คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

สาเหตุของการเกิดเต้านมอักเสบ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? โดยทั่วไปสาเหตุของเต้านมอักเสบจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากเป็นสตรีที่ไม่ได้ให้นมบุตรส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากการได้รับการบาดเจ็บหรือเป็นภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเต้านมหรือเสริมเต้านม แต่หากเป็นสตรีที่ให้นมบุตรสาเหตุของการเกิดเต้านมอักเสบจะเกิดจากการมีการระบายน้ำนมออกไม่เพียงพอ ทำให้มีน้ำนมขัง เกิดการตึงคัดและอักเสบของเต้านม1 เมื่อสาเหตุของการเกิดภาวะเต้านมอักเสบเป็นจากการระบายน้ำนมออกที่ไม่เหมาะสม การป้องกันหรือหลักในการดูแลรักษาก็คือ การให้มีการระบายน้ำนมออกให้เพียงพอและวิธีที่ดีที่สุดที่จะระบายน้ำนมได้อย่างดีก็คือ การที่ให้ลูกได้ดูดและกินนมแม่ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันภาวะเต้านมอักเสบการแนะนำให้มารดาให้นมลูกบ่อย ๆ วันละ 8-12 ครั้งก็จะลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้ได้ อย่างไรก็ตาม มีภาวะเต้านมอักเสบบางส่วนที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งหากสงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย การรักษาก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการดูแลให้มารดายังคงมีการให้นมลูกบ่อย ๆ และสม่ำเสมอเพื่อระบายน้ำนม การดูแลที่เหมาะสมจะเป็นผลดีในการป้องกันการอักเสบที่ลุกลามไปเป็นฝีที่เต้านมและช่วยปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.

จะให้การวินิจฉัยเต้านมอักเสบได้อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เต้านมอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการให้นมบุตรที่พบได้บ่อยในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด การให้การวินิจฉัยภาวะเต้านมอักเสบนั้นส่วนใหญ่ใช้อาการและอาการแสดงทางคลินิกที่ได้จากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย สำหรับเกณฑ์การวินิจฉัยที่ใช้กันโดยทั่วไปได้แก่ การมีอาการเจ็บเต้านม เต้านมแดง หรือคลำได้ก้อน ซึ่งต้องมีอาการสองอย่างร่วมกับอาการครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ?(ลักษณะอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ อาการมีไข้ หนาวสั่น หรือปวดศีรษะ)1 การให้คำอธิบายและสร้างความเข้าใจกับมารดาและแนะนำอาการที่บ่งบอกถึงการเกิดภาวะเต้านมอักเสบจะช่วยให้มารดามีความรู้และตระหนักถึงอันตรายในการเกิดภาวะเต้านมอักเสบ เพราะหากไม่ได้รับการดูแลหรือรักษาอย่างถูกวิธี ภาวะเต้านมอักเสบอาจลุกลามไปจนเกิดฝีที่เต้านมได้ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ต้องได้รับการรักษาเป็นเวลานาน และอาจส่งผลเสียทำให้เกิดการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.

 

หากมีอาการเต้านมอักเสบจะมีอาการอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เต้านมอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งพบได้ตั้งแต่ร้อยละ 9.5-23.7 ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การวินิจฉัย ระยะเวลาหลังคลอดที่เก็บข้อมูล และความแตกต่างในการให้การดูแลการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอด มีข้อมูลของการศึกษาอาการของมารดาที่มีเต้านมอักเสบพบว่า อาการเจ็บเต้านมพบได้ร้อยละ 28 อาการปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยเนื้อตัวพบได้ร้อยละ 27 อาการไข้พบร้อยละ 17 อาการหนาวสั่นพบได้ร้อยละ 14 เต้านมแดงพบร้อยละ 9 และมีก้อนที่เต้านมพบร้อยละ 51 จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นว่า มารดาที่มีเต้านมอักเสบมีส่วนน้อยที่พบว่ามีก้อนที่เต้านม แต่มารดาที่มีก้อนที่เต้านมจากการขังของน้ำนมจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดเต้านมอักเสบได้ โดยส่วนใหญ่ของเต้านมอักเสบจะมีอาการเจ็บที่เต้านม ดังนั้น หากมารดามีอาการเจ็บเต้านม บุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรละเลย ควรทำการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด หากสามารถวินิจฉัยภาวะเต้านมอักเสบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผลการรักษาจะดีและป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนระยะเวลาที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.

