คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

การเบ่งคลอดอย่างไรเหมาะสม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                      การเบ่งคลอด ส่วนใหญ่ตามโรงพยาบาลมักสอนให้มารดาเบ่งคลอดแบบปิดกล่องเสียง คือมารดาจะต้องสูดหายใจเข้าลึก ๆ กั้น ปิดกล่องเสียง (สังเกตได้ว่ามารดาจะไม่ส่งเสียงร้องขณะออกแรงเบ่ง) แล้วเบ่งยาว ๆ ให้ได้ 2-3 ครั้งต่อการเจ็บครรภ์คลอดหรือท้องแข็ง 1 ครั้ง การสอนการเบ่งคลอดอย่างเหมาะสมจะทำให้มารดาเบ่งคลอดได้ถูกต้องดยการส่งเสียงเชียร์เบ่งคลอดจากบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ช่วยคลอดอาจขึ้นอยู่กับความต้องการหรือความพึงพอใจของมารดา1 เนื่องจากไม่พบความแตกต่างของระยะเวลาในการคลอด คะแนะประเมินทารก Apgar score และความจำเป็นที่จะต้องย้ายทารกไปหอทารกป่วยวิกฤต หากมารดาเบ่งคลอดได้ดี จะมีโอกาสในการคลอดปกติสูงขึ้น การที่มารดาคลอดปกติทางช่องคลอดจะทำให้มารดาสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดรวมถึงการเริ่มการรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำ จะเป็นประโยชน์ต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย  สำหรับท่าในการคลอดที่จะช่วยส่งเสริมในการเบ่งคลอดคือ ท่าที่ลำตัวของมารดาค่อนข้างตั้งตรงหรือเอนหลังเล็กน้อย

เอกสารอ้างอิง

  1. Sukchamnan K, Khongsin U, Sanboonsong K, Puapornpong P, Manolerdthewan W. Effect of maternal bearing-down cheering on labor outcomes. J med health sci 2010;17:22-8.

 

 

 

ผลเสียของการใช้ยาแก้ปวดในขณะคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  แม้ว่ายาแก้ปวดจะมีประโยชน์ในการลดความเจ็บปวดในระหว่างการรอคลอดได้ แต่การให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวด ควรมีการอภิปรายถึงข้อดีข้อเสียต่างๆ กับมารดาตั้งแต่ระยะก่อนการคลอด อธิบายถึงลักษณะการเจ็บครรภ์คลอดและทางเลือกในการลดความเจ็บปวดจากการคลอดด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยา เพื่อให้มารดาเข้าใจ ลดความกลัว ความวิตกกังวล หรือความคาดหวังถึงความรุนแรงของการเจ็บครรภ์คลอดซึ่งจะส่งผลต่อความรุนแรงต่อการเจ็บครรภ์ขณะเข้าสู่ระยะคลอด1 โดยอธิบายข้อดีของการให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวดจะทำให้มารดามีอาการปวดน้อยลง ไม่ต้องทนหรือมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการคลอด สำหรับข้อเสียหรือความเสี่ยงของการให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวด ได้แก่ การคลอดยาวนานขึ้น มีโอกาสการใช้หัตถการสูงขึ้น2 การให้ทารกแรกเกิดได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เริ่มช้าลง3 เสี่ยงต่อการทำให้เกิดการแยกมารดาจากทารกหลังคลอด ทำให้ทารกง่วงซึมและปลุกตื่นยาก ลดกลไกการดูดนมของทารก น้ำนมลดลง ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดอาการตัวเหลือง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และน้ำหนักตัวขึ้นน้อย การให้การช่วยเหลือหรือเวลาที่มากขึ้นอาจจำเป็นในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการสร้างความสัมพันธ์ของมารดากับทารกเมื่อมีการใช้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวด

