คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

ผู้ใหญ่ในบ้านสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ครอบครัวในสังคมไทย พื้นฐานยังเป็นครอบครัวที่ขยาย และผู้ใหญ่ในบ้านก็ยังมีความสำคัญในการชี้นำหรือตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ การขัดแย้งหรือปฏิเสธความคิดเห็นของผู้ใหญ่ในบ้านเป็นเรื่องที่อาจส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งกันในครอบครัวได้ ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็เช่นกัน หากผู้ใหญ่ในบ้านให้การสนับสนุน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะสูง แต่หากปฏิเสธและให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหลับทารก ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีการจัดการโดยต้องมีการเตรียมที่จะให้ความรู้และปรับทัศนคติให้ผู้ใหญ่ในบ้านทราบถึงคุณประโยชน์ที่นมแม่มีแก่ทารก ซึ่งหากได้การสนับสนุนจากปู่ย่าตายายที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้าน จะมีผลทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานขึ้น จากการศึกษาพบว่าในมารดาที่แม่เล่าข้อมูลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ฟังจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า1 และความคิดเห็นของย่าและยายมีผลต่อการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา2,3 แต่ในบางประเทศ ย่าหรือยายจะมีอิทธิพลต่อการให้น้ำหรือชาสมุนไพรในระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่4 ซึ่งจะมีผลเสียแก่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับในสังคมไทย บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ผู้ใหญ่ในบ้านได้มีส่วนร่วมในการอบรมความรู้เรื่องนมแม่ และฝึกให้ย่าหรือยายเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งถือว่าจะเป็นผู้ช่วยอย่างดี เพราะอยู่ในบ้านเดียวกัน ช่วยเหลือมารดาได้ และยังมีอิทธิพลทางด้านจิตใจในการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Ekstrom A, Widstrom AM, Nissen E. Breastfeeding support from partners and grandmothers: perceptions of Swedish women. Birth 2003;30:261-6.
  2. Houghtaling B, Byker Shanks C, Ahmed S, Rink E. Grandmother and health care professional breastfeeding perspectives provide opportunities for health promotion in an American Indian community. Soc Sci Med 2018;208:80-8.
  3. Odom EC, Li R, Scanlon KS, Perrine CG, Grummer-Strawn L. Association of Family and Health Care Provider Opinion on Infant Feeding with Mother’s Breastfeeding Decision. J Acad Nutr Diet 2014;114:1203-7.
  4. Giugliani ERJ, do Espírito Santo LC, de Oliveira LD, Aerts D. Intake of water, herbal teas and non-breast milks during the first month of life: Associated factors and impact on breastfeeding duration. Early Human Development 2008;84:305-10.

คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมีความเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การที่คู่สามีภรรยาแยกกันอยู่ หย่าร้าง หรือมารดาเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากการที่ไม่ได้อยู่ร่วมกันระหว่างสามีและภรรยา ก็อาจจะมีโอกาสที่มารดาจะต้องดูแลทารกด้วยตนเองอย่างโดดเดี่ยว ขาดที่ปรึกษา และขาดคนที่จะคอยช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ทารกได้กินนมแม่โดยเฉพาะเมื่อมารดาต้องกลับไปทำงาน ดังนั้น ด้วยความเสี่ยงเหล่านี้ การที่มารดาแยกกันอยู่กับสามี จะมีผลลบต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือน2 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและติดตามมารดาสนับสนุนมารดากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำปรึกษาที่เหมาะสมทั้งทางด้านการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และให้การสนับสนุนทางด้านจิตใจ เพื่อเป็นการเสริมพลังและสร้างให้มารดามีความมั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ดีขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Lee HJ, Rubio MR, Elo IT, McCollum KF, Chung EK, Culhane JF. Factors associated with intention to breastfeed among low-income, inner-city pregnant women. Matern Child Health J 2005;9:253-61.
  2. Zhu Y, Hernandez LM, Mueller P, Dong Y, Hirschfeld S, Forman MR. Predictive Models for Characterizing Disparities in Exclusive Breastfeeding Performance in a Multi-ethnic Population in the US. Matern Child Health J 2016;20:398-407.

