คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การผ่าตัดคลอด อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดได้พบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีปัจจัยมาจากทั้งตัวผู้ป่วยและแพทย์ผู้ให้บริการ โดยทั่วไปอัตราการผ่าตัดคลอดตามความจำเป็นจะอยู่ในราวร้อยละ 15 ในขณะที่ในโรงพยาบาลของภาครัฐ อัตราการผ่าตัดคลอดอยู่ในราวร้อยละ 40-50 และอัตราการผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลเอกชนอยู่ในราวร้อยละ 80-90 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นจากค่านิยมของมารดาที่กลัวการเจ็บครรภ์คลอดและการต้องเบ่งคลอด ค่านิยมในการเลือกเวลาคลอดหรือต้องการให้ลูกเกิดในฤกษ์ที่ดี และความเชื่อที่คิดว่าการผ่าตัดคลอดทำให้ลูกมีความปลอดภัยมากกว่าการคลอดบุตรทางช่องคลอด สำหรับปัจจัยทางด้านแพทย์ ได้แก่ การผ่าตัดคลอดสามารถกำหนดเวลาทำคลอดได้แน่นอน ไม่ต้องรอคอยการเจ็บครรภ์คลอดตามปกติ การผ่าตัดคลอดตามความต้องการของมารดาและครอบครัวลดข้อขัดแย้งที่มารดาและครอบครัวอาจมาบ่นในภายหลังว่า? เจ็บครรภ์คลอดแล้วยังคลอดไม่ได้ ต้องเจ็บแผลผ่าตัดคลอดอีก และความวิตกกังวลหรือกลัวการฟ้องร้องจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการรอคลอด เนื่องจากความเชื่อของมารดาและครอบครัวยังคงมีความเชื่อว่าการผ่าตัดคลอดยังเป็นการดูแลการคลอดที่ดีกว่า ปัจจัยและความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้นำมาซึ่งอัตราการผ่าตัดคลอดที่สูง โดยมีผลถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย1 เนื่องจากหากมารดาต้องดมยาสลบ กว่าจะฟื้นตัว ให้ลูกได้เริ่มกินนม ก็เกินกว่าระยะเวลาที่แนะนำให้ลูกได้เริ่มกินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดแล้ว นอกจากนี้ การเจ็บแผลผ่าตัดคลอดยังมีผลต่อการจัดท่าให้นมลูก ทำให้มีข้อจำกัดและมีความลำบากในการจัดท่าที่เหมาะสม การใช้ยาแก้ปวดของมารดาอาจส่งผลทำให้ทารกง่วงซึมและไม่สนใจจะดูดได้ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วจึงเกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมของมารดาและครอบครัวรวมทั้งคนในสังคมจะสร้างปัญญาหรือทางแก้ที่เป็นทางออกของปัญหาได้โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะช่วยสร้างปัญญาให้เกิดกับคนในสังคม

เอกสารอ้างอิง

  1. Azzeh FS, Alazzeh AY, Hijazi HH, et al. Factors Associated with Not Breastfeeding and Delaying the Early Initiation of Breastfeeding in Mecca Region, Saudi Arabia. Children (Basel) 2018;5.

 

การให้ลูกกินนมแม่ป้องกันการเกิดภาวะหูอักเสบ ภาวะกระเพาะและลำไส้อักเสบได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันแล้วว่า นมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทารก ซึ่งจะมีผลในการป้องกันการติดเชื้อ โดยการติดเชื้อในวัยเด็กที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะหูชั้นกลางอักเสบที่มักเกิดจากอาการหวัดที่อาจมีการลุกลามของเชื้อไปสู่การอักเสบที่หู ภาวะกระเพาะและลำไส้อักเสบที่เกิดจากการที่ทารกในวัยเด็กการดูแลเรื่องความสะอาดในการล้างมือจะมีน้อยและทารกส่วนหนึ่งยังติดกับการเอานิ้วมือเข้าปากหรือดูดนิ้ว การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีรายงานจากการศึกษาพบว่าช่วยป้องกันและลดการเกิดภาวะหูชั้นกลางอักเสบ และภาวะกระเพาะและลำไส้อักเสบในทารกที่กินนมแม่ โดยในรายละเอียดพบว่า ทารกที่กินนมแม่นานกว่า 12 เดือนเมื่อติดตามทารกจนถึงวัยเด็กที่มีอายุ 5 ขวบพบว่ามีทั้งภาวะหูชั้นกลางอักเสบและภาวะกระเพาะและลำไส้อักเสบต่ำกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ1 ดังนั้น สิ่งนี้จะช่วยอธิบายการลดการเสียชีวิตของทารกที่เกิดจากการติดเชื้อของทารกที่กินนมแม่ และเมื่อลดการติดเชื้อที่ทำให้ทารกหรือเด็กเจ็บป่วย โอกาสที่ทารกหรือเด็กจะเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีกว่าจึงพบสูงขึ้น นอกจากนี้ การป้องกันการติดเชื้อที่พบบ่อยยังมีส่วนช่วยในการลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่ทำให้ทารกต้องนอนรักษาอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Ardic C, Yavuz E. Effect of breastfeeding on common pediatric infections: a 5-year prospective cohort study. Arch Argent Pediatr 2018;116:126-32.

