การเก็บรักษานมแม่มีความสำคัญ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 ความสำคัญของการเก็บรักษานมแม่นั้น ส่วนใหญ่เพื่อนำมาใช้เวลาที่มารดาต้องกลับไปทำงานหรือมีความจำเป็นต้องแยกกันระหว่างมารดาและทารก หากมารดาสามารถอยู่กับทารกได้ตลอด การเก็บรักษานมแม่ก็จะมีความจำเป็นน้อย เนื่องจากการให้ทารกได้ดูดนมจากเต้าของมารดาที่มีความสดใหม่ คุณค่าของน้ำนมแม่ย่อมมีสูงกว่านมแม่ที่เก็บรักษาแม้ว่าจะแช่เย็นหรือแช่ในช่องน้ำแข็ง อย่างไรก็ตาม มารดาในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ต้องทำหน้าที่ทั้งแม่และทำงานเป็นผู้หารายได้ร่วมกัน การเก็บรักษานมแม่อย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้คุณค่าที่ดีจึงมีความสำคัญ โดยล่าสุดได้มีข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการเก็บรักษานมแม่1 ดังนี้

  • นมแม่ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 19-26 องศาเซลเซียส ก็คืออุณหภูมิห้อง (ในต่างประเทศที่มีอุณหภูมิห้องเย็น) แนะนำให้เก็บได้ 4 ชั่วโมงจะดีที่สุด แต่หากเก็บรักษาในที่จะมีความสะอาดมาก ๆ อาจเก็บได้ 6-8 ชั่วโมง สำหรับในประเทศไทยอุณหภูมิห้องจะสูงกว่านี้ การเก็บรักษานมจึงได้สั้นกว่าที่แนะนำ
  • นมแม่ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ก็คืออุณหภูมิในตู้เย็นช่องธรรมดา แนะนำให้เก็บได้ 4 วันจะดีที่สุด แต่หากเก็บรักษาในที่จะมีความสะอาดมาก ๆ อาจเก็บได้ 5-8 วัน
  • นมแม่ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ก็คืออุณหภูมิช่องแช่แข็ง แนะนำให้เก็บได้ 6 เดือนจะดีที่สุด แต่หากเก็บรักษาในที่จะมีความสะอาดมาก ๆ อาจเก็บได้ 12 เดือน

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Correction to: ABM Clinical Protocol #8: Human Milk Storage Information for Home Use for Full-Term Infants, Revised 2017, by Eglash A, Simon L, and The Academy of Breastfeeding Medicine Breastfeed Med 2017;12(7):390-395. DOI: 10.1089/dna.2017.29047.aje. Breastfeed Med 2018;13:459.