รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาสงสัยว่าตนเองมีน้ำนมไม่เพียงพอ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ อย่างไรก็ตาม มารดาส่วนใหญ่จะมีน้ำนมเพียงพอสำหรับทารก ดังนั้น หากมารดาสงสัยว่าตนเองมีน้ำนมไม่เพียงพอ ควรสังเกตว่าตนเองดื่มน้ำวันหนึ่งเพียงพอหรือไม่ โดยทั่วไป มารดาควรดื่มน้ำวันละ 1800-2400 มิลลิลิตร และควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีน ผัก และผลไม่ให้พอเพียงด้วย มารดาควรให้ทารกกินนมแม่วันละ 10-12 ครั้ง แต่ละครั้งควรให้นาน 20-30 นาทีโดยที่ดูดนมในแต่ละข้างนาน 10-15 นาที1 ซึ่งการให้นมลูกบ่อย ๆ ตามความต้องการของทารกจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมของมารดามากขึ้น การให้นมแม่นั้นควรให้เมื่อทารกมีอาการบ่งบอกว่าหิว ไม่ควรกำหนดเวลาที่จะให้นมแก่ทารกกิน การแก้ปัญหาน้ำนมไม่เพียงพอโดยปฏิบัติตามข้อแนะนำเบื้องต้นนี้มักได้ผลในมารดาส่วนใหญ่ แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ร่วมกับการไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ด้วย เพื่อร่วมสังเกต ให้คำปรึกษาเฉพาะบุคคลร่วมกับการติดตามอาการอย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาตั้งคำถามกับหมอผู้ให้การดูแลว่า “มีข้อห้ามอะไรที่มารดาไม่ควรให้นมลูก” คำตอบที่ควรให้แก่มารดาคือ การให้นมลูกสามารถให้ได้ในมารดาส่วนใหญ่ แม้ว่ามารดาจะมีประวัติการเสริมเต้านม ผ่าตัดเต้านม มารดาที่มีการติดเชื้อหลังคลอด หรือในทารกที่มีภาวะลิ้นติด ทารกตัวเหลืองและทารกที่จำเป็นต้องรักษาตัวที่หอทารกป่วยวิกฤตก็มีควรเริ่มต้นให้นมแม่ก่อนในกรณีเหล่านี้เนื่องจากประโยชน์ที่มีผลดีต่อสุขภาพของนมแม่แก่ทารก1 สำหรับข้อห้ามที่มีในการให้นมแม่น้อยมาก ได้แก่ มารดาที่มีการติดเชื้อเอชไอวีและทารกที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลกาแลคโตสในนมแม่ได้ซึ่งภาวะนี้ก็พบน้อยมาก ดังนั้นหากมารดามีข้อสงสัยเรื่องปัญหาการให้นมแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่เพื่อให้คำปรึกษาทันทีไม่ว่าจะเป็นข้อสงสัยในระยะก่อนหรือหลังคลอดก็ตาม
เอกสารอ้างอิง
Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาตั้งคำถามกับหมอผู้ให้การดูแลว่า “มารดาควรให้ลูกกินนมนานแค่ไหน” คำตอบที่ควรให้แก่มารดาคือ มารดาควรให้นมแม่อย่างเดียวโดยไม่ให้อาหารอื่นแก่ทารกในหกเดือนแรกหลังการเกิด1 หลังจากนั้นควรให้นมแม่ต่อเนื่องร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งทารกอายุครบสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งก็หมายความว่านมแม่อย่างเดียวก็เป็นอาหารทารกที่พอเพียงสำหรับในทารกหกเดือนหลังเกิด แต่หลังจากหกเดือนไปแล้วแม้นมแม่ยังมีประโยชน์สูงแต่ก็มีสารอาหารที่ไม่เพียงพอสำหรับทารกที่เจริญเติบโตขึ้น จำเป็นต้องให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัย โดยระยะเวลาที่แนะนำควรสองปีหรือนานกว่านั้นก็ยังได้ประโยชน์จากการกินนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาตั้งคำถามกับหมอผู้ให้การดูแลว่า “มารดาควรเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อไร” คำตอบที่ควรให้แก่มารดาคือ หากหลังคลอดทารกปกติไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ต้องการการดูแลแก้ไขทันที มารดาควรเริ่มต้นด้วยการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังการคลอดและสามารถจะให้ลูกได้เริ่มดูดนมภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด 1 ซึ่งก็หมายความว่าเราให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นการให้นมลูกก่อนที่จะทำการชั่งน้ำหนักหรืออาบน้ำทารก
เอกสารอ้างอิง
Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความสำคัญของการเก็บรักษานมแม่นั้น ส่วนใหญ่เพื่อนำมาใช้เวลาที่มารดาต้องกลับไปทำงานหรือมีความจำเป็นต้องแยกกันระหว่างมารดาและทารก หากมารดาสามารถอยู่กับทารกได้ตลอด การเก็บรักษานมแม่ก็จะมีความจำเป็นน้อย เนื่องจากการให้ทารกได้ดูดนมจากเต้าของมารดาที่มีความสดใหม่ คุณค่าของน้ำนมแม่ย่อมมีสูงกว่านมแม่ที่เก็บรักษาแม้ว่าจะแช่เย็นหรือแช่ในช่องน้ำแข็ง อย่างไรก็ตาม มารดาในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ต้องทำหน้าที่ทั้งแม่และทำงานเป็นผู้หารายได้ร่วมกัน การเก็บรักษานมแม่อย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้คุณค่าที่ดีจึงมีความสำคัญ โดยล่าสุดได้มีข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการเก็บรักษานมแม่1 ดังนี้
นมแม่ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 19-26 องศาเซลเซียส ก็คืออุณหภูมิห้อง (ในต่างประเทศที่มีอุณหภูมิห้องเย็น) แนะนำให้เก็บได้ 4 ชั่วโมงจะดีที่สุด แต่หากเก็บรักษาในที่จะมีความสะอาดมาก ๆ อาจเก็บได้ 6-8 ชั่วโมง สำหรับในประเทศไทยอุณหภูมิห้องจะสูงกว่านี้ การเก็บรักษานมจึงได้สั้นกว่าที่แนะนำ
นมแม่ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ก็คืออุณหภูมิในตู้เย็นช่องธรรมดา แนะนำให้เก็บได้ 4 วันจะดีที่สุด แต่หากเก็บรักษาในที่จะมีความสะอาดมาก ๆ อาจเก็บได้ 5-8 วัน
นมแม่ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ก็คืออุณหภูมิช่องแช่แข็ง แนะนำให้เก็บได้ 6 เดือนจะดีที่สุด แต่หากเก็บรักษาในที่จะมีความสะอาดมาก ๆ อาจเก็บได้ 12 เดือน
เอกสารอ้างอิง
Correction to: ABM Clinical Protocol #8: Human Milk Storage Information for Home Use for Full-Term Infants, Revised 2017, by Eglash A, Simon L, and The Academy of Breastfeeding Medicine Breastfeed Med 2017;12(7):390-395. DOI: 10.1089/dna.2017.29047.aje. Breastfeed Med 2018;13:459.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)