              ควรจะเสนอการลดความเจ็บปวดจากการคลอดด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยาก่อน ซึ่งมีหลายวิธี ได้แก่ การให้สามีหรือญาติที่ใกล้ชิดอยู่ให้กำลังใจหรือการกดนวดหลัง4 การเดินจงกลม การเดินไปรอบๆ หรือการเคลื่อนไหวเปลี่ยนท่า การกอดลูกบอล5 การเต้นโดยการยืนขยับสะโพกไปหน้าหลังหรือเป็นวงกลมพร้อมการนวดหลัง (dance labor)6 การใช้น้ำอุ่นหรือประคบร้อนบริเวณหลังส่วนล่าง7 การประคบร้อนสลับเย็นบริเวณหลังส่วนล่าง8 การให้กำลังใจโดยภาษากายหรือการพูดจากบุคลากรทางการแพทย์ และการสร้างบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ การมีแสงไฟที่ไม่สว่างจ้าเกินไป ควรมีทางเลือกให้มารดาได้เลือกท่าในระหว่างการรอคลอดและขณะคลอด9,10 ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละโรงพยาบาล และฝึกบุคลากรให้มีความสามารถและทัศนคติที่จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดลงได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Chang MY, Chen SH, Chen CH. Factors related to perceived labor pain in primiparas. Kaohsiung J Med Sci 2002;18:604-9.
  2. Hwa HL, Chen LK, Chen TH, Lee CN, Shyu MK, Shih JC. Effect of availability of a parturient-elective regional labor pain relief service on the mode of delivery. J Formos Med Assoc 2006;105:722-30.
  3. Riordan J, Gross A, Angeron J, Krumwiede B, Melin J. The effect of labor pain relief medication on neonatal suckling and breastfeeding duration. J Hum Lact 2000;16:7-12.
  4. Taghinejad H, Delpisheh A, Suhrabi Z. Comparison between massage and music therapies to relieve the severity of labor pain. Womens Health (Lond Engl) 2010;6:377-81.
  5. Taavoni S, Abdolahian S, Haghani H, Neysani L. Effect of birth ball usage on pain in the active phase of labor: a randomized controlled trial. J Midwifery Womens Health 2011;56:137-40.
  6. Abdolahian S, Ghavi F, Abdollahifard S, Sheikhan F. Effect of dance labor on the management of active phase labor pain & clients’ satisfaction: a randomized controlled trial study. Glob J Health Sci 2014;6:219-26.
  7. Taavoni S, Abdolahian S, Haghani H. Effect of sacrum-perineum heat therapy on active phase labor pain and client satisfaction: a randomized, controlled trial study. Pain Med 2013;14:1301-6.
  8. Ganji Z, Shirvani MA, Rezaei-Abhari F, Danesh M. The effect of intermittent local heat and cold on labor pain and child birth outcome. Iran J Nurs Midwifery Res 2013;18:298-303.
  9. Golay J, Vedam S, Sorger L. The squatting position for the second stage of labor: effects on labor and on maternal and fetal well-being. Birth 1993;20:73-8.
  10. Souza JP, Miquelutti MA, Cecatti JG, Makuch MY. Maternal position during the first stage of labor: a systematic review. Reprod Health 2006;3:10.

บทบาทของเพื่อนหรือญาติที่ช่วยดูแลมารดาขณะรอคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              บุคคลที่อยู่เป็นเพื่อนมารดาขณะรอคลอดและคลอดอาจจะเป็น พี่สาว น้องสาว เพื่อน สามี สมาชิกในครอบครัว หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันก็ได้ บุคคลที่อยู่เป็นเพื่อนจำเป็นต้องเฝ้าอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่รอคลอดจนกระทั่งมารดาเสร็จสิ้นการคลอด

              บทบาทของบุคคลที่อยู่เป็นเพื่อน ควรทำหน้าที่ให้การสนับสนุนมารดาที่คลอด1 มีดังนี้

  • กระตุ้นให้มารดาเคลื่อนไหวขณะรอคลอดตามความเหมาะสม
  • ดูแลเรื่องอาหารว่างและน้ำแก่มารดา
  • สร้างความเชื่อมั่นให้กับมารดาโดยให้มารดามุ่งความสนใจไปที่กระบวนการของการคลอดที่กำลังดำเนินไปด้วยดี
  • แนะนำวิธีการที่จะจัดการกับความเจ็บปวดและความวิตกกังวล
  • นวด จับมือ หรือใช้ผ้าเย็นช่วย
  • ใช้คำพูดเชิงบวก

             การที่บุคคลที่อยู่เป็นเพื่อนมารดาขณะรอคลอดและคลอดจะทราบบทบาท และมีความพร้อมในการช่วยเหลือ จำเป็นต้องมีการจัดอบรมเตรียมความพร้อมเพื่อให้ผู้ที่ช่วยเหลือมีความมั่นใจ ไม่หน้ามืด เป็นลม หรือไม่กลับเป็นภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์ขณะช่วยคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

