คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

ผู้ที่ดูแลการฝากครรภ์กับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? คำถามก่อนหน้านี้ที่เราพบว่า มารดาที่คลอดโดยผดุงครรภ์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่ามารดาที่คลอดโดยสูติแพทย์ มาถึงครั้งนี้แล้วมารดาที่ฝากครรภ์ที่ได้รับการดูแลโดยผดุงครรภ์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แตกต่างจากมารดาที่ฝากครรภ์ที่ได้รับการดูแลโดยสูติแพทย์หรือไม่ มีการศึกษาที่หาคำตอบของคำถามนี้แล้วที่สหรัฐอเมริกาเช่นกัน ผลการศึกษาพบว่า มารดาที่ได้รับการดูแลการฝากครรภ์โดยผดุงครรภ์มีโอกาสที่หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำกว่ามารดาที่ได้รับการดูแลการฝากครรภ์โดยสูติแพทย์ นั่นคือหากฝากครรภ์กับผดุงครรภ์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ยาวนานกว่าฝากครรภ์กับสูติแพทย์1 ซึ่งแม้สิ่งนี้ต้องไปดูในรายละเอียดของความซับซ้อนของมารดาที่อาจจะมีความแตกต่างระหว่างมารดาที่ดูแลการฝากครรภ์โดยผดุงครรภ์กับมารดาที่ดูแลการฝากครรภ์โดยสูติแพทย์ แต่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เราหวนมาคำนึงถึงความสำคัญในการให้เวลากับการส่งเสริมสุขภาพรวมทั้งสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันให้มากขึ้นแม้ว่าจะมีการให้การดูแลมารดาที่มีความซับซ้อนของการตั้งครรภ์สูงกว่า ซึ่งการเอาใจใส่ด้วยความใส่ใจ ไม่ละเลยที่จะให้คำปรึกษา น่าจะช่วยให้ความแตกต่างเหล่านี้หมดหรือลดลงไปได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Lu J, Perera RA, Wheeler DC, Masho SW. The Impact of the Professional Qualifications of the Prenatal Care Provider on Breastfeeding Duration. Breastfeed Med 2018;13:106-11.

 

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผู้ที่ดูแลการคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? บางครั้ง ก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผู้ที่ดูแลการคลอดว่าจะมีความแตกต่างกันไหม หากผู้คลอดคลอดโดยสูติแพทย์ แพทย์ทั่วไป หรือผดุงครรภ์เป็นผู้ช่วยคลอด คำถามนี้ได้รับการศึกษาหาคำตอบโดยมีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า หากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (จะทำหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยในชุมชนรวมทั้งการคลอดที่ไม่มีความซับซ้อน) หรือผดุงครรภ์เป็นผู้ดูแลการคลอด จะพบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่าราว 2 เท่าเมื่อเทียบกับมารดาที่ได้รับการดูแลการคลอดโดยสูติแพทย์ และหากผดุงครรภ์เป็นผู้ทำคลอดจะพบว่ามารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูงกว่าเมื่อมารดาได้รับการดูแลการคลอดโดยสูติแพทย์1 คำอธิบายในเรื่องนี้อาจมองได้สองด้าน คือ เชื่อว่าแพทย์ทั่วไปหรือผดุงครรภ์อาจให้เวลาหรือใส่ใจในการดูแลส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีหรือมากกว่าสูติแพทย์ที่จะมุ่งเน้นเรื่องการดูแลในเรื่องความซับซ้อนของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบในมารดาที่คลอด หรืออาจมองในอีกแง่หนึ่งคือ มารดาที่คลอดโดยสูติแพทย์มักมีความซับซ้อนของโรคที่มากกว่า ดังนั้นโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในกลุ่มนี้จึงลดลง สิ่งนี้มีความน่าสนใจและน่าศึกษาว่าความสัมพันธ์นี้จะเป็นอย่างไรในประเทศไทย และเหตุผลของการที่มารดาที่คลอดโดยสูติแพทย์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำกว่ามารดาที่ดูแลการคลอดโดยผดุงครรภ์ ซึ่งต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป การทราบคำตอบที่ได้จากการศึกษาจะเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดูแลและการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Masho SW. Association between Breastfeeding Duration and Type of Birth Attendant. J Pregnancy 2018;2018:7198513.

