คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

ความรู้สึกของมารดาครรภ์แรกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความรู้สึกของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้มีการศึกษาถึงความรู้สึกของมารดาครรภ์แรกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ผ่านการลงข้อมูลในแอปพริเคชั่นของโทรศัพท์มือถือ โดยที่มารดาจะบันทึกความรู้สึกประจำวันคล้ายการบันทึกไดอารี่ ซึ่งพบว่า มารดาจะมีความวิตกกังวล วุ่นวาย และไม่สบายใจระหว่างความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่ยังไม่อาจคาดเดาได้ และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันของบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแล สิ่งนี้สะท้อนว่า ความรู้ความเข้าใจและความมั่นใจว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เป็นสิ่งที่ควรสร้างให้เกิดขึ้นแก่มารดาเพื่อลดความวิตกกังวลหรือความไม่สบายใจของมารดาที่จะทำให้มารดาเครียดและมีผลต่อการให้นมลูกได้ กับอีกส่วนหนึ่งคือ ความรู้ความเข้าใจในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากรควรมีการพัฒนาให้มีมาตรฐาน และจัดระบบให้มีการให้คำปรึกษาไปในแนวทางเดียวกันเพื่อลดความสับสนและความเข้าใจผิดของมารดาในการดูแลให้ลูกได้กินนมแม่1

เอกสารอ้างอิง

  1. Demirci J, Caplan E, Murray N, Cohen S. “I Just Want to Do Everything Right:” Primiparous Women’s Accounts of Early Breastfeeding via an App-Based Diary. J Pediatr Health Care 2018;32:163-72.

การปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? บันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นเป็นแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม การนำแนวทางบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาใช้ในโรงพยาบาลมักพบปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงานหลายอย่าง ตัวอย่างจากการสัมภาษณ์พยาบาลในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาพบว่า อุปสรรคในการนำแนวทางบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ ความขาดแคลนอัตรากำลังของบุคลากร การปฏิบัติที่มีความหลากหลายของพยาบาล ความแตกต่างของการศึกษาและความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของพยาบาล และปัญหาอื่น ๆ ในช่วงระยะหลังคลอด เช่น ความเหนื่อยล้าของมารดา การมาเยี่ยมของญาติผู้ป่วย และงานประจำที่ต้องปฏิบัติในระยะหลังคลอดที่จะรบกวนการให้การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อของมารดาและทารก และการจัดท่าที่เหมาะสมในการให้นมลูกของมารดา1 ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ส่วนใหญ่น่าจะคล้ายคลึงกันกับปัญหาอุปสรรคที่จะนำบันไดสิบขั้นนี้มาใช้ในประเทศไทย ดังนั้น การสนับสนุนเชิงนโยบาย อัตรากำลังบุคลากร ระบบการจัดการพัฒนาความรู้แก่บุคลากร รวมทั้งการธำรงรักษาให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องได้โดยมีความก้าวหน้าในอาชีพการทำงานเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้เด็กไทยได้กินนมแม่และเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีความยั่งยืนของการดำเนินงาน

เอกสารอ้างอิง

  1. Cunningham EM, Doyle EI, Bowden RG. Maternity Nurses’ Perceptions of Implementation of the Ten Steps to Successful Breastfeeding. MCN Am J Matern Child Nurs 2018;43:38-43.

การให้ลูกกินนมแม่ในมารดาที่อ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่มารดาอ้วนมีผลเสียต่อการตั้งครรภ์และการให้นมบุตร โดยมีโอกาสที่จะมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะผ่าตัดคลอดสูงขึ้น การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้า และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักจะสั้นกว่ามารดาที่มีน้ำหนักปกติ มีการศึกษามุมมองของมารดาที่อ้วนต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า มีความท้าทายสามเรื่องที่มารดาต้องเผชิญ เรื่องแรกคือ มารดายังคงมีการตั้งความหวังว่าจะให้ลูกได้กินนมแม่ การที่มารดามีน้ำนมจะทำให้มารดาปลาบปลื้ม เนื่องจากให้นมลูกแสดงถึงบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างมารดาและบุตร เรื่องที่สอง แม้ว่าการให้นมลูกจะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องทราบเทคนิคในการที่จะนำลูกเข้าเต้าเพื่อการดูดนมได้อย่างเหมาะสม เรื่องที่สามคือ การที่มารดาจะต้องนมแม่ในที่สาธารณะ ความวิตกกังวลในการที่ต้องเปิดเผยส่วนของร่างกายที่อ้วนอาจส่งผลต่อจิตใจและความมั่นใจของมารดาในการที่จะให้นมแม่ในที่สาธารณะ1 จะเห็นว่า เรื่องที่มารดาที่อ้วนมีความวิตกกังวลมีความคล้ายคลึงกับมารดาโดยทั่วไป แม้ว่ามารดาที่อ้วนจะมีความเสี่ยงในการที่จะหยุดนมแม่ก่อนระยะเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น การติดตามหรือให้คำปรึกษาและดูแลมารดาและทารกอย่างใกล้ชิดจะลดปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Claesson IM, Larsson L, Steen L, Alehagen S. “You just need to leave the room when you breastfeed” Breastfeeding experiences among obese women in Sweden – A qualitative study. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:39.

