้านอยู่ไกลการบีบเก็บน้ำนมในระหว่างช่วงพักการทำงานก็ช่วยให้มารดามีน้ำนมที่เพียงพอสำหรับให้นมลูกได้ นโยบายของสถานประกอบการก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญ แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมารดาบางคนอาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานในเรื่องของการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้มารดาไม่สบายใจและอาจมีผลต่อการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่า เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่สนับสนุนให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น การสื่อสารของหน่วยงานหรือสถานประกอบการที่จะเชิดชูเพื่อนร่วมงานที่สนับสนุนแม่ให้คงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมเพราะอาจช่วยลดปัญหาและอุปสรรคของมารดาที่จะคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อกลับไปทำงานได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhuang J, Bresnahan MJ, Yan X, Zhu Y, Goldbort J, Bogdan-Lovis E. Keep Doing the Good Work: Impact of Coworker and Community Support on Continuation of Breastfeeding. Health Commun 2018:1-9.

ทารกจะพูดไม่ชัดไหม หากมีภาวะลิ้นติด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? นอกจากปัญหาเรื่องการเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนมแล้ว ปัญหาที่มารดามีความกังวลคือ กลัวว่าเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นจะพูดไม่ชัด การพูดไม่ชัดอาจพบได้ในทารกที่มีภาวะลิ้นติด แต่ก็เป็นในบางคำหรือในบางตัวอักษรที่ออกเสียงยากในภาษาอังกฤษ เช่น ตัวอักษร L, R, S, Z, CH, TH ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าทารกที่มีภาวะลิ้นติดคนใดจะออกเสียงไม่ชัดเมื่อเจริญเติบโตขึ้น เนื่องจากขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะลิ้นติด ความตึงของพังผืดใต้ลิ้น และการยึดหยุ่นของพังผืดใต้ลิ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ภาวะลิ้นติดนี้ไม่ได้มีผลทำให้พัฒนาการในการพูดของทารกช้า ดังนั้น หากมารดาให้นมแม่จากการป้อนจากถ้วย เมื่อทารกโตขึ้นแล้วจึงฝึกดูดนมจากเต้า และมารดาไม่กังวลว่าลูกจะพูดไม่ชัดในบางคำหรือบางตัวอักษร ยอมรับได้ การผ่าตัดก็ไม่มีความจำเป็น แต่หากมารดามีความกังวลเรื่องลูกจะพูดไม่ชัดที่แม้ว่าจะไม่ได้เกิดทุกราย แต่มารดายอมรับไม่ได้หากทารกเกิดพูดไม่ชัดในบางคำหรือบางตัวอักษร แม้ว่าการผ่าตัดเมื่อทารกโตขึ้นในวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่สามารถทำได้ แต่การขั้นตอนจะยุ่งยากและซับซ้อนกว่าการผ่าตัดในระยะแรกหลังคลอดใหม่ ๆ คำแนะนำสำหรับมารดาเหล่านี้ที่มีความวิตกกังวลมากคือ แนะนำให้ทำการผ่าตัดแก้ไขตั้งแต่ในระยะแรกเลย เพราะจะทำให้ลดทั้งการเจ็บหัวนมและความวิตกกังวลเรื่องการพูดของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น เพิ่มความมั่นใจในการที่มารดาสามารถให้นมลูกจากเต้าได้ ซึ่งอาจจะเสริมพลังให้กับมารดาที่ส่งผลดีต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.

 

หากมีภาวะลิ้นติดไม่ผ่าตัดรักษา เป็นไรไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?ทารกที่มีภาวะลิ้นติด หากมีภาวะลิ้นติดเล็กน้อย มักไม่มีปัญหาที่จะทำให้มารดามีอาการเจ็บหัวนมหรือทำให้การเข้าเต้าได้ไม่ดี แต่ในทารกที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางหรือรุนแรงจะมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในการดูดนมจากเต้าได้ ซึ่งในรายที่เกิดปัญหาพบว่าจะทำให้มารดาหยุดการให้นมแม่ก่อนเวลาอันควร สาเหตุก็อาจเกิดจากการเจ็บหัวนมขณะกินนมหรือทารกกินนมได้ไม่ดี มีน้ำหนักตัวขึ้นน้อย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจว่าสาเหตุของการเจ็บหัวนมหรือเข้าเต้าไม่ดีเป็นจากภาวะลิ้นติด ควรมีการปรับเปลี่ยนท่าการให้นมให้เหมาะสมก่อนเสมอ เนื่องจากสาเหตุอันดับหนึ่งของการเจ็บหัวนมหรือเข้าเต้าไม่ดีเกิดจากการจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสมมากกว่า สำหรับในกรณีที่มารดาตัดสินใจที่จะไม่ทำการผ่าตัดรักษา ข้อเสียคือในกรณีที่มารดามีอาการเจ็บหัวนม มารดาอาจหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควรเนื่องจากอาการเจ็บหัวนมหรือมีอาการแทรกซ้อนจากหัวนมแตก เต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม หรือในอีกกรณีหนึ่งมารดาเลือกที่จะบีบหรือปั๊มนมแม่ ป้อนนมแม่จากถ้วยหรือใส่ขวดแล้วให้ลูกดูดนมจากขวดแทนการดูดนมแม่จากเต้า วิธีนี้ข้อดีคือทารกจะยังคงได้กินนมแม่ เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ปากทารกกว้างขึ้น อมหัวนมและลานนมได้ลึกขึ้น ซึ่งมักใช้เวลาราวหนึ่งเดือน มารดาก็จะไม่เจ็บหัวนม การฝึกทารกให้กลับมากินนมแม่จากเต้าก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม หากป้อนนมทารกจากถ้วย ทารกจะฝึกกินนมจากเต้าได้ง่ายกว่าการที่ทารกได้รับการป้อนนมแม่จากขวด

เอกสารอ้างอิง

1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.

2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.

การผ่าตัดรักษาภาวะลิ้นติด น่ากลัวไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? การผ่าตัดรักษาภาวะลิ้นติดในทารกแรกเกิดนั้น ถือเป็นการผ่าตัดเล็ก สามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 5 นาที ทารกไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ขั้นตอนของการผ่าตัด อาจใช้ยาชาทาบริเวณพังผืดใต้ลิ้นที่ต้องการจะผ่าตัด จากนั้นใช้กรรไกรตัดพังผืดออกเล็กน้อยถึงระยะที่จะทำให้ทารกขยับลิ้นยื่นไปข้างหน้าได้ ใช้ไม้พันสำลีกดหยุดเลือดครู่หนึ่ง เมื่อเลือดหยุดก็เสร็จสิ้นการผ่าตัด หลังผ่าตัดแล้ว สามารถให้ทารกดูดนมแม่ได้ทันที หลังการผ่าตัดอาการเจ็บเต้านมของมารดาจะลดลงหรือหายไป ทารกจะแลบลิ้นออกมาได้ดีขึ้น การเข้าเต้ากินนมของทารกก็จะดีขึ้นด้วย ส่วนใหญ่แผลจากการผ่าตัดจะหายสนิทในหนึ่งสัปดาห์หลังการผ่าตัด

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.