 

การใช้สมุนไพรเพื่อกระตุ้นน้ำนม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การแพทย์สมัยโบราณได้มีการกล่าวถึงการใช้สมุนไพรในการกระตุ้นน้ำนม ซึ่งพบทั้งในการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนจีน โดยพืชสมุนไพรของไทยที่เชื่อว่าสามารถกระตุ้นน้ำนมได้ ได้แก่ ใบกะเพรา กุยช่าย กานพลู ขิง มะรุม ใบแมงลัก พริกไทย หัวปลี ใบตำลึง และน้ำนมราชสีร์ ซึ่งการนำมาใช้สามารถทำเป็นอาหารให้แก่มารดาหลังคลอดตั้งแต่ในระยะแรกเพื่อกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็วและมามาก อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยที่เป็นรูปแบบที่ได้รับการยอมรับของสมุนไพรเหล่านี้ยังขาดข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ จะมีข้อมูลก็เฉพาะขิง ที่มีการใช้ขิงเม็ดที่กระตุ้นน้ำนมและมีการวัดปริมาณน้ำนม พบว่ามีน้ำนมเพิ่มมากขึ้นในสัปดาห์แรก1 หลังจากนั้นไม่มีความแตกต่างกัน ข้อมูลนี้น่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ของไทยและประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจที่อาจต่อยอดนำไปใช้ในการส่งออก โดยระบุข้อบ่งใช้อย่างหนึ่งของขิงเม็ดคือ การกระตุ้นน้ำนม ซึ่งหากมีการเผยแพร่ทางการตลาดที่ดีก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในรายได้ของประเทศได้ เมื่อดูตัวอย่างจากการพัฒนาการใช้สมุนไพรจีนในการกระตุ้นน้ำนม จะมียาเม็ดกระตุ้นน้ำนมที่ชื่อว่า Zengru Gao ซึ่งมีสมุนไพรหลักคือ เมล็ดของ Vaccaria segetalis และ Medulla Tetrapanacis2 และได้มีการศึกษาวิจัยตีพิมพ์โดยมีรายงานว่าสามารถกระตุ้นน้ำนมได้ในช่วงสัปดาห์แรกเช่นเดียวกับขิงเม็ด ซึ่งทางองค์การอาหารและยาของจีนรับรองสรรพคุณในข้อบ่งชี้สำหรับการกระตุ้นน้ำนม และมีการวางขายได้ในร้านของยา ซึ่งหากมองดูขิงเม็ดของไทย การพัฒนาต่อยอดให้สามารถได้รับการยอมรับในสรรพคุณการกระตุ้นน้ำนมก็น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับแล้วและไม่พบผลเสียหรือผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายใด ๆ อนาคตการพัฒนาสมุนไพรจะได้มีการยกระดับขึ้นไม่เพียงแต่การใช้ในประเทศไทย ยังรวมถึงการนำไปใช้ในระดับนานาชาติ ในยุคการเดินทางหรือสื่อสารไร้พรมแดน

เอกสารอ้างอิง

  1. Paritakul P, Ruangrongmorakot K, Laosooksathit W, Suksamarnwong M, Puapornpong P. The Effect of Ginger on Breast Milk Volume in the Early Postpartum Period: A Randomized, Double-Blind Controlled Trial. Breastfeed Med 2016;11:361-5.
  2. Wang S, Zhang C, Li C, et al. Efficacy of Chinese herbal medicine Zengru Gao to promote breastfeeding: a multicenter randomized controlled trial. BMC Complement Altern Med 2018;18:53.

