คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

อุปสรรคระหว่างการเป็นมารดาที่ดีกับการเป็นลูกจ้างที่ดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ความคิดของคนเราบางครั้งก็อาจมีความเบี่ยงเบนที่จะเลือกตัดสินใจในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งขึ้นอยู่กับทั้งเหตุผลและอารมณ์ของผู้ที่คิดตัดสินใจขณะนั้น มารดาบทบาทที่สำคัญคือการได้ให้นมลูก ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันส่วนใหญ่สตรีทำงานนอกบ้าน และทำงานเป็นลูกจ้างหรือข้าราชการที่จำเป็นต้องกลับไปทำงานตามระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาคลอดได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาจจะลาคลอดได้ 45-90 วันหลังการคลอด ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาหรืออุปสรรคในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ของมารดาคือ การให้นมลูกอย่างเดียวเป็นระยะเวลาหกเดือน เป็นที่ทราบกันดีว่า ระยะเวลาที่ลาคลอดได้มากขึ้นก็จะเพิ่มโอกาสที่มารดาจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานขึ้นด้วย แต่หากมีความคำนึงถึงบทบาทของลูกจ้างที่ดี การรีบกลับมาทำงานก็จะทำงานในหน้าที่มีความต่อเนื่อง ก้าวหน้า และส่งผลที่ดีต่องานที่ได้รับ แม้ว่ามารดาอาจต้องพิจารณาเลือกระหว่างการเป็นมารดาที่ดีกับการเป็นลูกจ้างที่ดี1 แต่ในความเป็นจริงนั้น ทางเลือกอาจไม่ได้มีเพียงสองทางอย่างที่มองเห็น และการที่มารดากลับไปทำงาน อาจจะหนทางที่จะยังสามารถให้ลูกได้กินนมแม่ได้ โดยหากมารดามีที่ทำงานใกล้บ้าน การกลับมาให้นมลูกระหว่างเวลาพักก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำได้ นอกจากนี้ การบีบเก็บน้ำนมแม่ หากทำได้อย่างมีการวางแผนที่ดี ลูกก็ยังสามารถกินนมแม่ได้ ดังนั้น เมื่อเผชิญปัญหาที่ต้องเลือก การสร้างทางเลือกที่มีเพิ่มขึ้น จะทำให้มารดาสามารถทำสิ่งที่ตั้งใจได้บรรลุความสำเร็จ โดยที่ลดข้อขัดแย้งหรือปัญหาที่อาจมองทางแก้ในแนวทางขั้วใดขั้วหนึ่งที่รบกวนที่จะสร้างภาวะเครียดแก่มารดาได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Alianmoghaddam N, Phibbs S, Benn C. Reasons for Stopping Exclusive Breastfeeding Between Three and Six Months: A Qualitative Study. J Pediatr Nurs 2018;39:37-43.

กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือนช่วยลดการเกิดโรคหอบหืดได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ข้อแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบันคือ ให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก โดยที่เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า? นมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีแก่ทารกที่จะป้องกันการติดเชื้อรวมถึงลดการเกิดความผิดปกติของโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของภูมิคุ้มกัน ตัวอย่างได้แก่ โรคภูมิแพ้ และโรคหอบหืด โดยมีการศึกษาพบว่า หากให้ทารกได้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือนแรกจะป้องกันหรือลดการเกิดโรคหอบหืดได้ร้อยละ 371 ดังนั้น หากทราบข้อมูลเหล่านี้ การให้คำแนะนำในมารดาที่มีประวัติเป็นหอบหืดและมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการจะเกิดโรคหอบหืดในทารกก็คือ ให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรก ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ไม่ต้องลงทุนรับประทานยาใด ๆ เพิ่มเติมและยังเป็นประโยชน์แก่ทารกในด้านอื่นอีกด้วย ทางเลือกนี้จึงควรเป็นข้อแนะนำเบื้องต้นในมารดาที่มีความเสี่ยงที่จะมีบุตรที่เป็นโรคหอบหืด

เอกสารอ้างอิง

  1. Abarca NE, Garro AC, Pearlman DN. Relationship between breastfeeding and asthma prevalence in young children exposed to adverse childhood experiences. J Asthma 2018:1-10.

อาการใดที่ทำให้สงสัยว่าทารกดูดนมแม่ได้ไม่เหมาะสม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่ทารกดูดนมแม่ได้ดีนั้น จะประกอบด้วยการจัดท่าและเข้าเต้า (การอมหัวนมหรือลานนม) ได้อย่างเหมาะสม เมื่อทารกประกบริมฝีปาก อมหัวนมและลานนมด้วยท่าที่เหมาะสมแล้ว ช่องปากของทารกจะสร้างแรงดูดจากการดูดนมของทารกขึ้นซึ่งหากมีแรงดูดที่เพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแรงจากกลไกการหดรัดตัวของเซลล์ต่อมน้ำนมที่ช่วยบีบไล่นมออกมาช่วยอยู่แล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องออกแรงดูดมาก เมื่อทารกดูดนมได้ ไหลลงในช่องปาก ทารกจะกลืนน้ำนมเป็นจังหวะ ซึ่งมารดาอาจได้ยินเสียงกลืนน้ำนมของทารก ทำให้บอกได้ว่าทารกน่าจะดูดนมได้ดี นอกจากนี้หากทารกดูดและกินนมแม่ได้ดี ทารกจะนอนหลับได้นานราว 2-3 ?ชั่วโมง ไม่ร้องกวนหรือหงุดหงิด ปัสสาวะอุจจาระได้ตามปกติ ไม่มีปัสสาวะสีเข้ม มีการศึกษาว่า ลักษณะเช่นใดที่ช่วยพยาบาลในการวินิจฉัยการดูดกินนมแม่ที่ไม่เหมาะสมของทารก ซึ่งพบว่า การที่ไม่มีการดูดนมอย่างต่อเนื่อง ทารกมีการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม และทารกที่มีการร้องกวนหลังกินนมนาน 1 ชั่วโมง1 อย่างไรก็ตาม ความใกล้ชิดและการช่างสังเกตของมารดาจะมีส่วนช่วยในการชี้ถึงปัญหานี้ได้ การที่จะช่วยให้ทารกดูดและกินนมได้ดีจึงต้องอาศัยความร่วมมือของมารดาและบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแล เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการรักษาที่ดีที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Alvarenga SC, Castro DS, Leite FMC, Garcia TR, Brandao MAG, Primo CC. Critical defining characteristics for nursing diagnosis about ineffective breastfeeding. Rev Bras Enferm 2018;71:314-21.

