การผ่าตัดคลอด อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดได้พบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีปัจจัยมาจากทั้งตัวผู้ป่วยและแพทย์ผู้ให้บริการ โดยทั่วไปอัตราการผ่าตัดคลอดตามความจำเป็นจะอยู่ในราวร้อยละ 15 ในขณะที่ในโรงพยาบาลของภาครัฐ อัตราการผ่าตัดคลอดอยู่ในราวร้อยละ 40-50 และอัตราการผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลเอกชนอยู่ในราวร้อยละ 80-90 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นจากค่านิยมของมารดาที่กลัวการเจ็บครรภ์คลอดและการต้องเบ่งคลอด ค่านิยมในการเลือกเวลาคลอดหรือต้องการให้ลูกเกิดในฤกษ์ที่ดี และความเชื่อที่คิดว่าการผ่าตัดคลอดทำให้ลูกมีความปลอดภัยมากกว่าการคลอดบุตรทางช่องคลอด สำหรับปัจจัยทางด้านแพทย์ ได้แก่ การผ่าตัดคลอดสามารถกำหนดเวลาทำคลอดได้แน่นอน ไม่ต้องรอคอยการเจ็บครรภ์คลอดตามปกติ การผ่าตัดคลอดตามความต้องการของมารดาและครอบครัวลดข้อขัดแย้งที่มารดาและครอบครัวอาจมาบ่นในภายหลังว่า? เจ็บครรภ์คลอดแล้วยังคลอดไม่ได้ ต้องเจ็บแผลผ่าตัดคลอดอีก และความวิตกกังวลหรือกลัวการฟ้องร้องจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการรอคลอด เนื่องจากความเชื่อของมารดาและครอบครัวยังคงมีความเชื่อว่าการผ่าตัดคลอดยังเป็นการดูแลการคลอดที่ดีกว่า ปัจจัยและความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้นำมาซึ่งอัตราการผ่าตัดคลอดที่สูง โดยมีผลถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย1 เนื่องจากหากมารดาต้องดมยาสลบ กว่าจะฟื้นตัว ให้ลูกได้เริ่มกินนม ก็เกินกว่าระยะเวลาที่แนะนำให้ลูกได้เริ่มกินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดแล้ว นอกจากนี้ การเจ็บแผลผ่าตัดคลอดยังมีผลต่อการจัดท่าให้นมลูก ทำให้มีข้อจำกัดและมีความลำบากในการจัดท่าที่เหมาะสม การใช้ยาแก้ปวดของมารดาอาจส่งผลทำให้ทารกง่วงซึมและไม่สนใจจะดูดได้ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วจึงเกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมของมารดาและครอบครัวรวมทั้งคนในสังคมจะสร้างปัญญาหรือทางแก้ที่เป็นทางออกของปัญหาได้โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะช่วยสร้างปัญญาให้เกิดกับคนในสังคม

เอกสารอ้างอิง

  1. Azzeh FS, Alazzeh AY, Hijazi HH, et al. Factors Associated with Not Breastfeeding and Delaying the Early Initiation of Breastfeeding in Mecca Region, Saudi Arabia. Children (Basel) 2018;5.