 

ความเข้าใจเรื่องทารกเสียชีวิตจากการขาดอาหารที่เหมาะสม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ทารกที่คลอดออกมามักจะเสียชีวิตตั้งแต่ในระยะแรกจากอาการท้องเสีย ซึ่งในยุคนั้นความนิยมในการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกและค่านิยมในการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกยังมีอยู่สูงและยังแสดงถึงฐานะที่ดีของครอบครัวนั้น ๆ เมื่อปัญหาการเสียชีวิตของทารกเกิดจากอาการท้องเสีย แนวทางในการแก้ไขปัญหาขณะนั้นก็คือ การพยาบาลสร้างสาธารณูปโภคที่จะทำให้มีน้ำที่สะอาดที่จะนำมาใช้ในการชงนมให้ทารก ดังนั้น ความคิดจึงมุ่งไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิตเนื่องจากการขาดอาหารที่เหมาะสมโดยยังขาดความคำนึงถึงการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นอาหารที่เหมาะสม สะอาด และดีที่สุดสำหรับทารก สิ่งนี้สะท้อนถึงการมองปัญหาเพียงด้านเดียว คือ เมื่อทารกกินนมผง ขาดน้ำสะอาดในการชงนม การแก้ไขจึงต้องพยายามที่จะสร้างหรือสรรหาน้ำสะอาดมาชงนม1 จนผ่านมาในช่วง 50 ปีหลัง มุมมองทางด้านความคิดและอาหารทารกจึงเริ่มจะปรับทัศนคติหรือมุมมองใหม่ คือ เมื่อทารกเสียชีวิตจากท้องเสีย ควรเลือกอาหารที่ดีและเหมาะสมกับทารกที่สุดคือนมแม่ก่อนการคิดแก้ปัญหาเรื่องน้ำสะอาดที่ใช้ชงนมผง ดังนั้น การสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเริ่มมาเฟื่องฟูมากกว่าในยุคหลัง อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์นี้ได้สอนให้เราควรมีมุมมองของการแก้ปัญหาที่รอบคอบ เลือกตั้งคำถามหรือปัญหาที่เผชิญอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้การแก้ปัญหาหรือบรรลุอุปสรรคต่าง ๆ ทำได้โดยตรง ไม่วกวนและอ้อมค้อมอย่างบทเรียนปัญหาอาการท้องเสียที่ทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่ในระยะแรก

เอกสารอ้างอิง

  1. Wolf JH. “They Lacked the Right Food”: A Brief History of Breastfeeding and the Quest for Social Justice. J Hum Lact 2018;34:226-31.

ประสบการณ์ส่วนตัวของพยาบาลช่วยการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? อาชีพพยาบาลนั้น เมื่อมีครอบครัวและมีบุตร ส่วนใหญ่แม้มีความรู้จากการร่ำเรียนมากในอดีตและประสบการณ์ในการทำงาน แต่เมื่อต้องมีปฏิบัติหน้าที่แม่เต็มตัว รับผิดชอบดูแลบุตรของตนเอง รวมทั้งการให้นมลูก จะทำให้มีความเข้าใจและความซาบซึ้งใจในการปฏิบัติงานในบทบาทของมารดา เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคในการที่จะบรรลุเป้าหมายในการให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนมากขึ้น ดังนั้น เมื่อต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประสบการณ์ส่วนตัวนี้จะช่วยในการที่มารดาจะมีความเข้าใจในจิตใจของมารดาที่ให้นมลูก การอธิบาย การพูดจา รวมทั้งการสร้างให้มารดามีความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ก็จะทำได้ดีจากต้นทุนประสบการณ์ตรงเหล่านี้1 นี่ก็อาจเป็นประโยชน์ข้อหนึ่งจากการที่เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์จากชีวิตจริง และนำความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์นั้น ๆ มีถ่ายทอดและสร้างประโยชน์แก่มารดาหรือผู้ป่วยอื่น ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เสริมจากความรู้หรือประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Wright AI, Hurst NM. Personal Infant Feeding Experiences of Postpartum Nurses Affect How They Provide Breastfeeding Support. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2018.