ถามตอบเรื่องนมแม่ มารดาควรให้นมลูกนานแค่ไหน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           หากมารดาตั้งคำถามกับหมอผู้ให้การดูแลว่า “มารดาควรให้ลูกกินนมนานแค่ไหน” คำตอบที่ควรให้แก่มารดาคือ มารดาควรให้นมแม่อย่างเดียวโดยไม่ให้อาหารอื่นแก่ทารกในหกเดือนแรกหลังการเกิด1 หลังจากนั้นควรให้นมแม่ต่อเนื่องร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งทารกอายุครบสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งก็หมายความว่านมแม่อย่างเดียวก็เป็นอาหารทารกที่พอเพียงสำหรับในทารกหกเดือนหลังเกิด แต่หลังจากหกเดือนไปแล้วแม้นมแม่ยังมีประโยชน์สูงแต่ก็มีสารอาหารที่ไม่เพียงพอสำหรับทารกที่เจริญเติบโตขึ้น จำเป็นต้องให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัย โดยระยะเวลาที่แนะนำควรสองปีหรือนานกว่านั้นก็ยังได้ประโยชน์จากการกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.

ถามตอบเรื่องนมแม่ มารดาควรเริ่มต้นการให้นมแม่เมื่อไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              หากมารดาตั้งคำถามกับหมอผู้ให้การดูแลว่า “มารดาควรเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อไร” คำตอบที่ควรให้แก่มารดาคือ หากหลังคลอดทารกปกติไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ต้องการการดูแลแก้ไขทันที มารดาควรเริ่มต้นด้วยการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังการคลอดและสามารถจะให้ลูกได้เริ่มดูดนมภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด1 ซึ่งก็หมายความว่าเราให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นการให้นมลูกก่อนที่จะทำการชั่งน้ำหนักหรืออาบน้ำทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.

การเก็บรักษานมแม่มีความสำคัญ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 ความสำคัญของการเก็บรักษานมแม่นั้น ส่วนใหญ่เพื่อนำมาใช้เวลาที่มารดาต้องกลับไปทำงานหรือมีความจำเป็นต้องแยกกันระหว่างมารดาและทารก หากมารดาสามารถอยู่กับทารกได้ตลอด การเก็บรักษานมแม่ก็จะมีความจำเป็นน้อย เนื่องจากการให้ทารกได้ดูดนมจากเต้าของมารดาที่มีความสดใหม่ คุณค่าของน้ำนมแม่ย่อมมีสูงกว่านมแม่ที่เก็บรักษาแม้ว่าจะแช่เย็นหรือแช่ในช่องน้ำแข็ง อย่างไรก็ตาม มารดาในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ต้องทำหน้าที่ทั้งแม่และทำงานเป็นผู้หารายได้ร่วมกัน การเก็บรักษานมแม่อย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้คุณค่าที่ดีจึงมีความสำคัญ โดยล่าสุดได้มีข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการเก็บรักษานมแม่1 ดังนี้

  • นมแม่ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 19-26 องศาเซลเซียส ก็คืออุณหภูมิห้อง (ในต่างประเทศที่มีอุณหภูมิห้องเย็น) แนะนำให้เก็บได้ 4 ชั่วโมงจะดีที่สุด แต่หากเก็บรักษาในที่จะมีความสะอาดมาก ๆ อาจเก็บได้ 6-8 ชั่วโมง สำหรับในประเทศไทยอุณหภูมิห้องจะสูงกว่านี้ การเก็บรักษานมจึงได้สั้นกว่าที่แนะนำ
  • นมแม่ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ก็คืออุณหภูมิในตู้เย็นช่องธรรมดา แนะนำให้เก็บได้ 4 วันจะดีที่สุด แต่หากเก็บรักษาในที่จะมีความสะอาดมาก ๆ อาจเก็บได้ 5-8 วัน
  • นมแม่ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ก็คืออุณหภูมิช่องแช่แข็ง แนะนำให้เก็บได้ 6 เดือนจะดีที่สุด แต่หากเก็บรักษาในที่จะมีความสะอาดมาก ๆ อาจเก็บได้ 12 เดือน

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Correction to: ABM Clinical Protocol #8: Human Milk Storage Information for Home Use for Full-Term Infants, Revised 2017, by Eglash A, Simon L, and The Academy of Breastfeeding Medicine Breastfeed Med 2017;12(7):390-395. DOI: 10.1089/dna.2017.29047.aje. Breastfeed Med 2018;13:459.

สูติแพทย์ควรสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 หากมีคำถามว่า “สูติแพทย์ควรสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร” สูติแพทย์มักจะตอบคำถามนี้สั้น ๆ ว่า “ก็แนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ซิ” คำตอบนี้ แสดงว่า สูติแพทย์อาจมีมุมมองที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องความสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจเป็นด้วยความไม่ชัดเจนของนโยบายขององค์กรที่มีหน้าที่ในการดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรืออาจเป็นเพราะขาดความรู้ ความเข้าใจที่จะตระหนักถึงความสำคัญของนมแม่ หรืออาจเป็นเพราะการขาดระบบกระบวนการความคิดที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จตามเป้าหมายของประเทศและองค์การอนามัยโลก ดังนั้น จึงอยากฝากแนวทางที่มีการแนะนำให้สูติแพทย์สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามประกาศของสมาคมสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อให้สูติแพทย์มองเห็น ตระหนัก และมีความหยั่งรู้ในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น 1

  • สูติแพทย์ควรมีความตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ที่ต้องมีในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามนโยบายของประเทศและองค์การอนามัยโลก
  • สูติแพทย์ควรมีส่วนร่วมของแกนนำในการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในสถานพยาบาล เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ ระยะคลอดและหลังคลอด
  • สูติแพทย์ควรให้การช่วยเหลือมารดาให้มีความสามารถจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยตนเองได้ เนื่องจากการขาดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีความเสี่ยงของมารดาในการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ และมีความเสี่ยงในทารกที่จะเกิดการติดเชื้อ การเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ และกลุ่มโรคเมตาบอลิก ดังนั้น หากช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้จะช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของทั้งมารดาและทารก
  • สูติแพทย์ควรอธิบายแก่มารดาและครอบครัวให้ทราบว่า ข้อห้ามในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีน้อย การใช้ยาและการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่ในระหว่างการให้นมแม่สามารถทำได้โดยปลอดภัย นอกจากนี้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการแพทย์ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย
  • สูติแพทย์มีบทบาทในการอธิบายประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มารดาและครอบครัวมีความเข้าใจดี เมื่อมารดาและครอบครัวเข้าใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอย่างดีแล้ว เปิดโอกาสให้มารดาและครอบครัวเลือกที่จะเลือกอาหารสำหรับทารกแรกเกิดโดยอิสระ
  • สูติแพทย์มีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาทักษะและเพิ่มศักยภาพในการให้คำปรึกษา การให้การดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกมารดาที่ปกติและมารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยได้อย่างเหมาะสมด้วยความมั่นใจ
  • สูติแพทย์มีบทบาทที่จะต้องช่วยให้มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถปรับตัวที่จะทำให้การให้นมลูกแม่กลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้รวมทั้งเมื่อมารดามีความจำเป็นต้องกลับไปทำงานด้วย

จะเห็นว่า หน้าที่และบทบาทของสูติแพทย์ไม่ใช่เพียงแต่การตอบสั้น ๆ ว่า “แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เท่านั้น”

เอกสารอ้างอิง

  1. ACOG Committee Opinion No. 756: Optimizing Support for Breastfeeding as Part of Obstetric Practice. Obstet Gynecol 2018;132:e187-e96.

 

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)