การให้ญาติช่วยดูแลมารดาขณะรอคลอด มีประโยชน์หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                    การจัดให้สามีหรือญาติที่ใกล้ชิดสามารถอยู่ให้กำลังใจและดูแลในระยะแรกของการคลอดได้ จะส่งผลดีต่อการคลอด โดยการให้มีเพื่อนอยู่ด้วยระหว่างการรอคลอดและคลอด มีประโยชน์ต่อมารดาโดยอาจช่วยนวดซึ่งสามารถลดความเจ็บปวดที่รุนแรงจากการคลอด1  ช่วยสนับสนุนในการเคลื่อนไหวของมารดาซึ่งจะช่วยให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้น2 ลดความเครียดของมารดา ลดความจำเป็นในความต้องการในการใช้หัตถการทางการแพทย์ ช่วยให้การรอคลอดและการคลอดเร็วขึ้น และเพิ่มความมั่นใจในตนเองของมารดาในด้านร่างกายและในด้านความสามารถในการคลอด และช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดแก่ทารก ได้แก่ เพิ่มการตื่นตัวของทารกจากการที่มารดาได้รับยาแก้ปวดลดลง และลดอาการตัวเย็น (hypothermia) และภาวะน้ำตาลต่ำของทารกเนื่องจากทารกมีความเครียดน้อยกว่าจึงใช้พลังงานน้อยกว่า ซึ่งจะช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกและช่วยในการให้นมแม่ได้บ่อยขึ้น พร้อมทั้งสร้างความผูกพันระหว่างมารดากับทารกได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมให้ญาติที่อยู่ช่วยดูแลในขณะรอคลอดให้มีทักษะและความรู้ที่จะช่วยเหลือมารดาได้อย่างเหมาะสม ก็ยังมีความจำเป็นด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Taghinejad H, Delpisheh A, Suhrabi Z. Comparison between massage and music therapies to relieve the severity of labor pain. Womens Health (Lond Engl) 2010;6:377-81.
  2. Read JA, Miller FC, Paul RH. Randomized trial of ambulation versus oxytocin for labor enhancement: a preliminary report. Am J Obstet Gynecol 1981;139:669-72.

 

การให้น้ำเกลือแก่มารดาขณะรอคลอด จำเป็นหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การให้น้ำเกลือแก่มารดาขณะรอคลอดนั้น จะได้ประโยชน์ในมารดาที่ต้องงดน้ำงดอาหาร เนื่องจากน้ำเกลือที่ให้มักมีส่วนผสมของน้ำตาลที่ช่วยให้พลังงานแก่มารดา อย่างไรก็ตาม หากงดน้ำงดอาหารนาน พลังงานที่ได้จากน้ำตาลที่มีอยู่ในน้ำเกลือมักไม่เพียงพอ จึงอาจเกิดผลเสียต่อมารดาได้ ประโยชน์อีกส่วนหนึ่งคือในกรณีที่มารดามีความเสี่ยงสูง อาจจำเป็นต้องมีการให้ยาหรือให้สารน้ำกรณีที่มีภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการมีสายน้ำเกลือจะช่วยให้สามารถให้ยาหรือสารน้ำได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีสารน้ำเกลือที่ต่อกับเส้นเลือดอยู่แล้ว แต่ข้อเสียของการมีสายน้ำเกลือคือ การจำกัดการเคลื่อนไหวของมารดา ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก และอาจเพิ่มความเครียดให้กับมารดาได้ ดังนั้น ข้อแนะนำจึงควรพิจารณาตามความเสี่ยงของมารดา หากมารดามีความเสี่ยงต่ำ อยู่ในระยะเริ่มต้นของการคลอดต้องใช้เวลาอีกนาน การรับประทานอาหารว่างและน้ำทำได้ การให้น้ำเกลืออาจไม่มีความจำเป็น สำหรับมารดาที่มีความเสี่ยงในการคลอดสูงอาจพิจารณาเปิดเส้นเลือดโดยมีสายหล่อสารละลายลิ่มเลือด (heparin lock) ไว้เนื่องจากจะรบกวนการเคลื่อนไหวของมารดาน้อยกว่า หรือาจพิจารณาให้น้ำเกลือหรือให้สารที่ช่วยให้พลังงานแก่มารดาในกรณีที่มารดามีความเสี่ยงสูง และต้องงดน้ำงดอาหารชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็จะเป็นการดูแลมารดาตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าการให้สารน้ำที่มากเกินไปอาจเกิดภาวะไม่สมดุลของอิเล็คโตรไลท์ ทำให้เกิดภาวะน้ำเกินของทารกในครรภ์และน้ำหนักทารกลดลงมากจากการที่ร่างกายขับน้ำที่เกินออกในช่วงหลังการคลอดได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.