 

การให้อาหารอื่นก่อนการให้นมแม่เสี่ยงต่อการเกิดเต้านมอักเสบ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เต้านมอักเสบเป็นอาการที่เกิดการอักเสบของเต้านมโดยสิ่งที่เป็นสาเหตุหลักคือการขังและไม่มีการระบายของน้ำนมดังที่ได้เขียนบรรยายไว้ในบทความก่อนหน้านี้แล้ว การให้อาหารอื่นก่อนการให้นมแม่ทำไมจึงมีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดการอักเสบของเต้านมมากขึ้น สิ่งนี้อธิบายจากการที่ให้อาหารอื่นแก่ทารกจะทำให้ทารกอิ่มและดูดนมแม่น้อยลง ซึ่งหากเริ่มต้นให้ตั้งแต่ในระยะแรกจะทำให้ทารกติดการกินอาหารอื่นได้ อาหารอื่นที่พบว่ามีการให้แก่ทารกบ่อยก็คือ นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งจะทำให้ทารกสับสนระหว่างการดูดนมแม่ซึ่งกลไกแตกต่างจากการกินนมจากขวด ทำให้ทารกปฏิเสธการกินนมแม่จากเต้าได้ ทำให้มีความเสี่ยงของการขังของน้ำนมจากการที่ทารกไม่ยอมกินนมจากเต้า สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการขังและการตึงคัดของเต้านม ซึ่งหากมีการดูแลที่ไม่เหมาะสม ก็จะนำไปสู่การเกิดการอักเสบของเต้านม โดยพบว่า หากมารดาให้อาหารอื่นแก่ทารกในระยะแรกหลังคลอดจะมีความเสี่ยงที่มารดาจะเกิดการอักเสบของเต้านมสูงกว่ามารดาที่ให้นมแม่อย่างเดียวถึง 2.8 เท่า1 นี่จึงเป็นเสมือนประโยชน์อย่างหนึ่งของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่อาจจะลดความเสี่ยงในการเกิดเต้านมอักเสบได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.

 

 

การผ่าตัดคลอดเสี่ยงต่อการเกิดเต้านมอักเสบ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เต้านมอักเสบเป็นอาการที่เกิดการอักเสบของเต้านมโดยสิ่งที่เป็นสาเหตุหลักคือการขังและไม่มีการระบายของน้ำนม ซึ่งเมื่ออาการขังของน้ำนมเป็นมากขึ้นก็จะยิ่งไปอุดตันท่อน้ำนม ทำให้เกิดอาการคัด เจ็บและอักเสบของเต้านม การอักเสบของเต้านมอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยก็ได้ ซึ่งหากการอักเสบของเต้านมเป็นมากขึ้นอาจลุกลามไปเป็นฝีที่เต้านมได้ แล้วทีนี้ บางคนอาจเกิดคำถามหรือสงสัยว่า การผ่าตัดคลอดเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเกิดเต้านมอักเสบ การผ่าตัดคลอดแม้เป็นวิวัฒนาการในการช่วยให้การคลอดเกิดขึ้นได้โดยการผ่าตัดนำทางออกมาจากมดลูกผ่านผนังหน้าท้อง แต่กลไกการคลอดของการผ่าตัดคลอดนั้นไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มารดาจำเป็นต้องได้รับยาระงับความรู้สึกในขณะที่ผ่าตัดคลอด ซึ่งเมื่อได้รับยาระงับความรู้สึกจะมีผลต่อสติและการรับรู้ของมารดา การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่โดยธรรมชาติแล้วจะเริ่มต้นเร็วตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดโดยส่วนใหญ่จะเกิดในหนึ่งชั่วโมงแรก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการมาของน้ำนมและฮอร์โมนที่จะช่วยให้น้ำนมไหลได้ดี เมื่อสติหรือการรับรู้ของมารดายังไม่สมบูรณ์การเริ่มต้นการให้ลูกได้ดูดนมหรือการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อก็จะเกิดช้า การมาของน้ำนมก็มักจะช้า ขณะที่ความต้องการน้ำนมของทารกจะเพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป ทารกอาจร้องกวน หรือมารดาอาจวิตกกังวลว่ามีน้ำนมไม่เพียงพอ จึงให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกแก่ลูก ทารกก็จะเกิดการติดขวดนมเนื่องจากน้ำนมที่ไหลจากขวดนมนั้นไหลออกได้ง่ายโดยทารกไม่ต้องออกแรงดูด ดังนั้นเมื่อให้ทารกกลับไปกินนมแม่จากเต้า ทารกจะสับสน ไม่ยอมดูดนมและเกิดอาการหงุดหงิดหรือร้องกวนได้ แต่เมื่อน้ำนมของมารดาเริ่มมาและตึงคัด ทารกกลับไม่ยอมดูดหรือกินนมจากเต้า การขังของน้ำนมส่งผลให้เกิดการอักเสบของเต้านมจึงเกิดขึ้นได้ มีรายงานว่า การผ่าตัดคลอดมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดเต้านมอักเสบมากกว่ามารดาที่คลอดทางช่องคลอดถึง 3.5 เท่า1 ดังนั้น การที่จะป้องกันหรือลดความเสี่ยงนี้ ควรเริ่มจากการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น และถ้าหากจำเป็นต้องผ่าตัดคลอด การเลือกวิธีการระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง การเริ่มการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและให้ลูกได้ดูดนมก็จะเริ่มได้เร็วกว่า อาจทำได้ใกล้เคียงกับการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดเต้านมอักเสบที่พบเพิ่มขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.