หากมารดาต้องใช้ยาระหว่างการให้นมบุตรต้องทำอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ข้อแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขององค์การอนามัยโลกนั้น แนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งครบสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก เมื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีระยะเวลายาวนาน ดังนั้น มารดาส่วนใหญ่จึงต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร เมื่อมารดาเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษาด้วยยามารดาจะสามารถปรึกษาใครได้บ้างว่า สามารถใช้ยาในระหว่างให้นมบุตรได้หรือไม่ มีการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่บุคลากรทางการแพทย์ขาดความรู้เรื่องการใช้ยาในระหว่างให้นมบุตร1 แม้ว่าแพทย์โดยทั่วไปจะมีความรู้ในเรื่องยามากกว่าพยาบาล การแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่ามารดายังคงให้นมบุตรอยู่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรสอบถามแพทย์ว่าสามารถกินยาในขณะให้นมบุตรได้หรือไม่ โชคดีที่ส่วนใหญ่มารดาสามารถกินยาได้โดยมีความปลอดภัยต่อทารก แต่โชคร้ายที่บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ขาดความรู้ เมื่อขาดความรู้จึงเกิดความไม่แน่ใจ และหากไม่มีการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมมาเพื่อให้คำแนะนำแก่มารดาอย่างเหมาะสม ก็อาจจะเลือกใช้การหยุดหรือเว้นระยะการให้นมไปในช่วงที่ให้ยา ซึ่งเป็นวิธีที่เอาง่ายเข้าว่า แม้การหยุดให้นมจะมองดูว่าง่ายแต่อาจส่งผลเสียทำให้มารดามีน้ำนมลดลงและต้องหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควรได้ ดังนั้น การใส่ใจหาความรู้เพิ่มเติมถึงข้อมูลการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรละเลย รวมทั้งควรสอบถามทุกครั้งที่มารดาเจ็บป่วย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อัตราการซื้อยารับประทานเองจากร้านขายยายังมีสัดส่วนที่สูง คำถามที่ต้องสอบถามมารดาเสมอคือ มารดาตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่หรือไม่ เพื่อการให้คำแนะนำหรือเลือกใช้ยาได้อย่างเหมาะสมและมีความปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง

  1. Al-Sawalha NA, Sawalha A, Tahaineh L, Almomani B, Al-Keilani M. Healthcare providers’ attitude and knowledge regarding medication use in breastfeeding women: a Jordanian national questionnaire study. J Obstet Gynaecol 2018;38:217-21.

 

การให้คำปรึกษาตัวต่อตัวในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะได้รับความสนใจมากที่สุดเมื่อมารดาต้องเริ่มให้นมแม่ด้วยตนเองแล้ว ซึ่งก็คือ การให้คำปรึกษาในช่วงระยะหลังคลอดขณะที่มารดายังอยู่ในโรงพยาบาล สำหรับชนิดของการให้คำปรึกษามีการศึกษาพบว่า การให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวหรือหนึ่งต่อหนึ่ง คือเฉพาะแต่ละคู่ของมารดาและทารกจะได้ผลดีที่สุด1 และหากมีการกำหนดตัวบุคคลที่จะให้การดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เฉพาะในลักษณะของพี่เลี้ยงนมแม่ที่จะให้คำปรึกษาและดูแลมารดาและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ก็จะยิ่งมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มมากขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม การจัดระบบการให้คำปรึกษาชนิดตัวต่อตัวนั้นต้องใช้อัตรากำลังของบุคลากรทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้ที่ให้คำปรึกษายังต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษา ดังนั้น หากจะดำเนินการจัดรูปแบบการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดี ต้องมีนโยบายที่เอื้อให้มีอัตรากำลังของบุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอ ต้องมีการจัดการอบรมให้บุคลากรเหล่านี้มีสมรรถนะเพียงพอที่จะให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และต้องดำรงให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถทำงานอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ ได้ยาวนานคือต้องมีการสร้างให้เกิดความก้าวหน้าในการทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ หรือมีบันไดอาชีพที่เหมาะสม การคิดที่ครบวงจรจะทำให้การดำเนินงานด้านการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Alberdi G, O’Sullivan EJ, Scully H, et al. A feasibility study of a multidimensional breastfeeding-support intervention in Ireland. Midwifery 2018;58:86-92.