คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

คำแนะนำสำหรับการดูแลทารกหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

นมแม่นั้นจำเพาะและแตกต่าง

นมแม่นั้นถูกสร้างและออกแบบมาสำหรับทารก จึงมีความเหมาะสมกับทารกแรกเกิดและแม้ว่าทารกจะมีการเจริญเติบโตขึ้น นมแม่ก็จะมีการปรับเปลี่ยนความเหมาะสมตามทารกที่เจริญเติบโตขึ้น ซึ่งหาไม่ได้จากนมผงดัดแปลงทารกเนื่องจากจะมีความจำกัดของสูตรที่เลือกใช้ในแต่ละช่วงวัยของทารก หากมารดาสังเกตนมแม่จะเห็นว่า น้ำนมแม่ในช่วงแรกจะเป็นหัวน้ำนม ซึ่งมีสีเหลือง ข้น ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ที่คัดสรรมาอย่างละเอียด และอุดมไปด้วยภูมิคุ้มกันที่จะปกป้องทารก ปริมาณที่มีน้อยก็เพื่อให้เหมาะกับกระเพาะและช่วงปรับตัวในการเริ่มกินอาหารของทารก จากนั้นใน 3-4 วันน้ำนมปกติก็เริ่มมา ซึ่งเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ปริมาณและสัดส่วนของสารอาหารในนมแม่ก็จะมีการปรับเปลี่ยนแปลง และหากมารดาคงการให้นมบ่อยและสม่ำเสมอ ขอให้เชื่อมั่นว่า มารดาทุกคนจะมีน้ำนมเพียงพอสำหรับทารก หากไม่มีความผิดปกติ ความเชื่อมั่นว่ามารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกจะเสริมสร้างพลังให้มารดามีความสำเร็จในการให้ลูกกินนมแม่ในหกเดือนแรกได้

คำแนะนำสำหรับการดูแลทารกหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

กระเพาะลูกน้อยยังเล็กเมื่อแรกเกิด

ลูกน้อยเมื่อขณะอยู่ในครรภ์ของมารดาได้รับสารอาหารผ่านทางสายสะดือ ดังนั้น การพัฒนาเพื่อขยายตัวของกระเพาะอาหารจึงเกิดขึ้นเมื่อทารกเริ่มกินนมแม่ ซึ่งในระยะแรกเกิดใหม่ ๆ นั้นขนาดของกระเพาะของทารกจะรับอาหารได้ราว 5-10 มิลลิลิตร หรือขนาดเท่ากับลูกแก้วเท่านั้น จากนั้นจึงขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นขนาดลูกปิงปองเมื่ออายุได้ราว 1 สัปดาห์ การเปรียบเทียบขนาดกระเพาะของทารกนี้ก็เพื่อให้มารดาได้เข้าใจถึงความสอดคล้องของปริมาณน้ำนมที่ผลิตในระยะแรกที่เป็นหัวน้ำนม แม้จะมีปริมาณน้อยแต่ก็มักพอดีกับการขยายตัวของกระเพาะของทารก และเมื่อน้ำนมผลิตมากขึ้นก็จะพอดีกับระยะที่กระเพาะได้มีการขยายตัวเพื่อรองรับน้ำนมแล้ว อีกสิ่งที่สะท้อนให้ทราบถึงขนาดของกระเพาะทารกที่เล็กก็คือ หากให้ทารกกินนมแล้วไม่จับเรอ ทารกก็จะแหวะนมได้ง่าย เพราะลมจะเข้าไปในกระเพาะทารกขณะกินนม ร่วมกับการที่หูรูดที่หลอดอาหารยังทำงานไม่ได้ดี เมื่อมีแรงดันที่เพิ่มขึ้นในกระเพาะทารก ทารกจึงแหวะนม ดังนั้นการกินนมที่มีปริมาณมากไปจนทารกแหวะนม จึงได้รับประโยชน์น้อยและอาจเกิดอันตรายจากการสำลักได้

คำแนะนำสำหรับการดูแลทารกหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ลูกเกิดมาเพื่อการกินนมแม่

หลังคลอดการที่มารดามีการสร้างน้ำนมก็เพื่อที่จะให้แก่ทารก ดังนั้นลูกที่เกิดมาก็เพื่อกินนมแม่ที่แม่สร้าง กลไกการกินนมของทารกนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากให้เวลาทารกในการปรับตัว เรียนรู้ และรับรู้จากการสัมผัสบนหน้าอกของมารดา กลิ่นของลานนมและน้ำนม สีของหัวนมที่เข้มขึ้นช่วยส่งเสริมในการมองเห็นของทารกที่ดีขึ้น แต่การให้เวลาแก่ทารกควรปราศจากการรบกวน การให้สิ่งเร้าอื่น ๆ หรือการจับทารกแยกจากอกของมารดา หากมารดาสามารถเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยการเริ่มจากให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและทารกอยู่บนอกมารดานานหนึ่งชั่วโมง การได้เริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว จะส่งผลดีต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ข้อเท็จจริงในการใช้ยากระตุ้นน้ำนมในระยะแรกหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ก่อนอื่น ควรมาทำความเข้าใจกับการสร้างน้ำนม ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

????? ระยะที่ 1 เริ่มในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ราว 5 เดือน ระยะนี้ต่อมเต้านมจะมีความพร้อมในการสร้างน้ำนม แต่ที่มักไม่พบมีการหลั่งน้ำนมเนื่องจากมารดาจะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนที่สร้างจากรกสูงคอยยับยั้งการหลั่งน้ำนม

ระยะที่ 2 หลังคลอดในระยะแรก ราว 1-3 วันหลังการคลอด เมื่อมีการคลอดรก ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนจะลดลงในทันที??? ในขณะที่มีฮอร์โมนโปรแลคตินสูง และมีปริมาณคอร์ติซอล (cortisol) ที่พอเหมาะ จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างหัวน้ำนม ในช่วงนี้จะมีการเพิ่มของเลือด ออกซิเจน และน้ำตาลมาเลี้ยงที่เต้านมมากขึ้น ร่วมกับในเต้านมเริ่มมีการสร้างและหลั่งน้ำนมออกมา ทำให้มารดาตึงคัดเต้านม การสร้างน้ำนมในระยะนี้จะเป็นหัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลือง (colostrum) โดยกลไกการสร้างจะสัมพันธ์กับฮอร์โมนที่ลดลงเป็นหลัก

ระยะที่ 3 จะเป็นช่วงตั้งแต่ราว 3-7 วันหลังคลอด ระยะนี้ปริมาณน้ำนมจะมีความสัมพันธ์กับการกระตุ้นโดยการดูดนมและการให้นมจนเกลี้ยงเต้าจะเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมการสร้างน้ำนม จากข้อมูลหลักฐานในปัจจุบัน สารที่มีผลยับยั้งการสร้างน้ำนมอยู่ในน้ำนม ได้แก่ โปรตีนเวย์ (whey) ที่ทำหน้าที่ควบคุมเป็นกลไกย้อนกลับ (feedback inhibitor of lactation) หรือทำหน้าที่เป็นสารยับยั้งการสร้างน้ำนม (lactation inhibitory factor) ในกรณีที่มีน้ำนมอยู่ในเต้านมจะควบคุมให้ผลิตน้ำนมน้อย และในกรณีที่น้ำนมเกลี้ยงเต้าจะควบคุมให้ผลิตน้ำนมมาก

ยาที่มักใช้ในการกระตุ้นน้ำนม ได้แก่ domperidone ยานี้จะออกฤทธิ์ในการกระตุ้นให้ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินสูงขึ้น แต่หากมาดูข้อมูลของระดับโปรแลคตินในช่วงหลังคลอดแล้ว จะพบว่า ?ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินในช่วงระยะ 7 วันแรกหลังคลอด หากมารดามีการกระตุ้นให้ทารกดูดนมบ่อย ๆ จะเท่ากับ 100 ng/ml ซึ่งจะใกล้เคียงกับระดับของฮอร์โมนโปรแลคตินเมื่อได้รับยาในระยะหลังคลอดช่วง 7 วันแรก?1-4 ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นในการที่จะใช้ยา domperidone ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด แต่ควรแนะนำให้มารดาให้ทารกดูดนมบ่อย ๆ ตั้งแต่วันละ 8 ครั้งขึ้นไป บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยานี้ เพื่อให้การเลือกใช้ยาทำได้อย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงอันตรายจากการใช้ยา domperidone ซึ่งต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยาในมารดาที่เป็นโรคหัวใจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Walker M. Breastfeeding Management for the Clinician: Using the Evidence. Boston: Jones and Bartlett, 2006: 63-66.2.
  2. Riordan J. Breastfeeding and Human Lactation, 3rd ed. Boston and London: Jones and Bartlett, 2005: 75-77.
  3. Serri O, Chik CL, Ur E, Ezzat S. Diagnosis and management of hyperprolactinemia. CMAJ. 2003 Sep 16;169(6):575-81.
  4. da Silva OP, Knoppert DC, Angelini MM, Forret PA. Effect of domperidone on milk production in mothers of premature newborns: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. CMAJ. 2001;164:17-21.

การใช้ความรุนแรงในครอบครัวสัมพันธ์กับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัวในสังคมต่างประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากเพราะมีผลเสียต่อสุขภาพในหลากหลายด้าน แต่ในประเทศไทยยังใส่ใจกับเรื่องนี้น้อย เนื่องจากค่านิยมในการที่มักไม่ไปยุ่งเกี่ยวหากเป็นเรื่องของสามีภรรยากัน หรือเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ไม่ควรยุ่งเกี่ยว ในประเทศไทยเลยอาจจะขาดข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเมื่อมาดูถึงผลของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวก่อให้เกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วหรือเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สั้นกว่าที่ควรจะเป็น1 ?ปัจจัยเหล่านี้น่าจะมีผลเช่นเดียวกันกับในประเทศไทย แต่ยังขาดข้อมูลการศึกษาถึงขนาดและความสำคัญของปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องน่าศึกษาเพื่อการวางแนวทางการช่วยแก้ไขหากพบขนาดปัญหาที่ใหญ่และส่งผลกระทบในหลากหลายด้าน การวางแผนศึกษาในเรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวที่จะส่งเสริมสนับสนุนพื้นฐานของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Cha S, Masho SW. Association Between Intimate Partner Violence and Breastfeeding Duration: Results From the 2004-2014 Pregnancy Risk Assessment Monitoring System. J Hum Lact 2018;34:233-41.