การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 3

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

การกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการพยาบาลโดยตรง ปัจจัยเรื่องประเภทของผู้ป่วยหรือผู้รับบริการมีอิทธิพลต่อระยะเวลาการให้การพยาบาล4 ในกรณีนี้กำหนดการแบ่งแยกประเภทผู้ป่วยเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานที่ให้บริการที่คลินิกนมแม่ ดังนี้

การแยกประเภทผู้ป่วย       กำหนดการแยกประเภทผู้ป่วยตามระยะเวลาที่ใช้ในการให้การพยาบาลโดยตรงที่คลินิกนมแม่เป็น 5 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 ใช้เวลาในการให้การดูแล 1-10 นาที ตัวอย่างของผู้รับบริการประเภทที่ 1 ได้แก่ การประเมินการให้นม ซึ่งจะมีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ การประเมินการเจริญเติบโตของทารก การชั่งน้ำหนัก วัดความยาว และรอบศีรษะทารก การประเมินการเข้าเต้า (LATCH score) การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ซึ่งอาจจะมีการให้ความรู้เรื่องนมแม่และการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ในปัญหาอื่น ๆ

ประเภทที่ 2 ใช้เวลาในการให้การดูแลมากกว่า 10 นาทีจนถึง 45 นาที ตัวอย่างของผู้รับบริการประเภทที่ 2 ได้แก่ มารดาที่อุ้มลูกไม่ถูกวิธี ทารกดูดนมไม่ถึงลานนม หรือมารดาบีบเก็บน้ำนมไม่เป็น ซึ่งจะมีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ การประเมินการเจริญเติบโตของทารก การชั่งน้ำหนัก วัดความยาว และรอบศีรษะทารก การประเมินการเข้าเต้า (LATCH score) การสอนท่าอุ้มหรือการจัดท่าให้นมลูก การสังเกตการอ้าปากอมหัวนมและลานนมของทารก การสอนการบีบเก็บน้ำนมให้กับมารดา

ประเภทที่ 3 ใช้เวลาในการให้การดูแลมากกว่า 45 นาทีจนถึง 120 นาที ตัวอย่างของผู้รับบริการประเภทที่ 3 ได้แก่ มารดาที่มีเต้านมคัด หัวนมแตกหรือหัวนมสั้น ซึ่งจะมีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ การประเมินการเจริญเติบโตของทารก การชั่งน้ำหนัก วัดความยาว และรอบศีรษะทารก การประเมินการเข้าเต้า (LATCH score) การให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาเต้านมคัด การประคบร้อนที่เต้านม การบีบน้ำนมด้วยมือ การนวดเต้านม การสังเกตมารดาขณะให้นมลูก การแก้ไขการจัดท่าและการอมหัวนมและลานนมของทารก ให้มารดาลองปฏิบัติเพื่อเพิ่มหรือสร้างความมั่นใจและนัดติดตามดูแลเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

ประเภทที่ 4 ใช้เวลาในการให้การดูแลมากกว่า 120 นาทีจนถึง 150 นาที ตัวอย่างของผู้รับบริการประเภทที่ 4 ได้แก่ มารดาที่มีปัญหาต้องใช้เครื่องมือในการช่วยแก้ไข เช่น nipple puller หรือมารดาที่ต้องใช้ lact aid หรือมารดาที่ขอคำปรึกษามาจากหน่วยงานอื่น ซึ่งจะมีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ การประเมินการเจริญเติบโตของทารก การชั่งน้ำหนัก วัดความยาว และรอบศีรษะทารก การประเมินการเข้าเต้า (LATCH score) การสังเกตมารดาขณะให้นมลูก การช่วยจัดท่าและการอมหัวนมและลานนมของทารก ให้มารดาลองปฏิบัติเพื่อเพิ่มหรือสร้างความมั่นใจ ให้คำปรึกษาในการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อธิบายทางเลือกและการติดตามการรักษา และนัดติดตามดูแลเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