 

สามีมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญกับสามีซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลุกด้วยนมแม่ โดยที่ความคิดเห็น ทัศนคติและความช่วยเหลือของสามีในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาถึงความคิดเห็นและทัศนคติของสามีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับทัศนคติของมารดาอย่างมีนัยสำคัญ และในกรณีที่สามีมีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดามีโอกาสหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่า1-5 นอกจากนี้ การให้ความรู้กับสามีและให้สามีมีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเป็นผลดีต่อการเริ่มต้น ระยะเวลา อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว และช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังจากมารดากลับไปทำงานด้วย6-9 ดังนั้น ในการจัดการให้ความรู้ และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรมีการคำนึงถึง ให้ความสำคัญโดยจัดให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งสามีจะมีส่วนในการช่วยให้มารดาสามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Scott JA, Landers MC, Hughes RM, Binns CW. Factors associated with breastfeeding at discharge and duration of breastfeeding. J Paediatr Child Health 2001;37:254-61.
  2. Wolfberg AJ, Michels KB, Shields W, O’Campo P, Bronner Y, Bienstock J. Dads as breastfeeding advocates: results from a randomized controlled trial of an educational intervention. Am J Obstet Gynecol 2004;191:708-12.
  3. Sharps PW, El-Mohandes AA, Nabil El-Khorazaty M, Kiely M, Walker T. Health beliefs and parenting attitudes influence breastfeeding patterns among low-income African-American women. J Perinatol 2003;23:414-9.
  4. Odom EC, Li R, Scanlon KS, Perrine CG, Grummer-Strawn L. Association of Family and Health Care Provider Opinion on Infant Feeding with Mother’s Breastfeeding Decision. J Acad Nutr Diet 2014;114:1203-7.
  5. Mateus Solarte JC, Cabrera Arana GA. Factors associated with exclusive breastfeeding practice in a cohort of women from Cali, Colombia. Colomb Med (Cali) 2019;50:22-9.
  6. Abbass-Dick J, Brown HK, Jackson KT, Rempel L, Dennis CL. Perinatal breastfeeding interventions including fathers/partners: A systematic review of the literature. Midwifery 2019;75:41-51.
  7. Tsai SY. Influence of partner support on an employed mother’s intention to breastfeed after returning to work. Breastfeed Med 2014;9:222-30.
  8. Su M, Ouyang YQ. Father’s Role in Breastfeeding Promotion: Lessons from a Quasi-Experimental Trial in China. Breastfeed Med 2016.
  9. Ozluses E, Celebioglu A. Educating fathers to improve breastfeeding rates and paternal-infant attachment. Indian Pediatr 2014;51:654-7.

 

มารดาที่มีภาวะซึมเศร้าจะเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              แม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีประโยชน์ในการลดการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ แต่ในทางกลับกัน กรณีที่มารดามีอาการซึมเศร้าก็จะเป็นผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และทำให้มารดามีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร อาการซึมเศร้าและรู้สึกด้อยค่าของมารดา นอกจากนี้ การที่มารดามีความรู้สึกด้อยค่า ซึ่งมักพบในมารดาที่มีอาการซึมเศร้า ยังมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวด้วย โดยมีการศึกษาพบว่า มารดาที่รู้สึกด้อยค่าหรือมีอาการซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหนึ่งเดือนแรก1 และภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่2

เอกสารอ้างอิง

  1. Zanardo V, Volpe F, Giustardi A, Canella A, Straface G, Soldera G. Body image in breastfeeding women with depressive symptoms: a prospective study. J Matern Fetal Neonatal Med 2016;29:836-40.
  2. Webber E, Benedict J. Postpartum depression: A multi-disciplinary approach to screening, management and breastfeeding support. Arch Psychiatr Nurs 2019;33:284-9.

ความเครียดในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                     กลไกในการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งจะสร้างจากสมองในส่วนไฮโปธาลามัสที่มีเปลี่ยนแปลงการตอบสนองต่อความรู้สึกต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อมารดามีความเครียดจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่จะตอบสนองต่อความเครียดรวมทั้งออกซิโตซิน โดยมีการพบว่า สตรีที่มีความเครียดในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะน้ำนมมาช้า ซึ่งการที่น้ำนมมาช้าจะสัมพันธ์การการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 และยังพบว่าการที่มารดามีความเครียดในระหว่างการคลอดจะมีผลลบต่อการเข้าเต้า พฤติกรรมการดูดนมของทารก และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย2 ดังนั้น กระบวนการที่ให้คำปรึกษาโดยเตรียมมารดาให้มีความพร้อมในการที่คลอดและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยลดความเครียดของมารดา ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปในตัวด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhu P, Hao J, Jiang X, Huang K, Tao F. New insight into onset of lactation: mediating the negative effect of multiple perinatal biopsychosocial stress on breastfeeding duration. Breastfeed Med 2013;8:151-8.
  2. Karakoyunlu O, Ejder Apay S, Gurol A. The effect of pain, stress, and cortisol during labor on breastfeeding success. Dev Psychobiol 2019.