การปฏิบัติตามนโยบายโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกช่วยลดอาการซึมเศร้าของมารดาหลังคลอด

รศ. นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดอาการซึมเศร้าและพบอุบัติการณ์ของภาวะซึมเศร้าลดลง นอกจากนี้ การที่โรงพยาบาลรับนโยบายโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกมาปฏิบัติมีการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่ามีผลในการลดอาการซึมเศร้าของมารดาหลังคลอดด้วย โดยในการศึกษานี้ ศึกษาในคู่มารดาและทารกจำนวน 903 คู่ที่สัปดาห์ที่ 10 หลังคลอด โดยจะพบว่ามีการลดอาการซึมเศร้ามากในโรงพยาบาลที่ปฏิบัติตามนโยบายบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกได้ทั้ง 10 ข้อ และในกลุ่มมารดาที่มีปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาก1 สิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งมารดาและครอบครัว และยังลดปัญหาที่ตามาจากการที่มารดมีภาวะแทรกซ้อนของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ดังนั้น การผลักดันนโยบายโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และยังมีผลดีต่อสุขภาพจิตรของมารดาและครอบครัวด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.            Agler RA, Zivich PN, Kawende B, Behets F, Yotebieng M. Postpartum depressive symptoms following implementation of the 10 steps to successful breastfeeding program in Kinshasa, Democratic Republic of Congo: A cohort study. PLoS Med 2021;18:e1003465.

ตัวแปรที่ใช้ทำนายความผูกพันระหว่างมารดาและทารก

รศ. นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เป็นที่ทราบกันดีว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยสร้างความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารก แต่ตัวแปรที่ใช้ทำนายความผูกพันระหว่างมารดาและทารกมีอะไรบ้าง ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง มีการศึกษาถึงเรื่องนี้ในประเทศจอร์แดนในกลุ่มตัวอย่าง 222 ราย พบว่า ตัวแปรที่ใช้ทำนายความผูกพันระหว่างมารดาและทารกได้แก่ การศึกษาของมารดา การที่มารดามีผู้ที่ช่วยเหลือในการเลี้ยงดูทารกหรือไม่ สถานภาพในการสมรสของมารดา เพศของทารก และการวางแผนจะมีการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป1 การที่บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจถึงเรื่องนี้ จะทำการให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวทำได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

1.            Abuhammad S. Predictors of maternal attachment among breastfeeding mothers in Jordan. Nurs Open 2021;8:123-9.

สรุปแนวทางการดูแลการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอดพร้อมตัวอย่างการวินิจฉัยภาวะที่พบบ่อย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แผนภาพแรกเป็นแนวทางในการซักประวัติและตรวจร่างกายในมารดาที่มีปัญหาเจ็บหัวนมหลังคลอด

แผนภาพที่สองเป็นแนวทางในการวินิจฉัยสาเหตุที่พบบ่อยของการเจ็บหัวนมของมารดา

การจัดการดูแลการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 9

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ข้อควรระวังในระหว่างการดูแลรักษาการเจ็บหัวนม ได้แก่