 

 

การให้ลูกกินนมแม่สัมพันธ์กับระยะเวลาของการเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การให้ลูกได้กินนมแม่ช่วยลดการเกิดมะเร็งมดลูกได้ โดยที่มะเร็งมดลูก หากเขียนสั้น ๆ โดยทั่วไปจะหมายถึง มะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ก่อกำเนิดจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุภายในโพรงมดลูก ความเสี่ยงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือการที่มีการเริ่มมีประจำเดือนเร็วและมีระยะของการหมดประจำเดือนช้า ดังนั้นจึงมีความคิดถึงความเชื่อมโยงของการป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกว่า การป้องกันนั้นมีผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างการกินนมแม่กับการเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกของทารกเพศหญิงเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นหรือไม่ มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์นี้ แต่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการกินนมแม่กับการเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกของทารกเพศหญิง1 กลไกหรือกระบวนการที่ยังคงใช้อธิบายการป้องกันหรือลดการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกก็น่าจะเป็นไปจากการที่มีการตั้งครรภ์ ร่างกายมารดาจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะออกฤทธิ์ต่อต้านการเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก และยังมีการเว้นระยะของการเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกในช่วงตั้งครรภ์และในช่วงที่ให้นมแม่ที่มารดาจะไม่มีประจำเดือน ซึ่งกลไกการป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่นั้น ก็ยังอธิบายโดยการลดการเกิดการตกไข่ในช่วงระยะที่มารดาตั้งครรภ์และให้นมบุตรเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Al-Mathkoori R, Albatineh A, Al-Shatti M, Al-Taiar A. Is age of menarche among school girls related to breastfeeding during infancy? Am J Hum Biol 2018:e23122.

 

ระยะเวลาของการให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวควรเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ระยะเวลาของการให้ลูกกินนมแม่นั้นควรเป็นเรื่องที่มารดาและครอบครัวจะตัดสินใจหลังจากที่ทราบถึงข้อมูลประโยชน์และข้อดีต่าง ๆ ในการที่ลูกได้กินนมแม่ และพิจารณาข้อจำกัดในมารดาและครอบครัวในแต่ละครอบครัวแล้ว จึงพิจารณาว่าจะวางแผนที่จะให้ลูกได้กินนมแม่นานเท่าไร รวมถึงวางแผนให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวได้นานเท่าไหร่ด้วย จึงอาจพิจารณาได้ว่า ระยะเวลาของการให้ลูกกินนมแม่ควรเป็นเรื่องเฉพาะตัวของมารดาในแต่ละคน1 ซึ่งหากมารดาและครอบครัวได้กำหนดระยะเวลาที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว หน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ก็คือ การสนับสนุนให้มารดาสามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งหากมารดาสามารถบรรลุเป้าหมายก็เป็นสิ่งที่ดีและเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์มีแรงใจในการทำงานต่อ แต่หากไม่บรรลุเป้าหมายบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ควรจะท้อถอย ควรใส่ใจกับการเรียนรู้ว่า เหตุใดมารดาจึงไม่สามารถจะให้ลูกได้กินนมแม่ตามกำหนด และนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ไปใช้ในการให้คำปรึกษาในมารดาอื่น ๆ ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Alianmoghaddam N, Phibbs S, Benn C. Reasons for Stopping Exclusive Breastfeeding Between Three and Six Months: A Qualitative Study. J Pediatr Nurs 2018;39:37-43.

 

การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวเป็นปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าประสงค์เพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? แม้จะทราบถึงประโยชน์ที่ดีของการให้ลูกกินนมแม่ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ ให้ทารกได้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก แต่ในบางครั้ง การตั้งเป้าประสงค์ของความต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนอาจเป็นเพียงความปรารถนาที่ในความเป็นจริงเมื่อเวลาผ่านไป มารดาต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ความต้องการหรือเป้าประสงค์ของข้อกำหนดที่ตั้งเป้าไว้ในตอนแรกว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน อาจเปลี่ยนแปลงไป1 สิ่งนี้อาจส่งผลต่อมารดาในการสร้างความเครียดหรือความรู้สึกผิดที่มารดาไม่สามารถบรรลุความปรารถนาที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนได้ ดังนั้น ทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรมีแนวคิดที่ตำหนิหรือมองเห็นว่าเป็นความผิดของมารดาหากไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามความตั้งใจที่มีในครั้งแรกได้ และควรมีความเข้าใจ ร่วมกับแนวคิดที่จะช่วยเหลือมารดาและทารกให้ยังคงได้รับประโยชน์ที่ดี หากมารดายังมีนมแม่อยู่ เนื่องจากแม้ว่ามารดาจะไม่สามารถให้นมแม่อย่างเดียวแก่ทารกในช่วงหกเดือนแรกได้ แต่การที่ทารกยังได้กินนมแม่ แม้จะมีการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกไปบ้าง หากมารดายังคงสามารถกลับมาให้นมแม่ต่อได้ ก็ยังคงเป็นผลดีและประโยชน์แก่มารดาและทารกที่จะคงอยู่ตลอดไป แม้จะเพียงแค่ในความคิดคำนึงของบุคลากรผู้ที่มีหน้าที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งสิ่งนี้ก็สามารถเป็นฐานในการสร้างกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไปได้เป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

  1. Alianmoghaddam N, Phibbs S, Benn C. Reasons for Stopping Exclusive Breastfeeding Between Three and Six Months: A Qualitative Study. J Pediatr Nurs 2018;39:37-43.