การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 3

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

การกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการพยาบาลโดยตรง ปัจจัยเรื่องประเภทของผู้ป่วยหรือผู้รับบริการมีอิทธิพลต่อระยะเวลาการให้การพยาบาล4 ในกรณีนี้กำหนดการแบ่งแยกประเภทผู้ป่วยเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานที่ให้บริการที่คลินิกนมแม่ ดังนี้

การแยกประเภทผู้ป่วย       กำหนดการแยกประเภทผู้ป่วยตามระยะเวลาที่ใช้ในการให้การพยาบาลโดยตรงที่คลินิกนมแม่เป็น 5 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 ใช้เวลาในการให้การดูแล 1-10 นาที ตัวอย่างของผู้รับบริการประเภทที่ 1 ได้แก่ การประเมินการให้นม ซึ่งจะมีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ การประเมินการเจริญเติบโตของทารก การชั่งน้ำหนัก วัดความยาว และรอบศีรษะทารก การประเมินการเข้าเต้า (LATCH score) การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ซึ่งอาจจะมีการให้ความรู้เรื่องนมแม่และการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ในปัญหาอื่น ๆ

ประเภทที่ 2 ใช้เวลาในการให้การดูแลมากกว่า 10 นาทีจนถึง 45 นาที ตัวอย่างของผู้รับบริการประเภทที่ 2 ได้แก่ มารดาที่อุ้มลูกไม่ถูกวิธี ทารกดูดนมไม่ถึงลานนม หรือมารดาบีบเก็บน้ำนมไม่เป็น ซึ่งจะมีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ การประเมินการเจริญเติบโตของทารก การชั่งน้ำหนัก วัดความยาว และรอบศีรษะทารก การประเมินการเข้าเต้า (LATCH score) การสอนท่าอุ้มหรือการจัดท่าให้นมลูก การสังเกตการอ้าปากอมหัวนมและลานนมของทารก การสอนการบีบเก็บน้ำนมให้กับมารดา

ประเภทที่ 3 ใช้เวลาในการให้การดูแลมากกว่า 45 นาทีจนถึง 120 นาที ตัวอย่างของผู้รับบริการประเภทที่ 3 ได้แก่ มารดาที่มีเต้านมคัด หัวนมแตกหรือหัวนมสั้น ซึ่งจะมีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ การประเมินการเจริญเติบโตของทารก การชั่งน้ำหนัก วัดความยาว และรอบศีรษะทารก การประเมินการเข้าเต้า (LATCH score) การให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาเต้านมคัด การประคบร้อนที่เต้านม การบีบน้ำนมด้วยมือ การนวดเต้านม การสังเกตมารดาขณะให้นมลูก การแก้ไขการจัดท่าและการอมหัวนมและลานนมของทารก ให้มารดาลองปฏิบัติเพื่อเพิ่มหรือสร้างความมั่นใจและนัดติดตามดูแลเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

ประเภทที่ 4 ใช้เวลาในการให้การดูแลมากกว่า 120 นาทีจนถึง 150 นาที ตัวอย่างของผู้รับบริการประเภทที่ 4 ได้แก่ มารดาที่มีปัญหาต้องใช้เครื่องมือในการช่วยแก้ไข เช่น nipple puller หรือมารดาที่ต้องใช้ lact aid หรือมารดาที่ขอคำปรึกษามาจากหน่วยงานอื่น ซึ่งจะมีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ การประเมินการเจริญเติบโตของทารก การชั่งน้ำหนัก วัดความยาว และรอบศีรษะทารก การประเมินการเข้าเต้า (LATCH score) การสังเกตมารดาขณะให้นมลูก การช่วยจัดท่าและการอมหัวนมและลานนมของทารก ให้มารดาลองปฏิบัติเพื่อเพิ่มหรือสร้างความมั่นใจ ให้คำปรึกษาในการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อธิบายทางเลือกและการติดตามการรักษา และนัดติดตามดูแลเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

ประเภทที่ 5 ใช้เวลาในการให้การดูแลมากกว่า 150 นาที ตัวอย่างของผู้รับบริการประเภทที่ 5 ได้แก่ มารดาที่มีปัญหาต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ เช่น มารดาที่มีเต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม ทารกที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางหรือรุนแรงที่มีปัญหามารดาเจ็บหัวนมและเข้าเต้ายาก ต้องมีการวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์ ซึ่งจะมีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ การประเมินการเจริญเติบโตของทารก การชั่งน้ำหนัก วัดความยาว และรอบศีรษะทารก การประเมินการเข้าเต้า (LATCH score) การสังเกตมารดาขณะให้นมลูก การช่วยจัดท่าและการอมหัวนมและลานนมของทารก ให้คำปรึกษาแนวทางในการรักษา ทางเลือก การพยากรณ์โรคและการติดตามการรักษา และนัดติดตามดูแลเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง