รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญ แม่ที่เคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักเริ่มต้นให้ลูกกินนมแม่ได้มากกว่าและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่าแม่ที่ไม่เคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1 แล้วการถ่ายทอดประสบการณ์หรือช่วยเหลือในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของยายให้แก่แม่ จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้นไหม คำตอบคือ การที่มียายที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของครอบครัวช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ย่อมเกิดประโยชน์และมีผลดีต่อการให้ลูกนมแม่แน่นอน แต่หากมีคำถามว่า ผลของปัจจัยไหนส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่ากัน มีการศึกษาถึงคำตอบนี้พบว่า ประสบการณ์ตรงที่เคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีอิทธิพลมากกว่าการถ่ายทอดประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากยาย ดังนั้น การใส่ใจสนับสนุนให้มารดาที่คลอดลูกคนแรกได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ จะมีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาท้องหลังได้
เอกสารอ้างอิง
Wagner S, Kersuzan C, Gojard S, et al. Breastfeeding initiation and duration in France: The importance of intergenerational and previous maternal breastfeeding experiences – results from the nationwide ELFE study. Midwifery 2019;69:67-75.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้ว่าการให้ลูกกินนมแม่จะเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นมาตรฐานปกติที่มารดาควรปฏิบัติในการให้อาหารทารกหลังคลอด แต่ในการที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น เมื่อมีการไปสัมภาษณ์มารดาถึงประสบการณ์ที่พบเป็นอุปสรรคหรือเป็นสิ่งที่จะขัดขวางความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า ความต้องการของทารกที่จะอยู่กับอกของมารดาอย่างต่อเนื่อง การที่ต้องอยู่กับทารกเนื่องจากไม่ต้องการให้ทารกอยู่คนเดียว อาการเจ็บหัวนมหรือเต้านม และความไม่มั่นใจว่าจะมีน้ำนมให้ทารกเพียงพอเป็นประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1 สำหรับประสบการณ์ที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่พบคือ การเห็นประโยชน์ของนมแม่ที่มีแก่ทารก ความสะดวกในการให้ลูกกินนมแม่ และมีความประหยัดหรือช่วยลดค่าใช้จ่าย ดังนั้น การเข้าใจถึงประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาทั้งในด้านที่เป็นอุปสรรคและด้านที่ช่วยส่งเสริม จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถที่จะให้คำปรึกษาและแนะนำให้มารดาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งก็คือ เน้นย้ำปัจจัยส่งเสริม ร่วมกับลดหรือช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคของปัจจัยที่ขัดขวางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
Rocha GP, Oliveira MDF, Avila LBB, Longo GZ, Cotta RMM, Araujo RMA. Conditioning factors for exclusive breastfeeding from the mother’s perspective. Cadernos De Saude Publica 2018;34.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เรื่องน้ำหนักเป็นเรื่องที่สตรีมักมีความวิตกกังวลรวมทั้งในสตรีที่ตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในระหว่างการตั้งครรภ์ จะเกิดความห่วงหรือกังวลเรื่องน้ำหนักที่จะคงค้างอยู่ในระยะหลังคลอดและในช่วงที่ให้นมลูก จริง ๆ แล้วการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้มารดามีน้ำหนักลดลงเร็วและกลับมามีน้ำหนักอยู่ในช่วงเดิมก่อนในระยะตั้งครรภ์ได้ดี แต่หากมารดาห่วงกังวลเรื่องน้ำหนักจนเกิดความเครียด หรือมีภาวะซึมเศร้า สิ่งเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อการให้นมบุตรของมารดาได้ 1 ดังนั้น การป้องกันหรือลดความเครียดในเรื่องเหล่านี้ บุคลากรทางการแพทย์ควรให้คำแนะนำและดูแลให้มารดามีน้ำหนักขึ้นอย่างเหมาะสมในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ และแนะนำให้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดพร้อมการดูแลอาหารมารดาอย่างเหมาะสม ก็จะช่วงป้องกันอุปสรรคอย่างหนึ่งที่เป็นผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Rodgers RF, O’Flynn JL, Bourdeau A, Zimmerman E. A biopsychosocial model of body image, disordered eating, and breastfeeding among postpartum women. Appetite 2018;126:163-8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้ว่าในปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของคนทั่วไปจะยาวนานขึ้น แต่มะเร็งนับเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต ด้วยความรู้และการศึกษาในปัจจุบัน มะเร็งบางชนิดสามารถป้องกันด้วยการเลือกการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันความเสี่ยง บางชนิดมีการตรวจคัดกรองที่จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ในระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็งหรือระยะที่เป็นมะเร็งในระยะแรก ซึ่งหากมีการป้องกันและคัดกรองที่เหมาะสม การเกิดของมะเร็งในรายใหม่น่าจะลดลง มีการศึกษาที่น่าสนใจในประเทศฝรั่งเศส โดยการเก็บจำนวนคนไข้รายใหม่ที่เป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่พบว่า การเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่รายใหม่พบมีอัตราการเกิดที่สูงขึ้น1 เมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถที่จะป้องกันการเกิดมะเร็งได้ด้วยการให้ลูกกินนมแม่ ซึ่งก็คือในคนไข้รายใหม่ที่เป็นมะเร็งเมื่อย้อนไปดูประวัติพบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำกว่าที่ควรเป็น ดังนั้น “ ชีวิตของมารดาควรจะยืนยาวขึ้นได้ หากให้ลูกได้กินนมแม่ ”
เอกสารอ้างอิง
Shield KD, Dossus L, Fournier A, et al. The impact of historical breastfeeding practices on the incidence of cancer in France in 2015. Cancer Cause Control 2018;29:325-32.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความมั่นใจว่าตนเองสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้นมีความสำคัญต่อการที่มารดาจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การสร้างให้มารดาเกิดความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาพบว่า การตั้งครรภ์ที่มีการวางแผน แนวทางการปฏิบัติดูแลมารดาในระหว่างการฝากครรภ์ การคลอดทางช่องคลอด การให้ลูกได้เริ่มกินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด มารดาที่มีเศรษฐานะดี และการที่มารดาไม่มีการใช้ยาเสพติด ปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา 1 บุคลากรทางการแพทย์ควรส่งเสริมปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการเหล่านี้เพื่อช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายของประเทศไทยและองค์การอนามัยโลกเพิ่มขึ้นได้
เอกสารอ้างอิง
Silva MDFS, Pereira LB, Ferreira TN, de Souza AAM. Breastfeeding self-efficacy and interrelated factors. Rev Rede Enferm Nord 2018;19.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)