การกินนมแม่ลดภาวะไขมันในเลือดของสตรีได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? นอกจากประโยชน์ของนมแม่ในเรื่องภูมิคุ้มกันต่อต้านโรคแล้ว การที่มีประวัติการกินนมแม่ยิ่งนานยิ่งลดโอกาสการเกิดภาวะความผิดปกติของไขมันในเลือดสูง โดยมีการศึกษาพบว่าสตรีที่มีประวัติการกินนมแม่นานกว่า 2 ปีจะลดโอกาสที่จะเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงลงร้อยละ 251 ภาวะไขมันในเลือดสูงปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาหารการกินที่ส่วนใหญ่มีค่านิยมไปทางอาหารของชาติตะวันตกที่มีสัดส่วนของไขมันในอาหารสูง ร่วมกับวิถีชีวิตของคนในยุคนี้มีการออกกำลังกายน้อยลง ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้น ไม่ค่อยมีกิจกรรมที่มีการใช้พลังงานตามปริมาณอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน จึงเกิดไขมันสะสมและภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางหลอดเลือดและโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และรวมถึงโรคทางหลอดเลือดสมองด้วย ดังนั้น หากมีวิธีที่จะช่วยลดและป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงด้วยวิธีที่ง่ายและควรปฏิบัติอยู่แล้ว การใส่ใจและให้ทารกได้กินนมแม่ยิ่งนานจะยิ่งป้องกันการเกิดไขมันในเลือดสูงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตในอนาคตได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Cho S, Han E. Association of breastfeeding duration with dyslipidemia in women aged over 20 years: Korea National Health and Nutrition Examination Survey 2010-2014. J Clin Lipidol 2018.

 

 

การเยี่ยมบ้านหลังคลอด สิ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? แม้ว่ากระแสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะดีขึ้นในปัจจุบัน แต่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหลังคลอดก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่กำหนดอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนมีเป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 50 การรณรงค์ให้ความรู้มารดาถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนยังเป็นสิ่งที่จำเป็น และยังต้องการการสร้างให้เกิดปัญญาแก่คนในสังคมคือมีความรู้ที่จะเลือกตัดสินใจสิ่งที่เหมาะสมและเป็นประโยขน์ได้อย่างถูกต้องบนรากฐานของการมีข้อมูลในการตัดสินใจที่เพียงพอ การมีนโยบายให้โรงพยาบาลที่ดูแลการคลอดบุตรเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกและมีการปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็เป็นสิ่งที่ต้องมีการวางแผนและดำเนินการไปให้มีความเป็นมาตรฐานและสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกก็ยังต้องการการสนับสนุนและการกำหนดนโยบาย การดำเนินงาน และการติดตามการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ การสนับสนุนให้มีการเยี่ยมบ้านหลังคลอด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในมารดาที่หลังจากกลับไปบ้านแล้วมีอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจากสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการที่จะให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรก1 เนื่องจากการที่บุคลากรทางการแพทย์ได้ไปเยี่ยมบ้าน จะเห็นสภาพแวดล้อมของมารดาที่อยู่จริง ทำให้สามารถให้คำปรึกษาให้มารดาและครอบครัวเลือกวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมและปฏิบัติได้ การเยี่ยมบ้านนี้จะเสมือนเป็นสิ่งที่เติมเต็มที่จะช่วยลดปัญหาหรืออุปสรรคและเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่หกเดือนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Carvalho M, Carvalho MF, Santos CRD, Santos PTF. First Postpartum Home Visit: A Protective Strategy for Exclusive Breastfeeding. Rev Paul Pediatr 2018;36:8.