ประเภทที่ 5 ใช้เวลาในการให้การดูแลมากกว่า 150 นาที ตัวอย่างของผู้รับบริการประเภทที่ 5 ได้แก่ มารดาที่มีปัญหาต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ เช่น มารดาที่มีเต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม ทารกที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางหรือรุนแรงที่มีปัญหามารดาเจ็บหัวนมและเข้าเต้ายาก ต้องมีการวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์ ซึ่งจะมีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ การประเมินการเจริญเติบโตของทารก การชั่งน้ำหนัก วัดความยาว และรอบศีรษะทารก การประเมินการเข้าเต้า (LATCH score) การสังเกตมารดาขณะให้นมลูก การช่วยจัดท่าและการอมหัวนมและลานนมของทารก ให้คำปรึกษาแนวทางในการรักษา ทางเลือก การพยากรณ์โรคและการติดตามการรักษา และนัดติดตามดูแลเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 2

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

นิยามและข้อกำหนดในการคิดภาระงาน

คลินิกนมแม่ หมายถึง คลินิกที่ให้บริการในการให้คำปรึกษา ดูแลมารดาและทารก  แก้ไขปัญหา อุปสรรคที่พบระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการให้ลูกกินนมแม่ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผล เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ร่วมกับการเป็นแหล่งการเรียนรู้และฝึกอบรมของนักศึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

กิจกรรมการพยาบาล1 แบ่งเป็น กิจกรรมการพยาบาลโดยตรง หมายถึง กิจกรรมที่พยาบาลปฏิบัติงานในห้องผู้ป่วยและกิจกรรมการพยาบาลทั้งหมดที่เกี่ยวของโดยตรงกับผู้ป่วย และกิจกรรมการพยาบาลที่นอกเหนือกิจกรรมการพยาบาลโดยตรงหรือเรียกว่ากิจกรรมพยาบาลโดยอ้อม หมายถึง กิจกรรมที่พยาบาลไม่ได้ปฏิบัติโดยตรงต่อผู้ป่วย แต่เป็นกิจกรรมการพยาบาลที่เกี่ยวของกับการดููแลผู้ป่วย เช่น การจัดเตรียมยา การเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำหัตถการต่าง ๆ การบันทึกรายงานการพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวของกับหน่วยงาน หมายถึง กิจกรรมที่จําเป็นสําหรับการบริหารจัดการภายในหอผู้ป่วย การประสานงานทั่วไป การเปลี่ยนเวร การดูแลเกี่ยวกับอุุปกรณ์ กิจกรรมด้านวิชาการ หมายถึง กิจกรรมเกี่ยวกบการศึกษาของบุคลากรทางการพยาบาล เพื่อพัฒนาทางด้านองค์ความรู้และเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงานของพยาบาลโดยตรง เช่น การปฐมนิเทศพยาบาล การสาธิตการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ กิจกรรมในเวลาพักและการใช้เวลาว่าง หมายถึง กิจกรรมที่พยาบาลใช้ไปในขณะที่พักหรือมีเวลาว่าง เช่น ดื่มกาแฟ การพักรับประทานอาหาร การพูดคุยสนทนาในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน กิจกรรมรอคอย หมายถึง กิจกรรมที่พยาบาลต้องรอคอยในช่วงที่จะให้การพยาบาลผู้ป่วย เช่น การรอคอยเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะนำมาให้ผู้ป่วย การรอคอยบุคลากรหรือพยาบาลอื่น ๆ ที่จําเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือในการให้การพยาบาลนั้น ๆ    

เอกสารอ้างอิง

  1. . Implementation of work sampling methodology. Nurs Res 1994;43:120-3.

การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 1

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

ความสำคัญ

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้อาหารตามวัยร่วมกับให้ทารกกินนมแม่ต่อจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ในประเทศไทยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนแรกพบร้อยละ 5.4-15.21 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่กำหนดเป้าหมายของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 50 การรณรงค์ บริหารจัดการ และจัดโครงสร้างในสถานพยาบาลเพื่อให้เอื้อต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความจำเป็น การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พื้นฐานของการจัดบริการควรมีการปฏิบัติตามหลักการการดำเนินงานของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกและบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

คลินิกนมแม่ เป็นรูปแบบการให้บริการที่จัดเพื่อเอื้ออำนวยต่อการให้คำปรึกษา ดูแลมารดาและทารก  แก้ไขปัญหา อุปสรรคที่พบระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการให้ลูกกินนมแม่ ในโรงพยาบาลที่สามารถจะจัดตั้งคลินิกนมแม่ได้ คลินิกนมแม่จะถือเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผล เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ร่วมกับการเป็นแหล่งการเรียนรู้และฝึกอบรมของนักศึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ การจัดบริการในคลินิกนมแม่เป็นการจัดการรูปแบบใหม่ที่มีการให้บริการหลากหลาย ดังนั้น การบริหารจัดการ โดยเฉพาะการคิดอัตรากำลัง ผลิตภาพการพยาบาล และงบประมาณในการดำเนินงาน จึงควรจะมีการพัฒนาเพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างมาตรฐานการทำงาน ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การคิดค่าตอบแทนตามภาระงาน การพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การบริหารจัดการอัตรากำลังที่เหมาะสม จะลดความเสี่ยงของการให้บริการ และช่วยเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย2

เอกสารอ้างอิง

  1. . Knowledge, attitudes and practices regarding breastfeeding support among village health volunteers in Nakhon Nayok, Thailand. . Thai J Obstet and Gynaecol 2016;24:89-96.
  2. . Nursing workload and patient safety–a mixed method study with an ecological restorative approach. Rev Lat Am Enfermagem 2013;21 Spec No:146-54.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ไร้ความสามารถ

รศ. นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เนื่องจากอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ไร้ความสามารถต่ำ แต่ข้อมูลการศึกษาในมารดากลุ่มนี้ยังมีน้อย เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาถึงประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มมารดาที่ไร้ความสามารถจำนวน 24 ราย ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ไร้ความสามารถที่ศึกษาจะมีการไร้ความสามารถด้านการเรียนรู้ ด้านพัฒนาการ ด้านร่างกาย ด้านประสาทรับสัมผัส ด้านจิตใจ และที่ไร้ความสามารถร่วมกันในหลาย ๆ ด้าน โดยใช้การสัมภาษณ์พบว่า มารดาที่ไร้ความสามารถต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนในการตัดสินใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีขึ้น ต้องการการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการไร้ความสามารถและความช่วยเหลือในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยมีช่องทางของการสื่อสารที่จัดให้อย่างเหมาะสม1{Andrews, 2021 #151739}

เอกสารอ้างอิง

1.        Andrews EE, Powell RM, Ayers KB. Experiences of Breastfeeding among Disabled Women. Womens Health Issues 2021;31:82-9.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสัมพันธ์กับการพัฒนาไอคิวของทารก

รศ. นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยเรื่องการพัฒนาไอคิวของทารก มีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ในกลุ่มตัวอย่าง 11096 รายโดยเป็นการศึกษาติดตามระยะยาว พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาไอคิวของทารกที่อายุ 8 ปี และพบทารกมีอาการอยู่ไม่สุกหรือขาดสมาธิลดลงที่อายุ 4 ปี นอกจากนี้ในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยแม่ยังพบลดอาการซึมเศร้าและพบทารกมีอาการอยู่ไม่สุกหรือขาดสมาธิลดลงที่อายุ 9 ปีด้วย1 อย่างไรก็ตาม ในการศึกษานี้ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับสภาวะทางอารมณ์ของทารก ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1.            Amiel Castro R, Glover V, Ehlert U, O’Connor TG. Breastfeeding, prenatal depression and children’s IQ and behaviour: a test of a moderation model. BMC Pregnancy Childbirth 2021;21:62.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)