  • มารดาไม่ควรหยุดการให้นมเพื่อพักหัวนม เพราะการหยุดให้นมจะทำให้เต้านมคัด ทำให้ลานนมและหัวนมแข็งซึ่งจะยากในการเข้าเต้ามากขึ้น นอกจากนี้ การที่มารดาหยุดให้ลูกดูดนมจะทำให้การสร้างน้ำนมลดลงด้วย
  • ไม่ควรจำกัดความถี่ในการให้นมและระยะเวลาการให้นมในแต่ละครั้ง เพราะการจำกัดการให้นมจะไม่ช่วยลดการเจ็บหัวนม หากปัญหาหรือสาเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข  การที่เพิ่มระยะเวลาของการให้นมแต่ละครั้งห่างออกไปจะสัมพันธ์การที่มารดามีน้ำนมลดลง22 และการดูดเพียงหนึ่งนาทีของการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม จะสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือผลเสียต่อหัวนมและเต้านมได้ ซึ่งจะต่างจากการดูดนาน 20 นาทีของการเข้าเต้าที่เหมาะสม จะไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อหัวนมและเต้านมเลย
  • ไม่ควรใช้ครีมบำรุงผิว หรือสารหล่อลื่นใด ๆ ที่หัวนม เพราะทารกจะดูดกลืนเข้าไปและเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ผิวบริเวณหัวนมจะมีความไวต่อสารต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการระคายเคืองและเพิ่มการเจ็บหัวนมขึ้นได้ ขณะที่การทาน้ำมันหล่อลื่นที่หัวนมไม่ได้ช่วยให้การเข้าเต้าดีขึ้น9
  • การใช้อุปกรณ์ที่ป้องกันหัวนม (nipple shield) หากจะใช้ควรใช้ชั่วคราวในระยะเวลาสั้น ๆ  เพราะบางครั้งการใช้อุปกรณ์ที่ป้องกันหัวนมที่เป็นประจำในระยะยาว อาจทำให้กระตุ้นการสร้างน้ำนมของเต้านมได้น้อยลง ทำให้น้ำนมไหลน้อยลงด้วย ซึ่งการที่น้ำนมไหลน้อยลงอาจมีผลต่อการดูดของทารกโดยอาจทำให้ทารกดูดนมแรงขึ้น ขบหรือมีการกัดหัวนม ทำให้มารดากลับมาเจ็บหัวนมเพิ่มขึ้นอีกได้ นอกจากนี้ การใช้อุปกรณ์ที่ป้องกันหัวนมยังต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดและการปนเปื้อนเชื้อที่อุปกรณ์ที่ป้องกันหัวนม หากทำความสะอาดได้ไม่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

9.         Morland-Schultz K, Hill PD. Prevention of and therapies for nipple pain: a systematic review. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2005;34:428-37.

22.       McClellan HL, Hepworth AR, Kent JC, et al. Breastfeeding frequency, milk volume, and duration in mother-infant dyads with persistent nipple pain. Breastfeed Med 2012;7:275-81.

การจัดการดูแลการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 8

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษฺ์

วิธีการปฏิบัติที่จะช่วยลดอาการเจ็บหัวนม ทำให้มารดารู้สึกสบายขึ้นขณะทำการแก้ไขสาเหตุหลัก และหัวนมที่เจ็บกำลังจะหาย ได้แก่

  • ทาน้ำนมที่บีบออกมาจากเต้านมที่หัวนม ซึ่งจะช่วยหล่อลื่น ทำให้หัวนมชุ่มชื้นขึ้น ช่วยเคลือบรักษาสภาพผิวหนังบริเวณหัวนมและลานนม และลดการเสียดสี
  • ประคบอุ่นที่เต้านมก่อนการป้อนนมเพื่อกระตุ้นการไหลของน้ำนม
  • แนะนำให้มารดาเริ่มให้นมลูกจากเต้านมที่เจ็บน้อยกว่าก่อน
  • หากทารกง่วงนอนขณะให้นมและดูดนมได้ไม่ดีแต่ทารกยังอมหัวนมและลานนมอยู่ ควรนำทารกออกจากเต้านมเพื่อกระตุ้นให้ทารกตื่นตัว โดยทำการใส่นิ้วเข้าไปข้างปากทารกเพื่อลดแรงดูด แล้วจึงนำทารกออกจากเต้านมอย่างนุ่มนวล
  • การล้างหัวนม ควรทำวันละ 1-2 ครั้งตามการอาบน้ำหรือทำความสะอาดร่างกายตามปกติ ไม่จำเป็นต้องล้างหัวนมทุกครั้งที่ให้นม และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ซึ่งจะทำลายน้ำมันที่ปกคลุมหัวนมตามธรรมชาติ

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)